วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการข่มเหงหรือทารุณผู้สูงอายุทั่วโลก (World Elder Abuse Awareness Day) ในออสเตรเลีย คาดว่ามีพลเมืองผู้สูงอายุ 1 ใน 10 ที่กำลังถูกข่มเหงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง การข่มเหงผู้สูงอายุมีลักษณะอย่างไร เราช่วยกันป้องกันและขจัดปัญหานี้ได้อย่างไร
กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน
รายงานโดยสถาบันการศึกษาวิจัยด้านครอบครัวแห่งออสเตรเลีย เผยว่า การข่มเหงผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ก่อเหตุ โดยลูกที่เป็นผู้ใหญ่มักเป็นผู้ที่ข่มเหงพ่อแม่ของตน
ดร.เคย์ แพตเทอสัน กรรมธิการด้านการเลือกปฏิบัติเพราะอายุ กล่าวว่า การข่มเหงหรือทารุณนั้นเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ
“การข่มเหงผู้สูงอายุอาจเป็นการข่มเหงทางร่างกาย จิตใจ และการเงิน นอกจากนี้ น่าเศร้าที่อาจเป็นการข่มเหงทางเพศ หรือการทอดทิ้ง และขณะนี้เรายังรู้ว่ามีผู้สูงอายุที่ถูกขโมยยารักษาโรคไป หรือมีการกักยาไว้ไม่ให้พวกเขาได้รับยานั้น การข่มเหงผู้สูงอายุจึงเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ” ดร.แพตเทอสัน อธิบาย
คุณรัสเซล เวสตาคอตต์ ผู้บริหารของบริหารสิทธิผู้สูงอายุแห่งนิวเซาท์เวลส์ (Senior Rights Service of New South Wales) กล่าวเรื่องนี้ว่า
“เมื่อไม่มีการศึกษาด้านความชุกของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่นักวิจัยทางสังคมส่วนใหญ่ระบุว่า การข่มเหงทารุณผู้สูงอายุอาจเกิดขึ้นราวเกือบร้อยละ 10” คุณเวสตาคอตต์ กล่าว
การข่มเหงทางการเงินดูเหมือนจะเป็นรูปแบบของการข่มเหงผู้สูงอายุที่พบบ่อยที่สุด และบ่อยครั้งเกิดขึ้นควบคู่กับการข่มเหงทางจิตใจ
คุณเวสตาคอตต์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ซับซ้อน
“มันอาจเป็นข้อตกลงกันในครอบครัว เช่น ทำไมแม่ไม่ย้ายมาอยู่ในห้องชั้นล่างที่บ้านของเรา ขายบ้านตัวเองเสีย แล้วมาช่วยจ่ายค่าผ่อนบ้านให้เรา และเราจะดูแลแม่เอง จากนั้น 3-6 เดือนต่อมา ความสัมพันธ์เริ่มย่ำแย่ พวกเขาก็ขอให้แม่ย้ายออกไป และข้อตกลงนั้นก็เป็นเพียงวาจา ไม่มีอะไรเป็นลายลักษ์อักษร” คุณเวสตาคอตต์ ยกตัวอย่าง
เขากล่าวต่อไปว่า เมื่อใดที่มีการตกลงใดๆ ในครอบครัวเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือธุรกรรมทางการเงิน เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมลายเซ็น แม้ว่าครอบครัวจะตัดสินใจไม่ใช้ทนายความมาช่วยดำเนินการก็ตามคุณอาลี เฟรนช์ ทนายความอาสา ที่ทำงานร่วมกับทีมดูแลด้านการข่มเหงทางการเงิน ที่ศูนย์กฎหมายชุมชน เรดเฟิร์น ลีกัล เซนเตอร์ (Redfern Legal Centre) ในซิดนีย์ กล่าวว่า บ่อยครั้งที่ผู้คนมักไม่ตระหนักว่าพวกเขากำลังตกเป็นเหยื่อของการข่มเหงทางการเงิน
การข่มเหงทางการเงินดูเหมือนจะเป็นรูปแบบของการข่มเหงผู้สูงอายุที่พบบ่อยที่สุด Source: Public Domain
“ผู้ใช้บริการด้านการข่มเหงทางการเงินของเรา บ่อยครั้งมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่พวกเขาไว้ใจมานานหลายปี คุณไม่คิดว่าคนที่คุณรักและเอาใจใส่ และคนที่รักและเอาใจใส่คุณ จะข่มเหงคุณทางการเงินและควบคุมจนถึงขนาดที่คุณไม่มีเงินเลย”
“ฉันคิดว่าการเพิ่งตระหนักว่านั่นเป็นความสัมพันธ์ที่พวกเขามี จึงค่อนข้างยากลำบาก และการช่วยให้ผู้มาใช้บริการรู้ว่ามันไม่ใช่ความผิดของพวกเขา ที่พวกเขากำลังถูกควบคุม นี่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของบริการ”คุณเฟรนช์ ทนายความอาสา เผย
ดร.แพตเทอสัน กล่าวว่า ผู้กระทำผิดโดยมากมักเป็นลูกชาย หรือลูกสาว หรือคนใกล้ชิดคนอื่นๆ ของผู้สูงอายุ
