Explainer

ซิลิโคสิส มัจจุราชเงียบบนเคาน์เตอร์หินมันวาว

พื้นผิวหินเทียมที่ใช้บนเคาน์เตอร์ในห้องครัวทั่วออสเตรเลีย มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะโรคปอดที่รักษาไม่หายที่เรียกว่า ‘ซิลิโคซิส (Silicosis)’ ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

A man cuts granite

Silicosis is commonly diagnosed after inhaling a dust mineral commonly found in certain types of rocks used to create kitchen benchtops. Source: Getty / Bill Oxford

ประเด็นสำคัญในข่าว
  • ซิลิโคสิส (Silicosis) คือภาวะโรคปอดที่มีลักษณะคล้ายกับโรคปอดใยหิน ซึ่งกำลังสร้างความกังวลให้กับผู้คนในออสเตรเลีย
  • อันตรายจากซิลิโคซิสได้ทำให้มีการเรียกร้องให้แบนการใช้หินเทียมซึ่งมีการพบว่าใช้ซิลิกา (Silica) เป็นส่วนประกอบ
  • นี่คือสิ่งที่เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันเกี่ยวกับโรคซิลิโคสิส อันตรายที่อาจเกิดขึ้น และวิธีสังเกตว่าคุณมีความเสี่ยงต่อโรคนี้หรือไม่
ภาวะโรคปอดที่รักษาไม่หายซึ่งเชื่อมโยงกับวัสดุประเภทหินเทียมที่ใช้สำหรับการผลิตพื้นผิวบนเคาน์เตอร์ในห้องครัวทั่วไป ได้เพิ่มความกังวลในเรื่องความปลอดภัยสำหรับแรงงานที่ผลิตท็อปครัวหิน และผู้อยู่อาศัยภายในบ้านของออสเตรเลีย

ภาวะโรคปอดดังกล่าวที่เรียกว่า ‘ซิลิโคสิส (Silicosis)’ หรือโรคปอดฝุ่นหินทราย ได้ทำให้รัฐมนตรีในระดับรัฐ มณฑล และในระดับสหพันธรัฐ หารือเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงความเป็นไปได้ในการแบนท็อปเคาน์เตอร์ในห้องครัวที่ทำขึ้นจากหินเทียม

ความกังวลดังกล่าวเกิดขึ้น สืบเนื่องจาก เกี่ยวกับอันตรายของภาวะซิลิโคสิสที่เกิดขึ้นจากผู้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับท็อปเคาน์เตอร์ห้องครัว

โทนี เบิร์ก (Tony Burke) รัฐมนตรีด้านการจ้างงานและสถานประกอบการสัมพันธ์ออสเตรเลีย ได้เตือนในสัปดาห์นี้ว่า “จำเป็นต้องมีการตอบสนองในระดับชาติ” ต่อภาวะซิลิโคสิส ขณะที่มีการเน้นความสนใจเกี่ยวกับอันตรายของมันมากขึ้น

“ผมได้พบกับคนงานที่ได้รับบาดเจ็บ มันชัดเจนว่าเราต้องทำอะไรมากกว่านี้โดยด่วน” รัฐมนตรีเบิร์ก กล่าว

นี่คือสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับภาวะซิลิโคสิส และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

ซิลิโคสิสคืออะไร และอะไรคือหินเทียม

ซิลิโคสิส (Silicosis) คือโรคปอดที่ส่วนใหญ่เกิดจากการสูดหายใจเอาซิลิกา (Silica) ซึ่งเป็นแร่ที่พบได้ทั่วไปในหินหรือดินบางประเภทเข้าไปในปอด ฝุ่นผงจากซิลิกานั้นเกิดขึ้นจากการตัด การเจาะ การเจียร และการขัดเงาหิน ทราย และดินเหนียวบางชนิด เมื่อระยะเวลาผ่านไปการหายใจเอาฝุ่นผงเหล่านี้เข้าไปจะทำให้เกิดการอักเสบ เกิดแผลในเนื้อเยื่อปอด และทำให้ปอดแน่นขึ้นจนหายใจลำบาก

ส่วนหินเทียม (Engineered stone) เป็นหินบดละเอียดที่ผสมกับเรซินเพื่อทำให้เป็นแผ่นที่มีลักษณะคล้ายหินธรรมชาต เช่น หินอ่อนหรือหินแกรนิต โดยหินเทียมนั้นอาจมีส่วนผสมของซิลิกามากถึงร้อยละ 95

ไซมอน โบวเลอร์ (Dr Simon Bowler) แพทย์ระบบทางเดินหายใจจากฌโรงพยาบาล Brisbane’s Mater Hospital ได้แสดงความกังวลก่อนหน้านี้เกี่ยวกับสิ่งที่แพทย์จีพีหลายคนกล่าวกันแล้วว่าเป็นการแพร่ระบาดด้านสุขภาพ

