งานวิจัยล่าสุด จากความร่วมมือโดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย แสดงให้เห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปสถาบันให้บริการดูแล ขณะที่สหภาพวิชาชีพนี้เชื่อว่า พวกเขากำลังพบเจอกับอุปสรรค์ที่เพิ่มมากขึ้น
แคท ทุอารี (Cath Toari) ใช้เวลาเกือบ 20 ปี ในการให้การดูแลที่บ้านสำหรับผู้สูงอายุ
ขณะที่เธอกำลังสนุกกับการช่วยเหลือผู้สูงอายุ เธอบอกว่า อุตสาหกรรมของคนทำงานเป็นผู้ดูแลนั้น มีความเตรียมพร้อมและการสนับสนุนช่วยเหลือคนทำงานที่ย่ำแย่ ทั้งทางสภาพจิตใจและสภาพทางการเงิน ในสภาพงานที่ผันแปร ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในอาชีพนี้
“มันมีความท้าทายตลอดเวลา คุณสามารถเจอกับอะไรที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน คุณเข้ามาทำงาน และคุณก็ไม่รู้เลยว่าจะต้องพบเจอกับอะไร เนื่องจากสุขภาพที่เสื่อมโทรมของพวกเขา บางคนอาจเป็นลมชัก อะไรทำนองนี้” เธอกล่าว
มากไปกว่านั้น เธอยังกังวลถึงสภาพในการทำงานที่ผู้ให้บริการดูแลจะต้องพบเจอ ซึ่งนับวันก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้คาดคิด
เธอบอกว่า ความไม่สม่ำเสมอของชั่วโมงในการทำงานนั้น ทำให้คุณภาพของการบริการต่อคนไข้แต่ละคนนั้นลดลงไป
“มีความย่ำแย่อย่างมากเกิดขึ้นในแง่ของสภาพการทำงานในช่วงประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา เพราะก่อนหน้านี้ในอดีต งานผู้ให้การดูแลนั้นมีความมั่งคง ผู้คนกำหนดเวลาทำงานได้ และคนไข้แต่ละคนก็มีผู้ให้การดูแลประจำ มันเสื่อมถอยลงไปมาก เพราะคนทำงานเริ่มไม่มีความมั่นคง” เธอกล่าว
ข่าวคราวมากมายเกี่ยวกับความย่ำแย่ที่เกิดขึ้นในสถานให้การดูแลนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสถานสถาบันให้การดูแลนั้นถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นจนเป็นที่สนใจ หลังมีการไต่สวนหาความจริงสาธารณะโดยกรรมาธิการแห่งพระองค์ (Royal Commissions) ในกิจการดูแลผู้สูงอายุ (Aged Care) และการไต่สวนหาความจริงโดยสื่อมวลชนมากมายที่ตามมาหลังจากนั้น
งานวิจัยล่าสุด โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียนั้นได้เตือนว่า สภาพการทำงานที่ผู้ให้การดูแลแถวหน้าต้องพบเจอ อาจนำไปสู่ปัญหาได้
รายงานโดย Work and Family Policy Roundtable เครือข่ายองค์กรด้านครอบครัวและการทำงานหลายระดับที่มีผู้เชี่ยวชาญกว่า 32 คน จาก 17 มหาวิทยาลัย ต้องการที่จะเห็นการปฏิรูปของนโยบายแห่งชาติที่กำหนดเรื่องการทำงาน การดูแล และนโยบายด้านครอบครัว ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสหพันธรัฐ (Federal Election) ที่กำลังจะถึงในเร็วๆ นี้
ศาสตราจารย์อลิซาเบธ ฮิล (Elizabeth Hill) ผู้นำเครือข่ายดังกล่าว และภาคีจากมหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์ ระบุในรายงานที่พบความเชื่อมโยงที่น่าสนใจระหว่างสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ และการดูแลคนไข้ที่ลดคุณภาพลง
