แมนดีป เคาร์ (Mandeep Kaur) วัย 24 ปี เผชิญความท้าทายต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก และมุ่งมั่นที่จะเป็นช่างก่ออิฐ ที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิ
หนึ่งในความท้าทายเหล่านั้นคือ การทำให้คนอื่นรวมทั้งตัวเธอเองด้วย เชื่อมั่นว่า เธอมีความสามารถเพียงพอที่จะก้าวเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่มักมีแต่ผู้ชายทำงานด้านนี้ได้
“ฉันมักได้ยินว่า นี่ไม่ใช่อาชีพสำหรับผู้หญิง หรือมันเป็นงานที่ต้องใช้กำลังกายอย่างมากและฉันไม่แข็งแรงพอที่จะทำงานสายช่างได้ คำพูดทำนองนี้เคยทำให้ฉันไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง” แมนดีป กล่าวกับ เอสบีเอส ภาษาปัญจาบ
“มันไม่ง่ายเลยที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะพยายามก้าวเข้าไปทำงานในสายช่าง ที่มีแต่ผู้ชายทำงานด้านนี้ แต่ตัวฉันนี่ไง ที่เป็นเรื่องพิสูจน์ว่า เป็นไปได้ ซึ่งทำให้ฉันรู้สึกอิ่มเอมใจอย่างมากที่สามารถทำในสิ่งที่คนอื่นบอกว่า ฉันทำไม่ได้” แมนดีป เสริม
แมนดีป เคาร์ เปลี่ยนสายอาชีพมาทำงานช่างก่ออิฐ หลังพบความยากลำบากในการหางานช่วงวิกฤตโควิด Source: Supplied by Melbourne Polytechnic
จากไอทีสู่งานก่อสร้าง
แมนดีป มาออสเตรเลียในฐานะนักเรียนต่างชาติจากอินเดีย ในปี 2018
เธอมีปริญญาตรีด้านไอที จากอินเดีย และได้เลือกเรียนในหลักสูตรขั้นสูงในสายไอทีเช่นเดียวกันในเมลเบิร์น
“ฉันไม่เคยคิดเลยว่าฉันจะต้องเปลี่ยนสายอาชีพไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ไม่มีโอกาสมากมายนักที่จะได้งานตามบริษัทต่างๆ” แมนดีป กล่าว
เพราะสถานการณ์บีบบังคับและความไม่แน่นอนด้านการเงิน แมนดีป เคาร์ จึงได้ตัดสินใจหันไปหางานในสายอาชีพอื่น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับเป้าหมายอาชีพที่เธอมีก่อนหน้านี้ โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากสายไอที ไปสู่สายงานก่ออิฐ
แมนดีป กล่าวว่า สามีของเพื่อนคนหนึ่งเป็นช่างก่ออิฐ ซึ่งเขาเป็นผู้ที่กระตุ้นให้เธอลงเรียนในหลักสูตรการก่ออิฐ
“ฉันรู้มาว่า ช่างก่อสร้างต่างๆ มักไม่ค่อยตกงาน ดังนั้น เมื่อได้แรงกระตุ้นจากเพื่อนด้วย ฉันจึงตัดสินใจฉวยโอกาสที่ท้าทายนี้” แมนดีป กล่าว
ในที่สุด เธอได้ลงเรียนในหลักสูตร Certificate III in Bricklaying and Blocklaying ของสถาบัน Melbourne Polytechnic ในช่วงกลางปี 2020
แล้วเธอก็ต้องประหลาดจากมาก ที่เธอเป็นผู้หญิงคนเดียวที่เรียนในหลักสูตรนี้
แมนดีป กล่าวว่า จากการให้กำลังใจของครู ผู้ฝึก และเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ช่วยให้เธอได้ตระหนักว่า “นี่เป็นอีกงานหนึ่งที่ผู้หญิงก็สามารถทำได้”
“จากการสนับสนุนจากครูที่เทฟ (TAFE) และจากครอบครัวของฉัน ที่ผลักดันให้ฉันพยายามต่อไปและเสริมสร้างความเชื่อมั่นในใจของฉันว่า แม้จะเป็นผู้หญิง แต่ฉันก็สามารถทำงานนี้ได้”
ตัวอย่างที่ก้าวข้ามความท้าทาย
คุณไมเคิล มอร์ริสเซย์ ผู้บริหารสูงสุดของ Australian Brick and Blocklaying Training Foundation Ltd (ABBTF) ซึ่งเป็นมูลนิธิด้านการฝึกอบรมผู้ประกอบอาชีพช่างก่ออิฐแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า สำหรับผู้หญิงที่ทำงานสายอาชีพช่าง อาจเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างเหลือเชื่อ ที่จะต้องเอาชนะอคติที่มีต่อผู้หญิงในอุตสาหกรรมนี้
“มันเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจของเรา ที่จะสนับสนุนให้ผู้หญิงที่ก้าวเข้ามาในสายงานช่าง สามารถได้งานทำและมีโอกาสเช่นเดียวกับที่ผู้ชายในสายงานนี้มี” คุณ มอร์ริสเซย์ กล่าว
“แมนดีปมีส่วนช่วยปูทางสู่อนาคตให้มีผู้หญิงมากขึ้นทำงานในสายอาชีพช่างก่ออิฐ เธอเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ต้องการเข้ามาทำงานในอาชีพช่างต่างๆ” คุณ มอร์ริสเซย์ เสริม
แมนดีป เคาร์ ต้องเปลี่ยนเป้าหมายอาชีพจากงานไอที มาเป็นงานช่าง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 Source: Supplied by Melbourne Polytechnic
โชคดีที่ได้อยู่ในออสเตรเลีย
แมนดีปกล่าวว่า ถึงแม้เธอจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการทำงานในสายไอที แต่เธอรู้สึกโชคดีที่ได้มีโอกาสด้านการงานที่ดีไม่แพ้กันในออสเตรเลีย
“แน่นอนว่ามันเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ไม่มีอะไรที่น่าเคอะเขินเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่เป็นความสวยงามของประเทศนี้ ที่ผู้คนมองเห็นคุณค่าของคุณและงานที่คุณทำ”
“ฉันยังได้เห็นว่า ไม่ว่าคุณจะทำงานพนักงานตามออฟฟิศ หรือทำงานใช้แรงกาย คุณก็ได้รับความเคารพนับถืออย่างเท่าเทียมกัน” แมนดีป กล่าว
ชวนผู้หญิงมากขึ้นให้มาทำงานช่าง
หลังจากได้รับการจ้างงานในตำแหน่งช่างก่ออิฐ ที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิ ขณะนี้ แมนดีป เคาร์ ต้องการส่งเสริมให้มีผู้หญิงมากขึ้นเข้ามาทำงานในสายงานช่าง
“มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในด้านบทบาท ที่มักถูกกำหนดจากการเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงว่า บทบาทใดๆ ที่ผู้ชายทำได้ ผู้หญิงก็ทำได้เช่นกัน” แมนดีป กล่าว
“สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อคุณก้าวข้ามอุปสรรคในใจของคุณเอง ก้าวข้ามบรรทัดฐานทางสังคม และมุ่งมั่นที่จะทำงานที่ต้องใช้แรงกายในด้านงานช่าง” แมนดีป เคาร์ ช่างก่ออิฐหญิง วัย 24 ปีผู้นี้ กล่าว
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
โครงการช่วยหญิงผู้ย้ายถิ่นก้าวสู่งานช่าง
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
พอดคาสต์ ซีรีส์: My Journey