“ซิลิโคสิส มีความคล้ายคลึงกับโรคปอดใยหินในหลาย ๆ ด้าน” แพทย์โบวเลอร์ กล่าว

“มันรวมตัวกับออกซิเจนและน้ำภายในปอดเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นกรด และทำให้เกิดการอักเสบในระดับสูง ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่เราเคยเห็น ผู้คนจะได้รับความเสียหายต่อปอดอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ปี"

หากเป็นการอยู่อาศัยตามปกติ ผู้อาศัยภายในบ้านไม่สามารถสูดเอาฝุ่นผงจากหินเทียมบนพื้นผิวเคาน์เตอร์เข้าสู่ปอดได้

แต่หากมันถูกตัดโดยคนทำงานก่อสร้าง เมื่อนั้นฝุ่นผงจากหินเทียมจะถูกสูดเข้าไปในปอดได้ และจะเป็นอันตราย ผู้ตัดหินจะต้องตัดมันขณะยังเปียกอยู่เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดเอาฝุ่นหินเข้าไป และควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน แต่การป้องกันเหล่านั้นอาจไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา

‘แร่ใยหินแห่งคริสต์ทศวรรษ 2020’

สหภาพแรงงานก่อสร้าง ป่าไม้ การเดินเรือ เหมืองแร่ และพลังงานของออสเตรเลีย (The Construction Forestry Maritime Mining Energy Union) ขู่ว่าจะแบนสมาชิกของสหภาพ ฯ จากการทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับหินเทียมภายในกลางปีหน้า จนกว่าการนำเข้าและการผลิตหินเทียมจะยุติลง

“ทีนี่ในออสเตรเลีย เราต้องการกำจัดผลิตภัณฑ์นี้ให้หมดไป แซค สมิธ (Zach Smith) หนึ่งในคณะทำงานของสหภาพ ฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในนครเมลเบิร์น เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 ก.พ.)
แร่ใยหิน (asbestos) ได้ถูกแบน 70 ปีหลังอันตรายของวัสดุดังกล่าวเป็นที่รับรู้ และคุณสมิธจากสหภาพ ฯ ได้กล่าวว่าฝุ่นผงจากซิลิกา “คือแร่ใยหินแห่งคริสต์ทศวรรษที่ 2020”

เคท โคล (Kate Cole) นักชีวอนามัย กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าสามารถใช้วัสดุดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย แม้จะมีมาตรการในการลดผลกระทบ เช่น การใช้หน้ากาก

“ในภาคส่วนช่างหินมีปัญหาเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด” คุณโคล นักชีวอนามัย กล่าว

วอเรน แฮร์เร็กซ์ (Dr Warren Harrex) แพทย์ด้านอาชีวและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า พบจำนวนผู้มีภาวะซิลิโคสิสเพิ่มขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบคุณภาพอากาศในสถานที่ทำงานที่มีฝุ่นมาก

“การสัมผัสฝุ่นละอองในหมู่คนทำงานอาจไม่ปรากฏชัดจนกว่าพวกเขาจะเกษียณ พร้อมกับภาวะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังซึ่งมีส่วนสร้างภาระในภาคใช้จ่ายด้านสาธารสุข” แพทย์แฮร์เร็กซ์ กล่าว

ภาพรวมของภาวะซิลิโคซิสในออสเตรเลียนั้นยังคงไม่ทราบแน่ชัด แต่จำนวนผู้ที่มีภาวะดังกล่าวกำลังเพิ่มขึ้น มีมากกว่า 600 คนในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ควีนส์แลนด์ และรัฐวิกตอเรีย ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะดังกล่าวซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

หนึ่งในนั้นคือ โจแอนนา แม็กนีลล์ (Joanna McNeill) เจ้าหน้าที่ธุรการและคุณแม่ลูกสอง เธอบอกว่า ก่อนหน้านี้เธอรู้สึกว่าสุขภาพแข็งแรงเมื่อไปรับการตรวจสุขภาพตามกิจวัตรก่อนที่ช่วงลาคลอดบุตรจะหมดลง จึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เมื่อเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตและรักษาไม่หาย

ก่อนหน้านี้ เธอทำงานในสำนักงานเคลื่อนที่ในเหมืองหินแห่งหนึ่งเป็นเวลา 4 ปี และได้หายใจนำฝุ่นผงซิลิกาเข้าไปเพียงพอที่จะสร้างความเสียหายให้กับร่างกายของเธอ ตอนนี้ชีวิตเธอคือการต่อสู้อย่างต่อเนื่องกับความเจ็บปวดและการล้มป่วย

