เรื่องราวการตายของเสือโคร่งมลายูในสวนสัตว์บรองซ์ที่นครนิวยอร์กจากไวรัสโคโรนา สร้างความกังวลให้กับคนเลี้ยงสัตว์จำนวนไม่น้อย และทำให้เกิดคำถามว่า สัตว์เลี้ยงแสนรักสามารถเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโคโรนาได้หรือไม่
นักวิจัยจากศูนย์วิจัยสัตวแพทย์ศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีฮาร์บินของจีน พบว่า แมวเป็นสัตว์ที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และสามารถแพร่เชื้อไปยังแมวตัวอื่นได้ในการวิจัยครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยากมาก และถึงแม้พวกมันจะมีความสามารถในการเป็นพาหะนำเชื้อ องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ยังไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าสัตว์สามารถนำพาไวรัสมาสู่คน
แมวเป็นสัตว์ที่สามารถรับเชื้อไวรัสโคโรนาในสัตว์ตระกูลแมว (FCoV) ได้ ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในแมว มีสองรูปแบบ คือ ชนิดที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารแบบไม่รุนแรง และชนิดที่ทำให้เกิดโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Feline Infectious Peritonitis) ซึ่งมีอาการรุนแรงต่อชีวิต
ศาสตราจารย์กิลส์ กุยเยอแมง (Prof Gills Guillemin) ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมกควารี กล่าวว่า มีความแตกต่างอย่างชัดเจนของโครงสร้างทางพันธุกรรมไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดไวรัสโคโรนาในมนุษย์ และไวรัสโคโรนาในสัตว์ตระกูลแมว (FCoV)
“นี่หมายความว่า หากมีการวิจัยที่ถูกต้องในสัตว์ตระกูลแมว มันควรเป็นเรื่องง่ายที่เราจะแยกความแตกต่าง ระหว่างไวรัสทั้งสองชนิดนี้” ศาสตราจารย์กุยเยอแมงกล่าว
การทดสอบในสัตว์หลายพันตัว “มีผลเป็นลบ”
ก่อนที่ผู้คนจะเริ่มกังวลว่าแมวแสนรักอาจเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโคโรนามาสู่คน โอกาสในการแพร่เชื้อนั้นเกิดขึ้นต่ำมาก ศาสตราจารย์แจคกี นอร์ริส (Jacqui Norris) ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า สัตว์ที่มีผลตรวจหาไวรัส SARS-CoV-2 (โคโรนาไวรัสในมนุษย์) เป็นบวก ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสู่คน
“ทั่วโลก มีเพียงแมว 2 ตัว และสุนัข 2 ตัว ที่มีผลตรวจ SARS-CoV-2 เป็นบวก พวกมันอยู่ร่วมกับเจ้าของที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ช่วงเวลาในการพบผลตรวจเป็นบวกนั้น แสดงให้เห็นถึงการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่สัตว์ ขณะที่ผลตรวจตัวอย่างที่เก็บจากสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นบนจานเพาะเชื้อเป็นลบ นั่นหมายความว่า ไม่มีไวรัสที่มีชีวิตปรากฎอยู่” ศาสตราจารย์นอร์ริสกล่าว
ศาสตราจารย์นอร์ริส กล่าวอีกว่า ช้อมูลดังกล่าวเป็นการอ้างอิงจากการตรวจหาไวรัสโคโรนาของมนุษย์ในแมว สุนัข และม้า ที่ตรวจหาโดย IDEXX Laboratories ห้องปฏิบัติการสัญชาติในสหรัฐ ฯ ในพื้นที่ 19 แห่งของทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)
แต่มีสัตว์บางชนิดเสี่ยงติดเชื้อง่ายกว่าชนิดอื่น
ศาสตราจารย์กุยเยอแมง จากมหาวิทยาลัยแมกควารี กล่าวว่า การสัมผัสเชื้อ COVID-19 ของสัตว์ชนิดต่าง ๆ เกิดขึ้นแบบเดียวกับในมนุษย์ แต่การกระจายตัวของเชื้อในตัวสุนัข หมู เป็ด และไก่นั้น เกิดขึ้นอย่างเชื่องช้า ขณะที่ในสัตว์บางชนิดนั้นได้รับผลที่รุนแรง
“พังพอนเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งพวกมันแสดงให้เห็นว่า การทดลองประสิทธิภาพของวัคซีนในสัตว์มีความเหมาะสม” ศาสตราจารย์กุยเยอแมงกล่าว
มีห้องปฏิบัติการหลายแห่งเริ่มใช้พังพอนเป็นสัตว์ทดลองในการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 พวกมันยังถูกใช้เป็นแบบทดลองในการศึกษาโรคไข้หวัดใหญ่ด้วย
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์กุยเยอแมง กล่าวอีกว่า ไวรัสโคโรนามีโอกาสในการกลายพันธุ์สูง และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการกลายพันธุ์ในสัตว์ ที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโนเวลโคโรนาไวรัสได้อีกครั้ง
เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ขึ้นอีก ศาสตราจารย์กุยเยอแมง กล่าวว่า มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นเรื่องที่ผู้คนต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง
“มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมนั้นรวมถึงสมาชิกในบ้านทุกคน บุคคลอื่น ๆ และสัตว์เลี้ยงด้วย แม้จะไม่มีหลักฐานใดที่ชี้ว่ามีความเป็นไปได้ของการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน การแยกตัวคุณจากครอบครัวเป็นมาตรการที่มีความเหมาะสม” ศาสตราจารย์กุยเยอแมงกล่าว
“หากมีคนในบ้านเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนา พวกเขาจะต้องถูกแยกตัวออกจากสมาชิกในบ้านทุกคน รวมถึงสัตว์เลี้ยงด้วย”
ประชาชนในออสเตรเลียจะต้องรักษาระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตรจากผู้อื่น และจำกัดการรวมกลุ่มให้เหลือเพียง 2 คนเว้นแต่ว่าคุณจะอาศัยอยู่กับสมาชิกครอบครัว และผู้คนภายในบ้าน
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
มาตรการผ่อนปรนค่าเช่าสำหรับธุรกิจที่เผชิญพิษโควิด-19