กดฟังพอดคาสต์
LISTEN TO
อธิบายวิถีออสซี: ศิลปะร่วมสมัย
SBS Thai
15/02/202215:17
นครเมลเบิร์นเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเมืองหลวงด้านศิลปะของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งในแต่ละปีก็มีการจัดเทศกาลต่างๆ หลายร้อยงาน ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลภาพยนต์ หนังสือ โรงละคร เดี่ยวไมโครโฟน หรือการจัดนิทรรศการแสดงภาพวาด และอื่นๆ อีกมากมาย เอสบีเอสไทยจะพาคุณไปทำความรู้จักกับศิลปะประเภทต่างