หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลีย ขอให้ประชาชนระวังการหลอกลวง หลังได้รับรายงานเข้ามาหลายสิบกรณีเกี่ยวกับการเอาเชื้อไวรัสโคโรนามาอ้าง
เว็บไซต์ สแกมวอตช์ (Scamwatch ที่รับแจ้งเรื่องหลอกลวง) ของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าและผู้บริโภคออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission หรือ ACCC) ได้รับแจ้งถึง 45 รายงาน ที่กล่าวอ้างว่ามีการฉ้อโกง โดยอ้างเรื่องราวเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020
“น่าเศร้าที่ เหล่าสแกมเมอร์ (scammer) ใช้การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนามาหาผลประโยชน์และเล่นกับความรู้สึกกลัวของผู้บริโภคทั่วประเทศออสเตรเลีย” โฆษก ACCC กล่าว
“เหล่าสแกมเมอร์ใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการหลอกลวง เช่น การหลอกขายของที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโคโรนาผ่านทางช่องทางออนไลน์ และใช้อีเมลปลอม หรือข้อความทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวของบุคคลนั้นมา”
ในบรรดาการหลอกลวงที่มีรายงานเข้ามานั้น เป็นอีเมล์แอบอ้างการเรี่ยไรเงินบริจาคให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นโฆษณาของเว็บไซต์ขายของออนไลน์ที่อ้างตัวขายหน้ากากอนามัยราคาแพง และบรรดาข้อความทางโทรศัพท์มือถือที่แอบอ้างเป็นรัฐบาลออสเตรเลียแนะนำการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยวัตถุประสงค์แฝงเพื่อขโมยข้อมูลธนาคาร
โดยเว็บไซต์ที่เพิ่งถูกปิดไปล่าสุด อ้างว่าจะขายวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโคโรนา
ขณะที่ร้านค้าต่างๆ ในออสเตรเลียต้องพบกับปัญหาการขาดแคลนสินค้าหลายชนิด นั่นทำให้ประชาชนบางรายตัดสินใจซื้อสินค้าที่หมดไปจากหน้าร้าน ผ่านทางอินเตอร์เน็ต
โดย ACCC ขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวัง และบอกว่าหนทางที่ดีที่สุดที่จะตรวจสอบผู้ขายสินค้าตัวปลอมหรือเว็บไซต์ที่หลอกขายสินค้า คือการค้นหาการบอกเล่าประสบการณ์ของผู้บริโภคที่เคยใช้สินค้า หรือ รีวิว (reviews) ทางอินเตอร์เน็ตก่อนทำการสั่งซื้อ
“ให้ใช้ความระมัดระวังเมื่อเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ขอให้คุณชำระเงินผ่านทางช่องทางที่ไม่ปกติ เช่น การชำระเงินล่วงหน้าผ่านตั๋วเงินสด ผ่านการโอนเงินเข้าบัญชี การโอนเงินระหว่างประเทศ บัตรเติมเงิน หรือการจ่ายเงินผ่านสกุลเงินออนไลน์ อย่าง บิทคอยน์” โฆษก ACCC กล่าว
จากรายงานที่เกี่ยวข้องกันของ ACCC พบว่าชาวออสเตรเลียที่อายุต่ำกว่า 25 ปี สูญเงินกว่า 5 ล้านเหรียญให้กับการหลอกลวงในปี 2019 และรายงานที่ร้องเรียนเข้ามาจากกลุ่มคนในช่วงอายุดังกล่าวยังเพิ่มมากขึ้นเร็วกว่ากลุ่มผู้ที่อายุสูงกว่านั้นอีกด้วย
เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม คือแพลตฟอร์มที่มีผู้คนรายงานและความเสียหายเข้ามามากที่สุด แต่องค์การกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า คาดว่าจะได้เห็นการหลอกลวงมากขึ้นบนแพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่างสแนปแชท (Snapchat) หรือ ติ๊กต๊อก (TikTok)
สำหรับใครที่คิดว่าอาจจะตกเป็นเหยื่อของนักต้มตุ๋นหลอกลวง แนะนำให้ติดต่อกับสถาบันการเงินที่ใช้งาน และยังสามารถรายงานเข้ามาได้ที่เว็บไซต์ สแกมวอตช์ (Scamwatch) ของ ACCC
ถ้าคุณคิดว่าอาจจะติดเชื้อไวรัสโคโรนา อย่าเพิ่งไปหาหมอ แต่ให้โทรปรึกษาก่อน หรือติดต่อ National Coronavirus Health Information Hotline ที่เบอร์ 1800 020 080
ถ้ารู้สึกว่าหายใจลำบากหรือต้องการความความช่วยเหลือฉุกเฉิน โทร 000