ซุ้มประตูไทย แลนด์มาร์คใหม่แทนความภูมิใจของคนไทยในซิดนีย์

Thai-Town-Lunar-Gateway

ซุ้มประตูไทยที่ไทย ทาวน์ หรือชุมชนคนไทยในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียที่ติดตั้งเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2567

Thai Town Lunar Gateway แลนด์มาร์คใหม่ในย่านชุมชนคนไทยที่ติดตั้งโดยนครเทศบาลนครซิดนีย์ ให้ทุกคนได้ไปเช็คอินและถ่ายรูปกับซุ้มประตูไทยนี้ได้ที่ ไทย ทาวน์ ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้


สืบเนื่องจากการหายไปของสัญลักษณ์ป้ายไทย ทาวน์บนถนนแคมเบลล์ ในนครซิดนีย์ วันนี้ชุมชนไทยของเราได้ป้ายไทย ทาวน์ กลับคืนมา และยังมาพร้อมกับแคมเปญประจำปีใหม่จีนที่ทางสมาคมนักธุรกิจและชุมชนไทยทาวน์ซิดนีย์ (Thai Town Business and Thai Community Association) ได้ร่วมมือกับทางนครเทศบาลซิดนีย์และชุมชนต่าง ๆ ในเมืองภายในรัฐนิว เซาท์ เวลส์ในการติดตั้งซุ้มประตูภายใต้ธีม City Village เพื่อแสดงออกศิลปะวัฒนธรรมของชุมชนนั้น ๆ โดยจะติดตั้งไว้ให้ทุกคนได้ไปเยี่ยมชมและเช็คอินกันได้ตลอดเดือนกุมภาพันธ์นี้

วันนี้คุณธนาวรรณ (จอย) โรจนเวทย์ ประธานสมาคมสมาคมนักธุรกิจและชุมชนไทยทาวน์ซิดนีย์ (Thai Town Business and Thai Community Association) ได้มาเล่าถึงแคมเปญนี้ให้เราฟังกัน

เบื้องหลังของการตั้งซุ้มประตูที่ไทย ทาวน์

ซุ้มประตูไทยทาวน์หรือที่เรียกว่า Thai Town Lunar Gateway บนถนนแคมเบลล์นี้ เราได้มาจากการที่ทางเทศบาลนครซิดนีย์ได้ร่วมแคมเปญกับชุมชนต่าง ๆ ในนครเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและร่วมมือกันในช่วงปีใหม่จีน เพื่อเป็นแลนด์มาร์คให้ทุกคนได้ไปเยี่ยมชมความเป็นอักลักษณ์ของแต่ละชาติ โดยจะนำมาติดตั้งเพียงปีละครั้ง คือตลอดเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นช่วงปีใหม่จีนเท่านั้น

New-Thai-Town-Sign
ป้ายไทยทาวน์ใหม่บนถนนแคมป์เบลล์ เมืองซิดนีย์

กว่าจะได้ซุ้มประตูไทยและป้ายไทยทาวน์กลับมานั้น มีเรื่องราวอย่างไรบ้าง?

ไทยทาวน์ หรือย่านชุมชนคนไทยนั้นครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ถนนแคมเบลล์ที่ตัดกับเส้นถนนจอร์จ และถนนพิทท์ ซึ่งกว่า 90% ของธุรกิจและที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้นั้นเป็นของคนไทย

ทั้งร้านอาหารไทยและร้านค้าขายของชำหลาย ๆ ร้านที่ทำธุรกิจกันมายาวนานหลายสิบปี มีจุดเริ่มขึ้นด้วยการมาบุกเบิกครั้งแรกในย่านนี้ ซึ่งย่านไทย ทาวน์นี้เป็นทั้งย่านที่พักของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักเรียน หรือนักธุรกิจต่างก็ถูกดึงดูดมารวมกันไว้ที่นี่ ด้วยความที่เป็นย่านที่จับจ่ายใช้สอยได้ง่าย ไม่ว่าจะเดินไปไหนมาไหน ก็ได้ยินแต่เสียงภาษาไทยอยู่เสมอ

