ข้อมูลอัตราค่าจ้างล่าสุดของออสเตรเลียได้รับการขนานนามว่า “เป็นผลลัพธ์อันน่าสะพรึง” ซึ่งส่งสัญญาณว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซง หลังตัวเลขอัตราเติบโตค่าจ้างล่าสุดตามไม่ทันอัตราเงินเฟ้อ
ข้อมูลจากสำนักงานสถิตแห่งออสเตรเลีย (ABS) แสดงให้เห็นว่า
- ค่าจ้างในออสเตรเลียเติบโตร้อยละ 0.7 เมื่อไตรมาสเดือนมีนาคม และร้อยละ 2.4 สำหรับการเติบโตค่าจ้างตลอดปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถตามทันอัตราเงินเฟ้อในออสเตรเลียขณะนี้ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ในรอบปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนมีนาคม
- ส่วนค่าจ้างในภาคส่วนเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 และร้อยละ 0.6 สำหรับภาครัฐ
เกร็ก เจริโช (Greg Jericho) ผู้อำนวยการด้านตลาดแรงงานและนโยบายด้านงบประมาณ สถาบันศูนย์เพื่องานในอนาคตแห่งออสเตรเลีย ได้อธิบายถึงข้อมูลใหม่นี้ว่า “เป็นผลลัพธ์ที่น่าสะพรึงสำหรับคนทำงาน”
“ข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ค่าจ้างที่แท้จริงในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาลดลง 2.5%” คุณเจริโช กล่าว
“ผลลัพธ์ที่น่าสะพรึงสำหรับคนทำงานแสดงให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่ค่าจ้างจะไม่ได้สร้างแรงกดดันให้กับอัตราเงินเฟ้อ แต่คนทำงานก็ไม่ได้รับประโยชน์จากอัตราการว่างงานที่ลดน้อยลง”
“ตอนนี้ค่าจ้างที่แท้จริงน้อยกว่าที่เคยเป็นมาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งก่อน และโดยพื้นฐานแล้วไม่แตกต่างไปจากระดับที่เคยเป็นมาในการเลือกตั้งเดือนกันยายน 2013”
ความกดดันที่มีต่อค่าครองชีพยังคงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับชาวออสเตรเลียที่กำลังจะได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งรัฐบาลสหพันธรัฐที่จะมีขึ้นในวันเสาร์นี้ (21 พ.ค.)
แมตต์ กรัดนอฟ (Matt Grudnoff) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จากสถาบันออสเตรเลีย กล่าวว่า ตัวเลขดัชนีราคาค่าจ้างที่ได้มีการเปิดเผยออกมานั้น เป็นตัวแทนของค่าจ้างที่ลดต่ำเลวร้ายที่สุดในศรรตวรรษ
“ตัวเลขในวันนี้ได้ยืนยันว่าเป็นการลดลงของค่าจ้างที่เลวร้ายที่สุดในรอบศตวรรษ” คุณกรัดนอฟ กล่าว
“การเผยแพร่ดัชนีราคาค่าจ้างล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมาอัตราค่าจ้างที่แท้จริงลดลงไป 2.5%”
“สิ่งนี้เป็นตัวแทนของความเสียหายที่ใหญ่ที่สุดต่อค่าจ้างที่แท้จริงในออสเตรเลียนับแต่เริ่มบันทึกมา”
“หากดูตัวเลขดังกล่าวเป็นรายปี และรวมไปถึงการคาดการณ์ในการประมาณงบประมาณแผ่นดินสำหรับปีหน้า เราจะเห็นการลดลงของค่าจ้างที่แท้จริงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตั้งแต่ปี 2021 -2022 ซึ่งคาดว่าจะลดลงมา 3.5%”
นอกจากนี้ คุณกรันดอฟกล่าวอีกว่า ข้อมูลดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า “การแทรกแทรงจากรัฐบาลเป็นเรื่องที่จำเป็น”
ภาวะเงินเฟ้อ-ค่าจ้างแท้จริง ประเด็นใหญ่ในวาระเลือกตั้ง
แอนโทนี อัลบานิซี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลสหพันธรัฐ กล่าวว่าเขาไม่ประหลาดใจกับดัชนีราคาค่าจ้างที่ได้มีการเปิดเผยในวันนี้
“ส่วนใหญ่เป็นผลลัพธ์ในตอนท้ายที่เลี่ยงไม่ได้ของการตัดงบ การบริหารงานผิดพลาด การปล่อบปละละเลย และรัฐบาลที่ให้ความสำคัญแต่เพียงตนเอง” นายอัลบานิซี กล่าว
