ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แต่สภาองค์กรธุรกิจขนาดเล็กแห่งออสเตรเลีย (Council of Small Business Organisations of Australia – COSBOA) คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ว่างงานน่าจะเกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาส่งผลให้บรรดาธุรกิจที่ไม่มีความจำเป็นต่างๆ ถูกสั่งให้ปิดตัวลง
“อนาคตของเขาจะเป็นอย่างไร ต้องดูกันเดือนต่อเดือนไปอีก 6 เดือนเลยงั้นหรือ? มันคงไม่สนุกนักหรอก มันคงจะห่อเหี่ยวและน่าวิตกกังวลอย่างมากที่ต้องเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าพวกเขา แต่พวกเขาก็จำเป็นต้องทำ ที่มากพอๆ กับความวิตก คือความรู้สึกที่ไม่อาจทราบได้ว่าธุรกิจของพวกเขาจะดำเนินไปในหนทางใด พวกเขาจำเป็นต้องตัดสินใจ หวังว่าจะไม่ใช่เชื้อโควิด-19 ที่ตัดสินใจแทนพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการปิดกิจการลงชั่วคราว ปิดกิจการถาวร เปลี่ยนตัวสินค้าใหม่ หรือเปิดกิจการต่อไปหากพวกเขายังอยู่ในจุดที่สามารถทำได้” นายปีเตอร์ สตรอง หัวหน้า สภาองค์กรธุรกิจขนาดเล็กแห่งออสเตรเลียกล่าว
คุณอินดิกา ลิยาเนจ เจ้าของร้านไอศกรีมขายดี นามว่า Ciao Gelato ซึ่งตั้งอยู่ในย่านนันดาห์ เขตพื้นที่ชั้นในของนครบริสเบน โดยธุรกิจของเขานั้นขายไอศกรีมที่เรียกว่า “Fit-Lato” หรือไอศกรีมแบบไขมันต่ำสำหรับส่งขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ หลังเริ่มธุรกิจไปได้ 4 ปี คุณลิยาเนจตัดสินใจขยายกิจการโดยการซื้อบริษัท Shlix Gelato ซึ่งเป็นโรงงานผู้ผลิตของเขา แค่ไม่นานก่อนจะมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา
“แน่นอนมันมีผลกระทบ มันคือความเสี่ยงอย่างมากในการซื้อกิจการนั้น แล้วเราซื้อมันช่วงกลางเดือนธันวาคม เราซื้อกิจการนั้นโดยใช้นายทุนเช่นกัน เพราะฉะนั้นมันเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ในการลงทุน แต่เราก็ทำ และเราไม่ได้คาดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย”
คุณลิยาเนจ มีแผนธุรกิจ 6 เดือน เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับกิจการทั้ง 3 กิจการของเขา โดยการขายไอศกรีมที่หน้าร้านนั้น สูญเสียรายได้ไปกว่าครึ่งแค่ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนร้านอาหารที่เพิ่งซื้อกิจการมาใหม่รายได้ลดลงไปถึง 2 ใน 3 ส่วน ในตอนนี้คุณลิยาเนจได้ปรับโมเดลธุรกิจของเขาไปอย่างฉับพลัน โดยเขาเปลี่ยนจากร้านอาหารและร้านกาแฟ เป็นการขายแบบซื้อกลับไปทานที่บ้านและบริการส่งอาหารตามบ้านเท่านั้น
“ผลกระทบจากรายได้นั้นค่อนข้างหนักกับเรา และ Fit-Lato เป็นแบรนด์ที่เล็กกว่ามาก ดังนั้นถ้ามันไม่สามารถพาเราผ่านสถานการณ์ขณะนี้ไปได้ เราอาจจะต้องตัดชั่วโมงการทำงานของพนักงานแคชวลลง”
ด้านนายปีเตอร์ สตรอง เชื่อว่าเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กต้องการมาตรการขั้นเด็ดขาดในท้ายที่สุด เพื่อพาตนอยู่รอดต่อไปได้
“เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมาก ไม่อยากไล่พนักงานของตนออก พวกเขาไม่ชอบที่จะทำแบบนั้น แต่พวกเขากำลังจำเป็นต้องทำ ถ้าพวกเขามองไปในอนาคตแล้วพบว่ามันไม่มีงานเข้ามาเพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจ ต่อตัวเอง และต่อครอบครัวของพวกเขา พวกเขาจำเป็นต้องตัดลูกจ้างออก และช่วยให้เหล่าลูกจ้างเข้าถึงสวัสดิการช่วยเหลือต่างๆ และช่วยให้พวกเขาได้รับเงินให้เร็วที่สุด มันไม่ใช่ข้อสรุปที่ยอดเยี่ยมนักแต่มันเป็นข้อสรุปที่ดีกว่า ดีกว่าที่เจ้าของธุรกิจจะยังคงเปิดกิจการต่อไปนานเกินจน ตนและครอบครัวต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไป”
นายจอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลัง เตือนว่า “ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง (Economic Shock)” จะดำเนินต่อไปอย่าง “ลึกขึ้น กว้างขึ้น และนานมากขึ้น” กว่าที่คาดไว้ โดยรัฐบาลสหพันธรัฐได้ออกกลุ่มมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกี่ยวกับเงินหมุนเวียนในธุรกิจและลูกจ้างที่ถูกลดรายได้ลง
