กด (►) ที่ภาพด้านบน เพื่อฟังเสียงรายงานข่าวเรื่องนี้เป็นภาษาไทย
หรือ กด (►) ด้านล่าง เพื่อชมวิดีโอรายงานข่าวเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษ
เส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า หรือที่รู้จักกันดีว่าเส้นทางรถไฟสายมรณะ เป็นเส้นทางรถไฟที่สร้างขึ้นโดยเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ของกองทัพญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
วันที่ 16 ตุลาคมนี้ เป็นวันครบรอบ 75 ปี ที่เส้นทางรถไฟสายนี้ ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ วันนี้เป็นยกย่องเชิดชูเกียรติทหารเชลยศึกที่สิ้นชีพในระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะนี้
ความทรงจำอันเลวร้ายเกี่ยวกับชีวิตในฐานะทหารเชลยสงครามไม่เคยเลือนหายไปจากใจของคุณโคลิน แฮมลีย์ วัย 99 ปี และคุณนอร์แมน แอนเดอร์สัน วัย 98 ปี
คุณแอนเดอร์สัน จำได้ดีว่า ชีวิตท่ามกลางความโหดร้ายของสงครามนั้นเป็นการมีชีวิตอยู่โดยไม่รู้ชะตากรรมข้างหน้า
“ทั้งหมดที่เราทำ คือเราใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ อย่างดีที่สุดที่เราจะพูดได้เกี่ยวกับพวกทหารญี่ปุ่นคือ พวกเขาเป็นทีมคนสารเลวที่มีความเคียดแค้นพยาบาท และพวกเขาก็มาลงที่เรา” คุณแอนเดอร์สัน กล่าวเมื่อกว่า 70 ปีก่อน คุณโคลิน แฮมลีย์ และคุณนอร์แมน แอนเดอร์สัน เป็นทหารที่สู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 2
Roses and photographs laid in memory of those who died at the Hellfire Pass section of the Thai Burma railway. Source: AAP
คุณแอนเดอร์สันได้รับบาดเจ็บขณะสู้รบ เพียงสองวันก่อนที่สิงคโปร์จะถูกญี่ปุ่นยึดครอง
สำหรับคุณแฮมลีย์นั้นเพิ่งไปสู้รบที่ตะวันออกกลาง แต่การเดินทางกลับบ้านของเขาอ้อมไปสู่โชคชะตาที่พลิกผัน
“จากนั้น แทนที่จะเดินทางลงไปทางใต้มากขึ้น เราก็เริ่มมุ่งหน้าไปทางเหนือ แล้วเราก็เริ่มตระหนักว่า เราไม่ได้กำลังกลับบ้านที่ออสเตรเลีย แต่เรากำลังเดินทางไปที่อื่น แล้วเราก็ลงจอดที่เกาะชวา” คุณแฮมลีย์ เล่า
จากนั้น นายทหารผ่านศึกทั้งสองถูกกองทัพญี่ปุ่นจับเป็นเชลยสงคราม พร้อมกับเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรอีกว่า 60,000 คน ซึ่งรวมไปถึงเซอร์โดนัลด์ เวียรี ดันลอป และแรงงานชาวเอเชียอีกว่า 250,000 คน โดยพวกเขามีหน้าที่สร้างเส้นทางรถไฟระยะทาง 415 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อประเทศไทยกับประเทศพม่า เพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถนำกำลังพลเดินทางได้โดยไม่ต้องผ่านเส้นทางทะเลที่มีความเสี่ยงสูงกว่า
คุณแอนเดอร์สัน เล่าว่าเชลยสงครามและแรงงานที่สร้างทางรถไฟเส้นนี้ต่างอดอยากหิวโหย และยังถูกบังคับใช้แรงงานทั้งวันทั้งคืน แทบไม่ได้พัก
“เราดำรงชีวิตอยู่ด้วยการกินอาหารเหลวแก้วหนึ่ง ซึ่งเป็นข้าวเละๆ วันละสองมื้อ แก้วหนึ่งตอนเช้า แล้วอีกแก้วตอนบ่าย จากนั้นผมก็ล้มป่วยเป็นมาลาเรีย และโรคบิด” คุณแอนเดอร์สัน เล่าถึงความหลังอันขมขื่น
ถึงแม้ว่าทั้งสองจะไม่ได้ลงแรงก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะ แต่คุณแอนเดอร์สันก็ได้ยินเรื่องราวที่เชลยสงครามเล่าให้กันฟัง เกี่ยวกับช่องเขาขาด ที่เชลยสงครามพากันเรียกว่า เฮลไฟร์ พาสส์ (Hellfire Pass) หรือช่องไฟนรก
“การใช้แรงงานก่อสร้างที่เลวร้ายที่สุดคือช่วงช่องไฟนรก ซึ่งเป็นส่วนที่พยุงทางรถไฟทั้งหมดไว้ และพวกเขาตัดสินใจว่าจะต้องทำงานเป็นสองกะ การทำงานในกะกลางคืนจึงเป็นการทำงานโดยมีแสงไฟจากกองไฟที่มีไม้ไผ่เป็นเชื้อฟืน แล้วมีบางคนพูดเล่นๆ ว่านรกคงเป็นแบบนี้นี่เอง นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อเรียกกันว่า ช่องไฟนรก” คุณแอนเดอร์สัน อธิบายคุณแฮมลีย์ เล่าต่อไปว่าเชลยสงครามที่ทำการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะมีอาหารรับประทานเพียงน้อยนิด และไม่มียารักษาโรคใดๆ จึงทำให้เชลยสงครามจำนวนไม่น้อยล้มป่วยลง
Tens of thousands - including Allied POWs and local workers were killed during the building of the Thai-Burma railway. Source: AAP
แต่มิตรภาพระหว่างพวกพ้องที่แข็งแกร่งช่วยสร้างกำลังใจให้พวกเขาสู้ต่อไป
“คุณรู้ไหม ผมได้ฉลองวันเกิดครบ 21 ปี ที่พม่าด้วยนะ สหายของผมก็ให้ของขวัญมาด้วยชิ้นหนึ่ง เขาล้วงเอาบุหรี่ออกมาซองหนึ่ง ที่มีสิบมวน ซึ่งเขาได้เก็บไว้มา 18 เดือนแล้ว และเราก็แบ่งบุหรี่ซองนั้นสูบ ในวันเกิดครบ 21 ปีของผม ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1943” คุณแฮมลีย์ ย้อนเหตุการณ์
ในวันที่ 16 ตุลาคม อดีตเชลยสงครามทั้งสองจะร่วมพิธีรำลึกถึง 75 ปี การเสร็จสิ้นการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า คุณแฮมลีย์ กล่าวว่า ในวันนี้ จะมีพิธีระลึกถึงชาวออสเตรเลียกว่า 2,800 และทหารสัมพันธมิตรอีกราว 10,000 คน ที่เสียชีวิตในระหว่างการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะเส้นนี้
“ผมรู้สึกภูมิใจมากเกี่ยวกับการประพฤติตัวของคนของเรา ทั้งในช่วงนั้น และในช่วงหลายปีหลังจากนั้น หลังสงคราม” คุณแฮมลีย์ กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
เจาะประวัติศาสตร์ช่องเขาขาดในวัน ANZAC