คุณอมีนา เพย์น (Ameena Payne) และคู่ครองของเธอปรึกษากันหลายปี ว่าจะมีลูกดีหรือไม่
เธอกล่าวว่าความไม่แน่นอนที่ว่า คนรุ่นหลังจะต้องเจอกับโลกแบบไหนเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาลังเล
“ไฟป่า และคุณก็รู้ดี ภัยแล้งเอย น้ำท่วมเอง ที่เราได้ยิน ไหนจะวิกฤตเศรษฐกิจ ล้วนกระทบการตัดสินใจว่าเราจะมีลูกดีไหม”
ในที่สุด คู่รักที่อยู่ด้วยกันมา 6 ปีก็ตัดสินใจว่าจะไม่มีบุตร และไม่ใช่มีแค่พวกเขาเท่านั้น
“สิ่งที่ฉันสังเกตในกลุ่มเพื่อนของฉันคือ เราวางแผนครอบครัวอย่างจริงจัง มันไม่ใช่แค่คุณคนเดียว ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการเงินว่าเราพร้อมหรือไม่ โลกจะสามารถอยู่ได้ไหมหากมีเด็กเพิ่มมากขึ้นด้วย”
แพทย์หญิง คาร์ลา พาสโค เล (Dr Carla Pascoe Leahy) นักประวัติศาสตร์สาขามารดา การมีบุตรและครอบครัว เชื่อว่าผู้หญิงออสเตรเลียทั่วประเทศถามคำถามเดียวกันนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
นี่เป็นสาเหตุที่พญ. คาร์ลาและทีมนักวิจัยเริ่มการวิจัยในประเด็นว่าภาวะโลกร้อนมีผลต่อการตัดสินใจสืบพันธุ์หรือไม่
“สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเราถามคำถามกับหลายคนในโซเชียลมีเดีย เราได้คำตอบที่หลั่งไหลเข้ามา เหมือนว่าเราไปจุดประเด็น”
โปรเจกต์มารดาและการมีบุตรในอนาคต (The Maternal Futures project) ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย (University of Tasmania) มหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก (University of Edinburgh) และมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส (Flinders University) เพื่อวิจัยว่าภาวะโลกร้อนมีผลกระทบอย่างไรในการตัดสินใจเรื่องการมีบุตร
ซึ่งขณะนี้กำลังทำการวิจัยและจะเผยแพร่ผลการวิจัยในปีหน้า
แพทย์หญิงคาร์ลากล่าวว่า จนถึงตอนนี้ ทีมนักวิจัยได้สอบถามผู้หญิง 10 คนทั่วออสเตรเลีย จากเมืองหลวงต่างๆ จากภูมิภาคต่างๆ และจากหลากหลายวัฒนธรรม
“ผู้หญิงหลายคนรู้สึกโหยหาอยากมีบุตรและเป็นแม่ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็รู้สึกไม่แน่ใจและสับสนว่าอนาคตของลูกๆ พวกเขาจะเป็นอย่างไร”
ตัวเลขจากสำนักงานสถิติของออสเตรเลีย (Australia Bureau of Statistics) แสดงให้เห็นว่าออสเตรเลียออกใบสูจิบัตรในปี 2022 ราว 294,000 ใบ นับเป็นอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์
ขณะที่มีสูจิบัตรเกือบ 310,000 ใบที่ขึ้นทะเบียนในปี 2021 ผู้อำนวยการสำนักประชากรศาสตร์ เอมิลี วอลเทอร์ (Emily Walter) กล่าวว่าอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมในทศวรรษที่ผ่านมาลดลง
“ตัวเลขสูงสุดที่เราเห็นคือเมื่อปี 2008 ด้วยตัวเลขทารก 2.02 คนต่อมารดา 1 คน และตั้งแต่นั้นมาก็ลดลงเรื่อยๆ”
พญ.คาร์ลายังทำการวิจัยว่า ภัยพิบัติต่างๆ กระทบต่อการตัดสินใจของมารดาอย่างไร
“การวิจัยเรื่องวิกฤตของมารดาพบว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อมารดาชาวออสเตรเลียอย่างลึกซึ้ง ขณะที่ภัยพิบัติเพิ่มขึ้น มารดาหลายคนคิดทบทวนอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับว่าจะปกป้องครอบครัวของพวกเธออย่างไรในศตวรรษที่ 21 เรื่องของที่ที่พวกเขาควรอยู่และสร้างบ้านของครอบครัวที่ปลอดภัย จะเตรียมตัวกับภัยพิบัติในอนาคตอย่างไร”
การวิจัยดังกล่าวเป็นของผู้หญิงที่อาศัยในภูมิภาคกิปส์แลนด์ (Gippsland) ของรัฐวิกตอเรีย บริเวณที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภัยพิบัติต่างๆ จากไฟป่าครั้งใหญ่หลายครั้งในทศวรรษที่ผ่านมา
ครูชั้นประถมศึกษา เจน ซัลทานา (Jane Sultana) มีลูกชายวัยรุ่น 2 คนและผ่านวิกฤตไฟป่ามาหลายครั้ง เธอกล่าวว่ามันกระทบกับวิธีที่เธอเลี้ยงลูกๆ
“เมื่อเราไปเที่ยวกับครอบครัวในฤดูร้อน เราจะไม่ไปไกล เพราะเราไม่อยากถูกล้อมด้วยไฟป่าขณะที่เราขับรถ เราสร้างบ้านของเราให้ประหยัดพลังงานมากที่สุด เราพยายามซื้อของที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการเลือกอาหารที่มีหีบห่อน้อยลง ฉันหวั่นใจกับอนาคตของลูกๆ ของฉัน ภาวะโลกร้อนจะกระทบโลกอย่างไร และจะกระทบกับอนาคตของพวกเขาอย่างไร”
หวังว่าการวิจัยนี้จะส่งผลให้มีบริการช่วยเหลือที่ดีขึ้น เพื่อช่วยให้หลายๆ ครอบครัวสามารถรับมือกับวิกฤตภาวะโลกร้อนได้
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่