อังกฤษเตือนคนแพ้อาหาร-ยา เลี่ยงฉีดวัคซีนโควิดของไฟเซอร์

สำนักงานอาหารและยาอังกฤษเตือน คนมีประวัติ 'แพ้ยา-อาหาร' เลี่ยงฉีดวัคซีนต้านโควิดของไฟเซอร์-ไบออนเทค ที่เพิ่งอนุมัติใช้ได้ไม่นาน หลังพบรายงานอาการแพ้รุนแรง

A nurse from the Belfast Trust Vaccine Team prepares to inject care home staff with the Pfizer/BioNtech COVID-19 vaccine

A nurse from the Belfast Trust Vaccine Team prepares to inject care home staff with the Pfizer/BioNtech COVID-19 vaccine Source: Press Association

องค์กรกำกับดูแลด้านอาหารและยาของอังกฤษได้เตือนประชาชนว่า  ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้โปรตีนแปลกปลอมอย่างรุนแรง (Anaphylaxis) ในอาหารหรือยา ไม่ควรรับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาโดยบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) ซึ่งเป็นการชี้แจงเพิ่มเติมต่อคำเตือนดังกล่าวที่ประกาศไปก่อนหน้านี้

ประเทศอังกฤษได้เริ่มต้นฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาให้กับประชาชน ตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (8 ธ.ค.) โดยเริ่มต้นจากเด็กและผู้สูงอายุเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันในระดับโลก ที่สร้างความท้าทายมากที่สุดครั้งหนึ่งในช่วงที่โลกไม่มีภัยจากสงคราม

หน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของอังกฤษ (MHRA) ระบุเมื่อวานนี้ (9 ธ.ค.) ว่าพบรายงาน 2 ฉบับ ที่เกี่ยวกับอาการแพ้โปรตีนแปลกปลอมรุนแรง และการแสดงอาการแพ้ต่อวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาดังกล่าว นับตั้งแต่วันแรกที่ได้มีการเปิดตัว

“ผู้ที่มีประวัติอาการแพ้อย่างรุนแรงต่อวัคซีน อาหาร และยา ไม่ควรรับวัคซีนต้านไวรัสโคโรหน้าของไฟเซอร์-ไบออนเทค” นางจูน เรน (June Raine) ประธานบริหารของ MHRA กล่าว 

“ผู้คนส่วนมากจะไม่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง และประโยชน์ของการปกป้องทุกคนจากเชื้อไวรัสโคโรนานั้น มีมากกว่าความเสี่ยงของวัคซีนต้านไวรัสชนิดนี้ คุณสามารถมั่นใจได้ว่า วัคซีนดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานที่เข้มงวด ในด้านความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพที่เชื่อถือได้ของ MHRA”

อาการภูมิแพ้โปรตีนแปลกปลอมชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่มากเกินไป ซึ่งบริการสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษ (NHS) ได้อธิบายว่า เป็นอาการที่มีความรุนแรงและอันตรายถึงชีวิต 

แนวทางเกี่ยวกับวัคซีนดังกล่าว ในฉบับที่มีความสมบูรณ์ขึ้น ที่ได้มีการทำให้กระจ่างว่า ความเสี่ยงหลักของวัคซีนชนิดนี้มาจากอาการภูมิแพ้โปรตีนแปลกปลอมชนิดรุนแรง ได้มีการเปิดเผย หลังการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ 

ขณะที่ MHRA ได้แนะนำในเบื้องต้น สำหรับผู้ที่มีประวัติของอาการแพ้ที่เด่นชัดว่า ให้หลีกเลี่ยงการรับวัคซีนดังกล่าว

ด้าน บริษัท ไฟเซอร์ และบริษัท ไบออนเทค ได้สนับสนุนการสอบสวนวัคซีนดังกล่าวโดย MHRA

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของอังกฤษ (MHRA) เป็นหน่วยงานแรกของโลกที่อนุมัติการใช้วัคซีนต้านไวรัสโคโรนา ที่พัฒนาโดยบริษัท ไฟเซอร์-ไบออนเทค ขณะที่องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ​ (FDA) และองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาวัคซีนต้านไวรัสของบริษัทดังกล่าว

ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการสหรัฐฯ ระบุเมื่อวานนี้ว่า ชาวอเมริกันที่มีอาการภูมิแพ้อย่างรุนแรงอาจไม่ใช่ผู้ทดลองรับวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์-ไบออนเทค จนกว่าจะมีความชัดเจน และความเข้าใจมากขึ้น

ด้านรัฐมนตรีสาธารณสุขของแคนาดา ระบุว่า จะมีการพิจารณาถึงรายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนต้านไวรัสดังกล่าว แต่ก็ได้ระบุว่าผลข้างเคียงนั้นเป็นเรื่องที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ และไม่มีความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงข้อมูลด้านความเสี่ยงและประโยชน์ของวัคซีนนี้

นางเรน ประธานบริหารของ MHRA กล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษว่า อาการแพ้ดังกล่าว ไม่ใช่ส่วนประกอบที่เกิดขึ้นในการทดลองทางคลินิกของวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาที่พัฒนาโดยไฟเซอร์

ไฟเซอร์ ระบุว่า ได้มีการคัดกรองผู้เข้าร่วมทดลองรับวัคซีน ที่มีประวัติเกี่ยวกับอาการแพ้อย่างรุนแรงต่อวัคซีนชนิดต่าง ๆ รวมถึงส่วนผสมที่ใช้ในการผลิตวัคซีน 

แต่อย่างไรก็ตาม มีการคาดว่าอาการแพ้ต่อวัคซีนของไฟเซอร์-ใบออนเทค อาจเกิดขึ้นจากส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตวัคซีนที่เรียกว่า โพลีเอธิลีน ไกลคอล (Polyethylene glycol) หรือ PEG ซึ่งช่วยรักษาความเสถียรของวัคซีน และไม่พบอยู่ในส่วนประกอบของวัคซีนชนิดอื่น 

ขณะที่องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ระบุว่า จะนำข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาดังกล่าว ไปประกอบการพิจารณาในการอนุมัติ ซึ่งรวมถึงข้อมูลจากนอกกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปด้วย


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 10 December 2020 5:44pm
Updated 10 December 2020 6:50pm
Presented by Tinrawat Banyat
Source: AFP, SBS


Share this with family and friends