“เพื่อบริการที่มีคุณภาพในการให้การดูแล ทั้งการดูแลผู้สูงอายุ การดูแลเด็ก การดูแลผู้พิการ การวิจัยแสดงให้เห็นว่า มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีบุคลากรผู้ให้การดูแลที่มีคุณภาพ และมีความเชื่อมโยงอันเป็นบวกที่ชัดเจนระหว่างสภาพการทำงานที่เหมาะสมสำหรับผู้ให้บริการดูแลแถวหน้า และการให้การดูแลที่มีคุณภาพ” ศาสตราจารย์ฮีลกล่าว
ทั้งนี้ รายงานโดย Work and Family Policy Roundtable ยังแนะนำให้มีการปฏิรูปอีกหลานส่วน โดยรายงานฉบับนี้แนะนำถึงการอัดฉีดงบประมาณไปยังสถานรับดูแล ข้อกำหนดที่รัดกุมเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ให้การดูแลต้องทำงานมากจนเกินไป การกำหนดความไม่แน่นอนของลักษณะการทำงาน รวมถึงช่องว่างรายได้ระหว่างเพศที่ต้องมีความเท่าเทียม
เหล่านั้น คือการปฏิรูปที่สหภาพด้านการบริการออสเตรเลีย (Australia Services Union) เชื่อว่า ถึงเวลาที่ควรจะมีมาตั้งนานแล้ว
นางลิซา ดาร์มานิน (Lisa Darmanin) เลขาธิการสหภาพฯ ในรัฐวิกตอเรียและแทสเมเนีย กล่าวว่า สภาพการทำงานจะต้องได้รับการปรับปรุง โดยเฉพาะในการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ที่ทำงานให้การดูแลประเภทนี้
“การดูแลที่มีคุณภาพนั้นขึ้นอยู่กับค่าแรงที่มีคุณภาพ และสภาพของพนักงาน และนั่นหมายถึงงานที่ได้รับค่าตอบแทนสมเหตุสมผล ซึ่งเป็นที่ๆ บุคลากรรู้สึกว่าตนเองนั้นมีคุณค่า ที่ๆ พวกเขามีข้อตกลงและเงื่อนไขที่ดี ซึ่งตรงกันข้ามกับสภาพงานที่ไม่แน่นอนโดยสิ้นเชิง” นางดาร์มานินกล่าว
นอกจากนี้ นางดาร์มานินยังกล่าวอีกว่า ข้อผูกมัดมากมายที่มีต่อผู้หญิงที่ทำงานในภาคส่วนนี้ เป็นความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงของสภาพการทำงานที่มากที่สุด
“ผู้ที่เราเป็นตัวแทนในที่นี่ไม่ได้มาทำงานแค่เพียงเพื่อเงิน พวกเขาให้คำมั่นสูงสุดกับคนไข้ และพวกเขารู้สึกบอบช้ำกับสิ่งที่เกิดขึ้นระบบให้การดูแลในขณะนี้ แต่ถึงอย่างไร พวกเขาก็ต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เรามีคนทำงานที่ต้องเผชิญกับสภาวะอันเลวร้าย บางคนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องทำงานอื่นๆ อีก 2-3 อาชีพ เพื่อให้มีค่าใช้จ่ายที่เพียงพอ” นางดาร์มานินกล่าว
ในแถลงการณ์ระบุว่า คณะกรรมการการดูแลผู้สูงอายุแห่งชาติทุกภาคส่วนสนับสนุนการเรียนร้องโดยรายงานฉบับดังกล่าว ที่จะให้มีการลงทุนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุ เพราะไม่มีสถานให้บริการใดที่ไม่ได้รับแรงกดดันทางการเงิน และการใช้จ่ายงบประมาณสาธารณะในส่วนนี้ของออสเตรเลียนั้นก็ต่ำกว่ามาตรฐาน หากเทียบกับนานาประเทศ
แต่กำหรับอดีตผู้ให้การบริการที่บ้านสำหรับผู้สูงอายุอย่าง แคท ทุอารี นั้น ไม่เพียงแต่เธอต้องการที่จะเห็นสภาพการทำงานที่ดีขึ้น แต่เธอบอกว่า ออสเตรเลียควรเห็นค่ากับการให้บริการดูแลที่มากกว่านี้
“ฉันเพียงหวังว่า สังคมจะให้ค่ากับอุตสาหกรรมการดูแลมากขึ้นกว่านี้ มันเป็นอุตสาหกรรมที่ผู้คนไม่เห็นค่า คนที่ทำงานในวงการนี้ก็ถูกมองข้าม ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นทำสิ่งที่ไม่ได้รับอะไรตอบแทน และไม่มีใครรับรู้มันด้วยซ้ำ ถ้าสถานการณ์ยังย่ำแย่เช่นนี้ เราจะไม่มีทางเห็นบริการที่มีคุณภาพสูงได้”
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
Viva: ผู้สูงอายุมีเพศสัมพันธ์มากแค่ไหน?