ชุดข้อมูลสังหาร: ปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้เพื่อฆ่าคนอย่างไร

Are robot killers the future in warfare (SBS).jpg

หุ่นยนต์นักฆ่าอาจเป็นอาวุธสงครามในอนาคต Source: SBS

นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันคอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักรสามารถแก้ปัญหาและตัดสินใจได้เสมือนมนุษย์ ทำงานได้ทุกภาคส่วน รวมถึงการทำสงครามด้วย ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนถึงปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนและศีลธรรมที่ยังไม่มีการตรวจสอบให้เคร่งครัด


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

กลวิธีที่เราทำสงครามกำลังเปลี่ยนไป

ศาสตราจารย์โทบี วอล์ช (Toby Walsh) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์จากสถาบันปัญญาประดิษฐ์แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (the Artificial Intelligence Institute at the University of New South Wales) กล่าวเตือนถึงการแข่งขันใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ในการสร้างอาวุธใหม่

“คุณอาจคุ้นกับการเห็นโดรนบินผ่านน่านฟ้าของอัฟกานิสถานหรืออิรัก มันยังคงกึ่งอัตโนมัติ ยังคงมีมนุษย์ควบคุมด้วยมือหรือเหนี่ยวไก แต่โดรนเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ตัดสินใจมากขึ้นเรื่อยๆ ตัดสินใจกำหนดเป้าหมายและจะสังหารใคร”
ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ระบุว่า ระบบอัตโนมัติ ‘ค้นหา คัดเลือก และโจมตีเป้าหมายโดยไม่มีมนุษย์ควบคุมดูแล’

ระบบนี้เรียกว่า ‘หุ่นยนต์นักฆ่า (killer robots)’ สามารถวิเคราะห์ข้อมูล เช่น น้ำหนัก อายุ และเชื้อชาติเพื่อระบุและโจมตี

ด็อกเตอร์โอลกา โบชัค (Olga Boichak) นักสังคมวิทยาและวิทยากรด้านวัฒนธรรมดิจิทัลแห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์อธิบาย (Digital Cultures at the University of Sydney)
AI ถูกใช้เพื่อฆ่าคนตามข้อมูลที่ได้รับ เรารู้ว่ากองทัพหลายแห่งทั่วโลกใช้ AI เพื่อระบุวัตถุที่อาจเป็นอันตราย เรียกว่าชุดข้อมูลสังหาร (death by meta-data) และนั่นเป็นเพราะชุดข้อมูลรายบุคคลที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตของใครบางคนคล้ายคลึงกับของผู้ก่อการร้าย
ศาสตราจารย์โบชัคอธิบาย
รายงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า การโจมตีด้วยโดรนอัตโนมัติครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2020 โดยโดรนที่ผลิตโดยตุรกีถูกส่งไปในฉนวนความขัดแย้งที่ลิเบีย

นับแต่นั้นมา อาวุธประเภทนี้เริ่มเข้ามามีบทบาทที่อื่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงสงครามที่ยูเครนด้วย

ข้อมูลของสถาบันกิจการระหว่างประเทศระหว่างแห่งออสเตรเลีย (Australian Institute of International Affairs) ระบุว่า รัสเซีย จีน อิสราเอล อินเดีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลียเป็นประเทศผู้นำในการใช้ AI ด้านการทหาร

“อิสราเอลเป็นประเทศมีความสามารถอย่างมากในการพัฒนาอาวุธ และชายแดนกาซา (Gaza) ก็เป็นหนึ่งในพรมแดนที่มีการเฝ้าระวังมากที่สุด มีระบบ AI เคลื่อนที่อัตโนมัติเฝ้าระวังจำนวนมาก”
drone
โดรนบินผ่านทะเล Source: AAP
การให้เครื่องจักรตัดสินใจถึงความเป็นความตายนับเป็นปัญหาทางศีลธรรม สิ่งนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญออกมาเรียกร้องให้มีการควบคุมอาวุธอัตโนมัติที่อันตรายถึงชีวิต ภายใต้อนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยอาวุธบางประเภท (UN's Convention on Certain Conventional Weapons) และกำหนดให้อาวุธทางเคมีและชีวภาพเป็นสิ่งต้องห้ามภายใต้อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Convention) เมื่อปี 1925 เช่นกัน

คุณดาเนียลา กัฟชอน (Daniela Gavshon) ผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) กล่าว
อาวุธเหล่านี้ทำงานโดยปราศจากการควบคุมของมนุษย์ ไม่มีคุณสมบัติของมนุษย์ในการตัดสินใจหรือความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการวิเคราะห์ว่าอะไรคือเป้าหมายที่ถูกต้องตามกฎหมาย และจากนั้นควรเดินหน้าหรือถอยกลับในช่วงเวลาต่างๆ
คุณกัฟชอนอธิบายถึงอันตรายของเรื่องนี้
ศาสตราจารย์วอล์ชกังวลว่ายังไม่มีการตระหนักถึงความเป็นจริงเรื่องอาวุธอัตโนมัติและเรียกร้องให้มีการดำเนินการก่อนที่จะสายเกินไป

“ตัวอย่างของสิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือเรือดำน้ำอัตโนมัติของรัสเซียที่ชื่อว่าโพไซดอน (Poseidon) มีขนาดเท่ากับรถบัส ใช้พลังงานนิวเคลียร์ ดังนั้นสามารถเดินทางได้โดยไม่จำกัดเรื่องระยะทางและมีความเร็วสูงมาก เชื่อว่ามันบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ไว้ด้วย สิ่งนี้สามารถขับเข้ามาที่ท่าเรือที่ซิดนีย์ได้ และระบบอัลกอริทึม (algorithm) จะตัดสินใจเริ่มสงครามนิวเคลียร์ได้โดยอัตโนมัติ”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share