เปิดโปงขบวนการจ่ายเงินซื้อพีอาร์

ตม.ออสฯ ร่วมตำรวจสหพันธรัฐ เปิดโปงขบวนการ 'จ่ายเงินซื้อพีอาร์' พบตั้งเป็นธุรกิจรับ นศ. ต่างชาติฝึกงาน บีบให้จ่ายแลกผ่านประเมินจนได้พีอาร์ จนท.เตือนจับได้วีซ่าขาด-ถูกแบน

NSW Skilled Nominated visa

Source: Getty Images

มีผู้ขอวีซ่าจำนวนหนึ่งหลายรายได้รับการปฏิเสธ และถูกแบนไม่ให้ยื่นขอวีซ่าเป็นเวลา 3 ปี หลังถูกจับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ ‘จ่ายเงินซื้อพีอาร์’ ที่ใช้ช่องทางในโครงการ Job Ready Program โดยนายจ้างที่ร่วมโครงการสามารถเปิดรับผู้สมัครเข้ารับประสบการณ์ทำงาน ผู้เข้ารับการฝึกจะได้รับการประเมิน ซึ่งหากผ่านประเมินผ่านในขั้นตอนสุดท้ายก็จะสามารถได้รับวีซ่าซึ่งมีสถานะประชากรถาวร (PR) 

แทนที่จะได้รับค่าจ้างตอบแทนจากการทำงาน ผู้สมัครบางส่วนกลับจ่ายเงินให้นายจ้างเหล่านั้น เพื่อประกันว่าตนจะผ่านการประเมินทักษะ และได้รับสถานะประชากรถาวรในออสเตรเลีย

การสืบสวนโดยกองกำลังพิทักษ์พรมแดนออสเตรเลีย (Australian Border Force) ร่วมกับตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลีย (Australian Federal Police) ได้เฝ้าจับตาธุรกิจซ่อมบำรุงยานยนต์แห่งหนึ่งในเมืองแดนดีนอง (Dandenong) ทางตะวันออกเฉียงใต้จากนครเมลเบิร์น ธุรกิจแห่งนี้เข้าร่วมโครงการ Job Ready Program โดยเจ้าหน้าที่พบจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการน้อยกว่าปกติ และประตูหน้าอาคารที่มักถูกปิดไว้จนกระทั่งเวลาเที่ยงวันติดกันระหว่าง 1-2 วัน

ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายค้น ซึ่งต่อมาได้พบผู้สมัครฝึกประสบการณ์ทำงานต้องจ่ายเงินให้กับธุรกิจดังกล่าวเป็นจำนวนหลายพันดอลลาร์ เพื่อให้ได้เข้าร่วมโครงการ รวมถึงต้องจ่ายเงินเดือนให้ตัวเอง ก่อนที่นายจ้างจะโอนค่าจ้างที่ต้องการจ่ายให้ทางบัญชีธนาคาร

เจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์พรมแดนออสเตรเลียสามารถตรวจยึดเอกสารที่มีลายเซ็นจำนวนมาก ในตัวเอกสารระบุว่าเป็น ‘ข้อตกลงการจ่ายเงิน’ สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการหลายคน ขณะที่กระทรวงมหาดไทยออสเตรเลียระบุว่า เอกสารเหล่านี้ปรากฏอย่างบิดเบือนในรูปแบบของ ‘สัญญาซื้อขาย’ สำหรับผลิตภัณฑ์ยานยนต์ เนื่องจากไม่พบรายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับทะเบียนรถ แต่เป็นสัญญาสำหรับผู้เข้าร่วมที่ตกลงจะจ่ายเงินให้กับนายจ้างเพื่อแลกกับการผ่านประเมิน นอกจากนี้ สัญญาบางฉบับยังมีการระบุอักษรย่อว่า JRP ซึ่งทำให้ทางกระทรวงมหาดไทยเชื่อว่า หมายถึงโครงการ Job Ready Program

จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่กองกำลังพิทักษ์พรมแดนพบผู้ที่ไม่ใช่พลเมืองออสเตรเลียเดินทางเข้าออกสถานที่ดังกล่าวบ่อยครั้ง บางส่วนถือเงินสดเป็นจำนวนหนึ่ง มีผู้ที่เคยเข้าร่วมฝึกประสบการณ์ทำงานกับธุรกิจนี้บอกกับเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนว่า พวกเขาต้องจ่ายเงินให้ธุรกิจแห่งนี้เป็นเงินสดรายเดือน ส่วนค่าจ้างนั้นพวกเขาต้องจ่ายให้ตัวเอง

