ด้านดีและด้านมืดของการซื้อของออนไลน์

การซื้อของออนไลน์อาจสะดวกสบาย แต่ก็มีความเสี่ยง

การซื้อของออนไลน์อาจสะดวกสบาย แต่ก็มีความเสี่ยง Source: Moment RF / Oscar Wong/Getty Images

การช้อปปิ้งออนไลน์อาจให้ความสะดวกสะบายและให้ส่วนลดแก่ลูกค้า แต่มันก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ร้านขายของออนไลน์จะเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า และสแกมเมอร์สามารถใช้ประโยชน์จากการซื้อขายออนไลน์ได้ โดยการมุ่งเป้าไปที่ลูกค้าที่ประสบการณ์น้อย


กระแสการซื้อของออนไลน์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และดีดตัวขึ้นอีกหลังการล็อกดาวน์ จากการระบาดของโควิด-19

การวิจัยล่าสุดพบว่า ประชากรออสเตรเลีย 1 ใน 5 ซื้อของออนไลน์ การวิจัยอีกตัวหนึ่งพบว่าการซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตแบบออนไลน์เพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าในช่วงการระบาด

ด็อกเตอร์หลุยส์ กริมเมอร์ (Dr Louise Grimmer) นักวิจัยและอาจารย์สอนวิชาการตลาด ภาควิชาธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย (University of Tasmania) กล่าวว่า ก่อนวิกฤตโควิด ร้านค้ารายใหญ่มีการขายออนไลน์ที่ดีอยู่แล้ว วิกฤตโควิดบังคับให้ร้านค้าหลายร้านต้องมีหน้าร้านออนไลน์ หรือปรับปรุงแพลตฟอร์มและบริการทางดิจิทัล

“ก่อนการระบาด มีผู้บริโภคของออสเตรเลียซื้อของออนไลน์เพียง 40 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เราผ่านวิกฤตการระบาดมาแล้ว และหลายคนยังคงซื้อแบบออนไลน์ ตัวเลขเพิ่มขึ้นมาก ขณะนี้ผู้บริโภคประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ซื้อของออนไลน์เป็นประจำ”
ด็อกเตอร์กริมเมอร์อธิบายว่า ร้านค้าหลายร้านปรับปรุงเว็บไซต์เพื่อเสนอบริการออนไลน์และการจัดส่งที่ดีขึ้น ทั้งสิทธิประโยชน์และสิ่งล่อใจอื่นๆ เพื่อรักษาธุรกิจไว้

เธอกล่าวว่า ถึงแม้ว่าเว็บไซต์ขายปลีกออนไลน์มักช่วยลูกค้าประหยัดเงินด้วยการโฆษณาส่งเสริมการขาย แจกคูปองรางวัล การันตีคืนเงิน และข้อเสนอพิเศษต่างๆ ผู้บริโภคควรตระหนักว่าร้านเหล่านี้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลและติดตามข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ด้วย

“ทุกวันนี้ ร้านค้าส่วนมาก ร้านใหญ่ๆ หรือร้านเล็กๆ มีโปรแกรมรักษาความสัมพันธ์ (Loyalty program) โดยคุณให้ข้อมูลของคุณไป เช่น อีเมล และคุณอาจได้อะไรบางอย่างตอบแทน อาจเป็นส่วนลด อาจเป็นบัตรกำนัลเพื่อใช้ในภายหลัง แน่นอนว่ามีการติดตาม (Tracking) ว่าคุณทำอะไรบนเว็บไซต์ และคุณต้องให้ข้อมูลส่วนตัวบางอย่าง”
ภาพเงาแฮกเกอร์กำลังดึงข้อมูล
ภาพเงาแฮกเกอร์กำลังดึงข้อมูล Source: Getty / Getty Images
ฐานข้อมูลที่มีข้อมูลลูกค้านั้น ร้านค้าสามารถนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และยังสามารถเฝ้าดูหรือขายให้แก่ธุรกิจอื่น หากได้รับอนุญาตตามข้อตกลงของผู้ใช้

ข้อมูลเหล่านี้ดึงดูดอาชญากรทางไซเบอร์และแฮกเกอร์ (Hackers) ที่ต้องการใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง เนื่องจากข้อมูลส่วนตัวสามารถขายได้ในตลาดมืดเพื่อหากำไร

ความเสี่ยงอีกประการหนึ่งของการซื้อของออนไลน์คือร้านค้าปลอมที่ตั้งขึ้นโดยสแกมเมอร์ เพื่อขโมยเงินหรือตัวตน

รองประธานของคณะกรรมการการแข่งขันและผู้บริโภค เดเลีย ริกการ์ด (Delia Rickard) อธิบายว่า