โดยธุรกิจราว 690,000 แห่ง ที่มียอดขายประจำปีไม่เกิน 50 ล้านเหรียญ จะได้รับเงินช่วยเหลือแบบปลอดภาษี ตั้งแต่ 20,000 – 100,000 เหรียญ เพื่อรักษาลูกจ้างของพวกเขาไว้
เงินเบี้ยเลี้ยง ‘Job Keeper Allowance’ เงินชดเชยค่าจ้าง 1,500 เหรียญต่อ 2 สัปดาห์จะจ่ายให้แก่นายจ้างที่สูญเสียรายได้ของธุรกิจอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อจ่ายให้กับลูกจ้างที่ทำงานฟูลไทม์ ลูกจ้างพาร์ท ไทม์ ผู้ประกอบกิจการเจ้าของคนเดียว และลูกจ้างแคชวล ที่ทำงานกับธุรกิจของนายจ้างมานานกว่า 12 เดือน
จะมีการเรียกสมาชิกรัฐสภาสหพันธรัฐให้กลับมาประชุมกันเพื่อผ่านร่างกฎหมายสำหรับมาตรการนี้ ซึ่งหลังจากได้รับการอนุมัติแล้ว จะสามารถจ่ายเงินชดเชยค่าจ้างนี้ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป แต่จะจ่ายให้ย้อนหลังตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมนายไมเคิล โครเกอร์ หัวหน้าด้านภาษีออสเตรเลีย จาก ชาร์เตอร์ แอคเคาแทนส์ ออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ (Chartered Accountants Australia and New Zealand) แนะนำว่าเจ้าของธุรกิจควรหาว่าพวกเขามีสิทธิ์อะไรบ้าง ภายใต้โครงการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาลสหพันธรัฐและรัฐบาลของรัฐและมณฑลที่พวกเขาอยู่
Source: Getty Images
“มีมาตรการจูงใจสำหรับธุรกิจที่แตกต่างกันไป เช่น ถ้าคุณจ้างผู้ฝึกงาน (apprentices) มันมีโปรแกรมที่จะช่วยเหลือต้นทุนด้านค่าจ้างสำหรับผู้ฝึกงาน หรือคุณอาจจะมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มุ่งเป้าไปยังธุรกิจที่จ้างงานประชาชน เพราะฉะนั้นให้ดูว่าคุณเป็นนายจ้างหรือเป็นธุรกิจประเภทไหน แล้วไปคุยกับนักบัญชีของคุณ เพื่อยื่นเอกสารที่จำเป็นต่างๆ เพื่อให้คุณมีสิทธิ์จะรับเงินสดช่วยเหลือ จากรัฐบาลสหพันธรัฐ”
สำหรับในสถานการณ์นี้ ที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นวิกฤตที่เคยเกิดขึ้น “ครั้งเดียวในรอบ 100 ปี” ธนาคารชาติของออสเตรเลีย ได้ลดอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์เหลือเพียง 0.25 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ธนาคารต่างๆ ยังเลื่อนการชำระเงินกู้ยืมทั้งหมดให้ถึง 6 เดือน สำหรับธุรกิจขนาดเล็กเพื่อให้พวกเขาสามารถเดินต่อไปได้
นายปีเตอร์ สตรอง แนะนำว่า สำหรับเจ้าของธุรกิจที่ประสบกับความยากลำบากในการชำระเงินค่าเช่า ให้ลองเจรจากับเจ้าของที่เพื่อหาหนทางแก้ปัญหา
“ถ้าเจ้าของห้างร้านให้เช่าของคุณ เป็นบริษัทรายใหญ่ และคุณมีปัญหากับพวกเขา เราแนะนำให้คุณไปคุยกับกรรมการธิการด้านธุรกิจขนาดเล็ก หรือ Small Business Commissioner ของรัฐที่คุณอยู่ โดยกรรมการธิการที่ว่านี้มีอยู่ในรัฐวิกตอเรีย เซาท์ออสเตรเลีย เวสเทิร์นออสเตรเลีย และนิวเซาท์เวลส์ และถ้าคุณไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือเหล่านั้น คุณสามารถไปคุยกับสำนักงานของคุณเคท คาร์เนล (Kate Carnell) นั่นคือสำนักงานรับเรื่องร้องทุกข์สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและกิจการครอบครัวแห่งออสเตรเลีย (Australian Small Business and Family Enterprise Ombusman - ASBFEO)”
รัฐและมณฑลต่างๆ จะเตรียมการระงับการห้ามขับไล่ผู้เช่าบ้านและห้างร้าน ที่ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าตามสัญญาได้
โดยนายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน ขอร้องให้เจ้าของบ้านและห้างร้านให้เช่าพูดคุยปัญหานี้กับผู้เช่าของตน
“พวกเราอยากเห็นคุณนั่งลงพูดคุยกันและหาทางออก มีธุรกิจมากมายที่อาจมีรายได้ลดลงอย่างมาก พวกเราต้องการให้ผู้คนนั่งลงด้วยกันและหาทางออกเรื่องนี้”
ธุรกิจที่สนใจลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยลูกจ้าง (JobKeeper Scheme) สามารถแจ้งความสนใจได้กับกรมสรรพากรของออสเตรเลีย หรือเอทีโอ
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจ
ผู้เชี่ยวชาญบอกยังเร็วไม่พอ แม้กราฟจำนวนผู้ติดเชื้อในออสเตรเลียจะชันน้อยลง