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยออสเตรเลียระบุว่า ข้อมูลจากสเตทเม้นต์ธนาคารของธุรกิจแห่งนี้ แสดงให้เห็นการฝากเงินสดเป็นจำนวนหลายครั้งที่มักจะเกิดขึ้น 1 วัน ก่อนที่จะมีการจ่ายค่าจ้าง

กองกำลังพิทักษ์พรมแดนออสเตรเลียกล่าวว่า ความพยายามในการหาประโยชน์ผ่านโครงการวีซ่าสำหรับแรงงานมีทักษะของออสเตรเลีย เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

“การที่ผู้คนร้องขอ ได้รับ ยื่นข้อเสนอ หรือมอบผลประโยชน์ เพื่อแลกกับการได้รับวีซ่านั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนั่นรวมไปถึงวีซ่าทำงานแบบมีสปอนเซอร์ชั่วคราว (temporary work sponsored visa) และวีซ่าแรงงานมีทักษะถาวรแบบนายจ้างเสนอชื่อ (permanent skilled employer nominated visa)” โฆษกกองกำลังพิทักษ์พรมแดนออสเตรเลียกล่าวกับ เอสบีเอส ภาคภาษาปัญจาบ 

โฆษกกองกำลังพิทักษ์พรมแดนออสเตรเลียยังกล่าวอีกว่า มีการเปิดเผยรายชื่อของนายจ้างที่ละเมิดข้อตกลงการสปอนเซอร์ลูกจ้างสู่สาธารณะ 

“การเปิดเผยรายชื่อต่อสาธารณะนั้น ก็เพื่อที่จะยับยั้งไม่ให้สปอนเซอร์รายอื่นละเมิดข้อตกลง และปกป้องลูกจ้างต่างชาติจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ด้วยการทำให้พวกเขารู้ว่า อาจกำลังทำงานอยู่กับสปอนเซอร์ที่เคยละเมิดข้อตกลงมาก่อน” โฆษกกองกำลังพิทักษ์พรมแดนออสเตรเลียกล่าว

นายจูจฮา บาจวา (Jujhar Bajwa) ตัวแทนด้านการอพยพย้ายถิ่นในนครเมลเบิร์น กล่าวว่า หลังการสืบสวนดังกล่าว มีผู้สมัครวีซ่าบางส่วนได้รับหมายเตือนจากกระทรวงมหาดไทยออสเตรเลีย

“มันเกิดขึ้นเพราะว่านายจ้างบางคนเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างที่มีความหวังจะได้เป็นประชากรถาวร” นายบาจวากล่าว 

“มันเป็นเรื่องเก่าที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงปี 2008-2009 มีผู้สมัครวีซ่านับพันคนพบว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์เดียวกันนี้ หลังจากผู้รับเหมาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยถูกพบว่ามีความผิด หลังสร้างโครงการรับฝึกงานปลอม แต่คำถามที่รัฐบาลต้องตอบ นั่นก็คือ เพราะเหตุใดจึงปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำซาก”

เมื่อปี 2011 นายคามินี อามารันเต (Carmine Amarante) ถูกตัดสินให้รับโทษจำคุก หลังจัดตั้งขบวนการปลอมแปลงจดหมายรับรองประสบการณ์ทำงาน เพื่อช่วยให้นักศึกษาต่างชาติได้รับสถานะประชากรถาวร เขายอมรับว่าได้ปลอมเอกสาร 777 ฉบับ และจ่ายเงินให้กับลูกจ้างของนักศึกษาเหล่านั้น

"คุณอาจคิดว่าคนที่ทำแบบนี้จะหนีรอดไปได้ แต่คุณไม่มีทางรู้ว่ากฎหมายจะไล่ตามถึงตัวเมื่อไหร่" นายบาจวากล่าว

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 19 December 2019 2:23pm
Updated 20 December 2019 12:24pm
By Shamsher Kainth
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS Punjabi

Share this with family and friends