เธอกล่าวว่า มีชุดคำถามง่ายๆ ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้ว่า พวกเขากำลังได้รับการปฏิบัติด้วยอย่างถูกต้องหรือไม่
“ฉันได้ทำโครงการหนึ่ง ที่ไปหาผู้สูงอายุพร้อมด้วยที่คั่นหนังสือเล็กๆ ที่มีข้อความเขียนไว้ว่า: ฉันกำลังได้รับการปฏิบัติด้วยอย่างเคารพจากครอบครัวของฉันและเพื่อนๆ ฉันรู้ว่าเงินของฉันถูกใช้ไปอย่างไร ฉันเป็นผู้เลือกว่าจะเกิดอะไรขึ้นในบ้านของฉัน การตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับชีวิตของฉันทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของฉัน พินัยกรรมของฉันสะท้อนความปรารถนาของฉันเอง ฉันรู้ว่ายาของฉันอยู่ที่ใด -และหากคุณตอบว่า ไม่ สำหรับคำถามใดๆ เหล่านั้น คุณอาจต้องการปรึกษาใครสักคนที่คุณไว้ใจได้” ดร.แพตเทอสัน กล่าว
คุณรัสเซล เวสตาคอตต์ เห็นด้วยว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เหยื่อจะต้องพูดคุยเรื่องนี้กับเพื่อน หรือกับเพื่อนบ้านที่พวกเขาสามารถไว้ใจได้
“ผมขอกระตุ้นให้ประชาชนพูดคุยเรื่องนี้กัน เพราะการข่มเหงผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่ถูกมองเป็นตราบาปอย่างมาก และเพราะผู้ทำผิดเป็นสมาชิกในครอบครัว ผู้คนจึงไม่อยากพูดถึงมัน” คุณเวสตาคอตต์ ชี้แจงสำหรับผู้คนที่มาจากภูมิหลังหลากวัฒนธรรม ที่พูดภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ คำแนะนำในเรื่องนี้นั้นไม่ต่างกัน
ผู้สูงอายุที่ถูกข่มเหงจะต้องพูดคุยเรื่องนี้กับเพื่อน หรือกับเพื่อนบ้านที่พวกเขาสามารถไว้ใจได้ Source: GettyImages_izusek
ดร.แพตเทอสัน กล่าวว่า หากพวกเขาโทรศัพท์ไปยังสายด่วนทั่วประเทศด้านการข่มเหงผู้สูงอายุ จะมีความช่วยเหลือให้
“มันสำคัญมากที่ผู้สูงอายุที่มีพื้นเพไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ จะต้องรู้ว่ามีความช่วยเหลือในเรื่องนี้ หากพวกเขาโทรศัพท์ไปยังสายด่วนให้ความช่วยเหลือในรัฐของพวกเขา หรือโทรศัพท์ไปที่ 1800 353 374 องค์กรจะพยายามหาล่ามมาให้พวกเขาและช่วยเหลือพวกเขาได้” ดร.แพตเทอสัน ย้ำ
สถาบันวิจัยด้านประชากรผู้สูงอายุแห่งชาติ (National Ageing Research Institute) ได้ทำการศึกษาวิจัยประชาชนผู้สูงอายุ ที่เคยถูกข่มเหงอย่างรุนแรง พบว่า ผู้สูงอายุที่ตอบคำถามการวิจัยเหล่านั้น ไม่มีใครต้องการให้สถานการณ์ที่เกิดกับพวกเขาต้องลงเอยในศาล
ดร.เคย์ แพตเทอสัน กรรมธิการด้านการเลือกปฏิบัติเพราะอายุ กล่าวว่า
“พวกเขากล่าวว่า เราไม่ต้องการให้เรื่องไปถึงศาล เราแค่ต้องการให้มันได้รับการแก้ไข เราต้องการให้บุคคลนั้นได้รับความช่วยเหลือเรื่องการติดพนันของพวกเขา หรือช่วยเกี่ยวกับอะไรก็ตามที่ทำให้พวกเขาต้องการเงินจากฉัน หรือปฏิบัติต่อฉันอย่างเลวร้าย” ดร. แพตเทอสัน เผย
เธอหวังว่า เมื่อเวลาผ่านไปผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นจะตระหนักว่า พวกเขาไม่ได้อยู่เดียวดาย และพวกเขามีสิทธิมนุษยชนที่ผู้อื่นต้องเคารพ ไม่ว่าผู้สูงอายุนั้นจะอาศัยอยู่ที่บ้าน หรืออยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุก็ตาม
หากคุณประสบปัญหาเรื่องนี้ หรือพบเห็น หรือสงสัยว่าจะมีการข่มเหงผู้สูงอายุเกิดขึ้น ให้โทรศัพท์ไปยังสายด่วนช่วยเหลือเรื่องการข่มเหงผู้สูงอายุทั่วประเทศ (National Elder Abuse Helpline) ที่หมายเลข 1800 353 374 หรือติดต่อบริการแปลและล่ามฟรี ที่หมายเลข 13 14 50 แล้วขอให้ล่ามติดต่อไปยัง National Elder Abuse Helpline
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ผู้สูงอายุที่ถูกข่มเหงขอความช่วยเหลือได้ทั่วประเทศ
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
อวสานสมาคมทิวา