“มันเป็นเรื่องยากจริง ๆ กับการเป็นแม่ที่เลี้ยงลูกสาวสองคน” เธอกล่าวไปพร้อมกับปาดน้ำตา

“ฉันอยากอยู่ตรงนั้นเพื่อพวกเธอสองคน เพราะฉันไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร”

ทำไมจำนวนผู้ป่วยซิลิโคสิสจึงเพิ่มขึ้น

พื้นผิวเคาน์เตอร์ในห้องครัวที่ทำจากหินเทียมมีความอันตรายอย่างยิ่ง มีช่างหินประมาณ 1 ใน 4 ที่ทำงานกับวัสดุเหล่านี้มีภาวะซิลิโคสิส แต่จำนวนผู้ที่มีภาวะดังกล่าวเพิ่งจะเพิ่มขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ และคาดว่าส่วนมากเกิดขึ้น และคาดว่าส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเติบโตของที่อยู่อาศัย อันนำไปสู่ความต้องการวัสดุหินเทียมสำหรับพื้นผิวเคาน์เตอร์ในห้องครัว ห้องน้ำ และห้องซักรีดเป็นจำนวนมาก

วัสดุนี้เป็นที่นิยมเนื่องจากราคาถูกกว่าหินธรรมชาติหรือวัสดุทดแทนอื่น ๆ เช่น ไม้แปรรูปหรือกระเบื้องเคลือบ แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะซิลิโคซิสเพิ่มขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมาก็ตาม

นอกจากนี้ การสัมผัสจากการเจาะอุโมงค์และการสร้างถนน ยังอาจเป็นส่วนที่ทำให้จำนวนผู้ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาในอุตสาหกรรมเหมือง

มีอาการอะไรที่สังเกตได้บ้าง

อาการต่อไปนี้คือสิ่งที่ควรสังเกตและระมัดระวัง ได้แก่
  • หายใจสั้น
  • ไอแห้ง หรือไอมีเสมหะ
  • หายใจมีเสียงหวีดหวือ
  • รู้สึกเหนื่อยง่าย
  • เจ็บหน้าอก
  • น้ำหนักลด

มีกฎระเบียบอะไรบ้างที่ปกป้องคนทำงาน

ไคล์ กูดวิน (Kyle Goodwin) ช่างหินคนหนึ่ง ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะซิลิโคสิสในวัย 33 ปีพอดี หลังทำงานตัดหินเทียมสำหรับพื้นผิวเคาน์เตอร์เป็นเวลาหลายปี เขาเป็นตัวแทนของโฆษณาของทางสหภาพแรงงาน ฯ ขณะที่มีการพยายามผลักดันมากขึ้นให้มีการแบนวัสดุหินเทียมนี้

“โชคร้ายที่ผมและเพื่อนได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะนี้ และเราได้เป็นหนูทดลองให้กับผลิตภัณฑ์นี้โดยแท้” เขากล่าว

“อย่าให้การตายของผมและเพื่อนของผมต้องสูญเปล่า มาสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่ากันเถอะ”
Man in suit speaks.
ไคล์ กูดวิน (Kyle Goodwin) อดีตช่างหินที่มีภาวะซิลิโคสิส อยู่ในแคมเปญรณรงค์ให้มีการแบนหินสังเคราะห์ที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะทางสุขภาพดังกล่าว Source: AAP / Diego Fedele
ทั้งนี้ รัฐควีนส์แลนด์มีกฎระเบียบที่เข้มงวดที่สุดในการทำงานกับหินเทียม มีการห้ามตัด ห้ามเจียร รวมถึงห้ามขัดเงาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแบบไม่ใช้น้ำ

รัฐและมณฑลส่วนใหญ่ในออสเตรเลียก็ห้ามการตัดแบบไม่ใช้น้ำด้วยเช่นกัน แต่ว่าสหภาพแรงงานกำลังผลักดันให้มีการห้ามไม่ให้ทำงานกับหินเทียมเหล่านี้โดยสิ้นเชิง

สหภาพแรงงานก่อสร้าง ป่าไม้ การเดินเรือ เหมืองแร่ และพลังงานของออสเตรเลีย (The Construction Forestry Maritime Mining Energy Union) ขู่ว่าจะแบนสมาชิกของสหภาพ ฯ จากการทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับหินเทียมภายในกลางปีหน้า จนกว่าการนำเข้าและการผลิตหินเทียมจะยุติลง

มีรายงานเพิ่มเติมจากเอเอพี


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 23 February 2023 7:01pm
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS, AAP


Share this with family and friends