จากการสำรวจพบว่า ในจำนวนคนออสเตรเลีย 25 คน จะมี 1 คนที่อาจเกิดความรู้สึกไม่ลงรอยกับครอบครัวของพวกเขาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิต ซึ่งความรู้สึกนี้เป็นประสบการณ์ที่ยากลำบากและบ่อยครั้งที่พวกเขาต้องเก็บไว้เป็นความลับ
จากผลการวิจัยของ ดร. เคลี อักลีแอส นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล พบว่า ความรู้สึกบาดหมางใจกับสมาชิกในครอบครัวนั้นเป็นประสบการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป อย่างไรก็ตามหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข ความบาดหมางในครอบครัวอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์เครือญาติจากรุ่นสู่รุ่นได้
วิธีบรรเทาความขัดแย้งในวันคริสต์มาส
คุณ เจน เฟอร์กูสัน นักจิตวิทยาอาวุโสและผู้ช่วยผู้จัดการขององค์กร Relationships Australia Victoria เผยว่าช่วงเวลาเทศกาลอย่างเช่น วันคริสต์มาสอาจทำให้การจัดการกับความขัดแย้งภายในครอบครัวทำได้ยากมากขึ้น เธอกล่าวว่า
“คุณอาจจะหลีกเลี่ยงไม่พบเจอกับคนที่คุณไม่ชอบในช่วงเวลาอื่นๆ ตลอดทั้งปีได้ แต่ในวันคริสต์มาสมันก็เป็นเรื่องยากที่คุณจะไม่เจอกับสมาชิกในครอบครัวที่คุณมีความขัดแย้งด้วย”
แต่คุณ เจน เฟอร์กูสัน มีคำแนะนำในเรื่องนี้ว่า
ข้อ 1 คุณเลือกที่จะไปหรือไม่ไปได้
วิธีนี้ถึงแม้ว่ามันจะดูโจ่งแจ้งไปสักหน่อย แต่คุณสามารถเลือกที่จะไม่ไปร่วมงานวันคริสต์มาสได้ ถ้าคุณรู้สึกไม่อยากไป คุณ เจน เฟอร์กูสัน อธิบายว่า
“ถ้าปัญหาที่เกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งในระดับที่รุนแรงและมันจะทำให้คุณรู้สึกวิตกกังวลและเครียดมากล่ะก็ ในบางครั้งคุณก็สามารถเลือกที่จะไม่ไปงานวันคริสต์มาสได้”
เพราะว่าชีวิตจริงนั้นไม่เหมือนกับในภาพยนตร์ ที่บ่อยครั้งจะฉายภาพว่าวันคริสต์มาสคือวันที่ทุกคนมาเฉลิมฉลองกันพร้อมหน้าและเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสุข คุณ เจน เฟอร์กูสัน ชี้ว่า
“ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีครอบครัวเหมือนที่เห็นในภาพยนตร์ แต่ก็ไม่เป็นไรหรอก เรื่องสำคัญคือผู้คนต้องรู้ว่าพวกเขามีทางเลือก มันเป็นเรื่องของการตัดสินใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการทำลายวันคริสต์มาสของคนอื่นๆ เราเลือกที่จะไม่เอาเรื่องขัดแย้งไปอยู่ในเวลาและสถานที่ที่มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการปะทุได้ง่ายหรือเป็นช่วงเวลาอันตรายแก่สมาชิกอื่นๆ ในครอบครัว” คุณ เจน เฟอร์กูสัน เปิดเผย
ข้อที่ 2 เปิดเผยความรู้สึกของคุณ
ถ้าคุณตัดสินใจที่จะไปร่วมงาน มันก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะต้องบอกกล่าวให้กับสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ให้รับรู้ถึงความรู้สึกของคุณก่อนวันงาน เพื่อที่จะดูว่ามีใครที่พร้อมจะช่วยเหลือหรือเป็นคนที่คุณสามารถคุยด้วยในวันนั้น คุณ เจน เฟอร์กูสัน กล่าวว่า
“บอกกล่าวกับคนที่ไปงานวันนั้นด้วย ว่าคุณรู้สึกวิตกอย่างไร และทำไมถึงทำให้คุณรู้สึกเช่นนั้น และวิธีที่คุณคิดว่าจะจัดการกับอารมณ์ตนเองในสถานการณ์วันนั้น”
“หาคนที่คุณเชื่อว่าจะช่วยเหลือคุณได้ในวันนั้น แต่ไม่ใช่ขอให้พวกเขาไปทะเลาะหรือรับหน้าแทนคุณ เพราะว่าวันนั้นคุณจะไม่ก่อเหตุ มันเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ แต่คุณควรคุยกับคนอื่นๆ แทน” คุณ เจน เฟอร์กูสัน ย้ำ
ข้อ 3 อย่าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ปกติแล้วการดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งง่ายขึ้น คุณ เจน เฟอร์กูสัน ชี้ว่า
“ ถ้าคุณรู้สึกวิตกกังวลกับการที่ต้องไปพบเจอกับคนบางคน หรือคุณเป็นกังวลว่าคุณจะพูดคุยกับเขาอย่างไร คุณควรต้องระมัดระวังในเรื่องปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานการณ์แบบนี้สามารถทำให้คนขาดความยับยั้งชั่งใจ และอาจจะทำให้พวกเขาพูดในสิ่งที่ทำให้เสียใจภายหลังออกมา ซึ่งอาจทำให้ความขัดแย้งยิ่งเพิ่มมากขึ้นได้”
ข้อ 4 กำหนดขอบเขต
คุณ เจน เฟอร์กูสัน แนะนำว่า ถ้าคุณตัดสินใจไปร่วมงาน คุณควรร่างแผนการไว้คร่าวๆ ว่าอะไรที่คุณอาจจะทำและอาจจะไม่ทำในวันนั้น คุณจะพูดคุยหรือพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดคุยกับพวกเขา เธอเผยว่า
“จริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่ไม่ผิดหากคุณจะหลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว ถ้ามันดูไม่โจ่งแจ้งหรือดูเจตนาเกินไปนัก คุณควรจะจบการสนทนาใดๆ ก็ตามที่อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้ง คุณอาจจะพูดว่า “ไม่ใช่วันที่จะพูดเรื่องนี้ ฉันยินดีที่จะคุยเรื่องนี้วันหลัง บางทีเราน่าจะนัดเวลามาคุยกันหลังจากวันนี้ เป็นต้น”
คุณ เจน เฟอร์กูสัน ชี้ว่า
“คุณควรมีกำหนดเวลาว่าคุณจะอยู่ในงานนานเท่าใดเพื่อช่วยลดความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้นในวันนั้น ที่สุดแล้วสิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือเราเป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำของตัวเราเอง แต่เราไม่สามารถควบคุมการกระทำของผู้อื่นได้ ดังนั้นควรจะมุ่งไปที่การกระทำของตัวเราเป็นสำคัญ” คุณ เจน เฟอร์กูสัน สรุป
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจ
เจ้าหน้าที่ดับเพลิงอาสา 2 คนเสียชีวิตในไฟป่า