“ด้วยผลที่ตามมาในความเป็นจริงที่รับรู้ได้โดยชาวออสเตรเลียที่ทำงานอย่างหนัก เช่นเดียวกับข่าวในวันนี้ ค่าจ้างที่แท้จริงได้ถอยหลังกลับไปอีกครั้ง การลดลง 2.7% ผลกระทบนั่น สิ่งนี้คือการตัดลดค่าจ้างที่แท้จริงที่ใหญ่ที่สุดในรอบมากกว่า 20 ปี”
“ภายใต้รัฐบาลมอร์ริสัน ค่าจ้างที่แท้จริงกำลังร่วงดิ่ง ขณะที่ค่าครองชีพกำลังทะยานสูง”
“คนทำงานในออสเตรเลียกำลังต้องรับผลจากนโยบายที่ย่ำแย่ และความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ขณะที่นายมอร์ริสันบอกว่าเขาควรที่ได้รับรางวัลตอบแทนด้วยการอยู่ต่ออีก 3 ปี เพราะเขาเพิ่งจะเริ่มต้น”
สำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลียระบุว่า อัตราเติบโตค่าจ้างรายปีได้เคยเพิ่มขึ้นในรอบ 5 ไตรมาสที่ผ่านมา จากอัตราต่ำสุดที่ร้อยละ 1.4 เมื่อไตรมาสเดือนธันวาคม 2020
ทั้งนี้ ดัชนีราคาค่าจ้างรายไตรมาส (Quarterly Wage Price Index) ซึ่งวัดการเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างและเงินเดือนเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพหรือปริมาณงาน ซึ่งจุดประสงค์โดยส่วนใหญ่ของดัชนีดังกล่าว คือการวัดผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อที่มีต่ออัตราค่าจ้างและเงินเดือน และเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ใช้ในการประเมินนโยบายด้านการเงิน
นับตั้งแต่ธนาคารสำรองแห่งออสเตรเลียเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอย่างเป็นทางการขึ้นมาเป็นร้อยละ 0.35 ในเดือนพฤษภาคม จากอัตราต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.1 อัตราเงินเฟ้อและการเติบโตของค่าจ้างกลายเป็นประเด็นสำคัญในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งสหพันธรัฐในปีนี้
จอร์ช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลีย กล่าวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า อัตราการว่างงานของออสเตรเลียยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 4 แต่พรรคฝ่ายค้านระบุว่า อัตราการว่างงานนั้นไม่ได้บอกเรื่องราวทั้งหมด และ “อัตราค่าจ้างที่แท้จริง” ควรเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ
นายกรัดนอฟ กล่าวในเดือมเมษายนที่ผ่านมาว่า แม้ว่าอัตราการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ “จำนวนชั่วโมงงานทั้งหมดลดลง” และ “การจ้างงานไม่เต็มที่ยังคงมีนัยยะสำคัญมากกว่าการจ้างงาน”
แอนโทนี อัลบานิซี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลสหพันธรัฐ ได้รณรงค์ในเรื่องของการเพิ่มอัตราค่าจ้างที่แท้จริง โดยอ้างว่าภาวะเงินเฟ้อและอัตราค่าครองชีพสูงขึ้นไปสำหรับชาวออสเตรเลียที่ได้รับเงินเดือนน้อย
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในออสเตรเลียอยู่ที่ร้อยละ 5.1 และนายอัลบานิซี ต้องการที่จะเพิ่มค่าจ้างในจำนวนเดียวกัน ซึ่งเขากล่าวว่าเมื่อคิดออกมาแล้วจะอยู่ที่ประมาณ $1 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงสำหรับงานเงินเดือนน้อย
ขณะที่ สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ตราหน้านายอัลบานิซีว่า “เป็นคนเหลวไหล” เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา จากการที่เขาสนับสนุนให้ขึ้นค่าจ้าง ขณะที่วันเลือกตั้งรัฐบาลสหพันธรัฐกำลังใกล้เข้ามาทุกที เช่นเดียวกับความกดดันเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น นายมอร์ริสันกล่าวว่า เขาต้อนรับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
พรรคการเมืองเล็กๆ มีจุดยืนด้านนโยบายอย่างไร