เมื่อช่วงปี 2016 ที่ในย่านนี้ได้มีการก่อสร้างแทรม จึงได้มีการเอาป้ายสัญลักษณ์ดั้งเดิมของไทย ทาวน์ออกชั่วคราว ซึ่งกลายเป็นว่าป้ายนั้นได้หายไปแบบไร้ร่องรอยตั้งแต่นั้นมายาวนานเกือบแปดปี

ชุมชนคนไทยนั้นต่างรู้สึกว่าสิ่งที่แสดงออกถึงความเป็นศูนย์รวมคนไทยและความภาคภูมิใจของเรานั้นมันขาดไป จึงทำให้เกิดการเรียกร้องจากสมาคมถึงทางเทศบาลนครซิดนีย์เพื่อขอให้กลับมาติดตั้งป้ายตลอดมา
คุณธนาวรรณ​ได้เล่าให้เราฟัง

จากการที่เราได้พาทางเทศบาลนครซิดนีย์มาเยี่ยมชมและสัมผัสถึงความเป็นเอกลักษณ์ของย่านนี้ เค้าจึงเห็นด้วยและตกลงทำป้ายใหม่มาให้มาทดแทนป้ายที่เคยหายไป

กว่าจะมาเป็นซุ้มประตูไทยนี้มีกระบวนการอย่างไรบ้าง?

ซุ้มประตูของทุกชุมชนเหล่านี้ได้รับการออกแบบโดยคนของเทศบาลฯ โดยเค้าได้ออกแบบมาให้เราดูจากการตีความเป็นไทยในมุมของเขา เราเองก็มองว่าการออกแบบของเค้าที่ทำมาเสนอก็แสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นไทยได้ตรงอย่างที่เราคิดไว้

ถึงแม้ว่าในครั้งนี้ เราจะยังไม่ได้มีศิลปินไทยมาร่วมออกแบบกัน แต่เราจะเดินหน้ากับโปรเจ็คใหม่ภายในปีนี้ที่เราหวังว่าจะได้ให้ศิลปินไทยหลาย ๆ คนที่อยู่อาศัยภายในออสเตรเลียได้แสดงออกและมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นในกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้น

thai-town-lunar-gateway-2
ซุ้มประตูไทยทาวน์หรือ The Town Lunar Gateway ที่ติดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่จีน โดยเป็นการร่วมมือกันกับทางนครเทศบาลซิดนีย์ภายใต้ธีม City Village กับหลากหลายชุมชนทั่วรัฐนิว เซาท์ เวลส์

มีอะไรให้พวกเราได้ติดตามชุมชนคนไทยในออสเตรเลียอีกบ้าง?

ทางชุมชนคนไทยและสมาคมนั้นมีโครงการที่อยากจะได้ร่วมมือกับศิลปินไทยหลาย ๆ คนในออสเตรเลียให้มาออกแบบศิลปะบนฝาผนังในตรอกซอกซอยต่าง ๆ ในย่านไทย ทาวน์เพราะเราอยากให้มีอะไรที่แสดงถึงศิลปะวัฒนธรรมไทยมากขึ้น

ส่วนในเมืองอื่นนั้น ทางสมาคมเองก็คิดว่าไม่ใช่เพียงแค่ซิดนีย์เท่านั้นที่มีคนไทยอาศัยอยู่เยอะ เพราะเมลเบิร์นก็เป็นอีกเมืองใหญ่ที่คนไทยย้ายถิ่นไปใช้ชีวิตกันมาก ซึ่งเราเองก็หวังอยากได้มีโอกาสจัดกิจกรรมแบบนี้ที่แสดงถึงความเป็นไทยในเมืองอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

สำหรับใครที่อยากติดตามกิจกรรมหรือข่าวสารของชุมชนคนไทยในออสเตรเลีย สามารถอัพเดตข้อมูลกิจกรรมได้ทางเว็บไซต์ของ

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 
 
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share