“เดี๋ยวนี้สิ่งที่สแกมเมอร์ทำคือตั้งร้านปลอมขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางอินเตอร์เน็ตหรือที่พบได้บ่อยคือทางโซเชียลมีเดีย พวกเขาโฆษณาสินค้าที่มักจะมีราคาถูกมาก หรือมีผลประโยชน์ที่น่าทึ่ง ซึ่งดีเกินจริง”
คุณริกการ์ดกล่าวว่า หากเว็บไซต์ถามถึงการชำระเงินที่ผิดปกติ เช่น การโอนเงินผ่านธนาคาร จ่ายด้วยสกุลเงินดิจิทัล หรือบัตรกำนัล มีแนวโน้มว่าจะเป็นการฉ้อโกง

เธอเตือนอีกว่ามิจฉาชีพออนไลน์มักแอบอ้างเป็นหน่วยงานในออสเตรเลีย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
บ่อยครั้ง พวกเขาจะแสร้งทำเป็นบริษัทในออสเตรเลีย มีเลขประจำตัวเอบีเอ็น (ABN number) ของออสเตรเลีย ที่พวกเขาขโมยมา
คุณริกการ์ดเตือน
คุณริกการ์ดแนะนำให้นักช้อปออนไลน์ตรวจสอบเว็บไซต์ เพื่อศึกษากลโกงออนไลน์ รายงานการฉ้อโกงหรือขอความช่วยเหลือ

ข้อมูลออนไลน์ยังมีในหลายภาษา

“ในเว็บไซต์สแกมวอช เรามีสิ่งที่เรียกว่า สมุดบัญชีปกดำของการฉ้อโกง ที่ได้ถูกแปลไว้ในหลายภาษา”
แม่กุญแจบนแผงข้อมูล
แม่กุญแจบนแผงข้อมูล Credit: Getty Images
หากคุณถูกโกง คุณริกการ์ดแนะนำให้ติดต่อธนาคารของคุณทันที

เธอเสริมว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นทำให้การจัดส่งสินค้าล่าช้าลง ส่งผลให้เป็นการยากขึ้นที่ผู้บริโภคจะบอกได้ว่าถูกโกงหรือเป็นความล่าช้าจริงๆ “มันยากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะรู้ว่าคุณถูกโกงจากการซื้อของลดราคาออนไลน์หรือไม่ เพราะปัญหาการจัดส่ง นี่ยังคงหมายถึงว่าเราเริ่มคุ้นเคยกับหลายๆ สิ่งที่ใช้เวลานานกว่าเดิมในการได้รับของ และนั่นเป็นปัญหา เพราะยิ่งคุณรู้ว่าคุณถูกหลอกเร็วเท่าไหร่ และรีบบอกธนาคารของคุณ คุณจะสามารถปกป้องตัวคุณเองได้ดีขึ้น”

อย่างไรก็ตาม คุณริกการ์ดกล่าวว่า การฉ้อโกงทางออนไลน์หลายอย่างถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ อายุ ที่อยู่ และข้อมูลทีเป็นที่ต้องการคือใบขับขี่และหมายเลขหนังสือเดินทาง

กลโกงเหล่านี้มักใช้เพื่อขโมยข้อมูลที่ระบุตัวตน

ตัวหนังสือสแกมบนแลปทอป
ตัวหนังสือสแกมบนแลปทอป Source: Getty / Getty Images
คุณริกการ์ดเรียกร้องให้ผู้ที่ถูกหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ติดต่อสแกมวอชโดยเร็วที่สุด

คุณยังสามารถติดต่อทาง idcare.org หน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ช่วยต่อต้านการโจรกรรมข้อมูลระบุตัวตน

ด็อกเตอร์กริมเมอร์แนะนำให้นักช้อปออนไลน์ตรวจสอบเว็บไซต์ ก่อนที่จะชำระเงินหรือให้ข้อมูลส่วนตัว

“คุณสามารถดูได้จากเบราว์เซอร์ (Browser) ของคุณ ซึ่งมียูอาร์แอล (URL) ของร้าน ดูว่ามีรูปแม่กุญแจเล็กๆ หรือไม่ เพราะนั่นหมายความว่ามันเป็นเว็บที่ปลอดภัยที่คุณสามารถซื้อของได้ คุณยังสามารถค้นหาว่าเว็บนั้นเป็นเว็บที่มีชื่อเสียงหรือไม่ เป็นแหล่งที่ผู้คนซื้อของและมีประสบการณ์ที่ดีหรือไม่ และคุณสามารถดูได้จากการรีวิว (Review) และการให้คะแนน (Rating)”

ด็อกเตอร์กริมเมอร์แนะนำให้ผู้ที่ยังใหม่กับการซื้อของออนไลน์ปรึกษาครอบครัวหรือเพื่อนๆ เพื่อให้แน่ใจว่าแพลตฟอร์มร้านค้าที่เจอนั้นเชื่อถือได้

แม้ว่าจะไม่จำเป็นต้องติดต่อตำรวจ บางครั้งการทำสิ่งนั้นอาจช่วยได้ โดยเฉพาะหากสแกมเมอร์นั้นอยู่ในออสเตรเลีย

ณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share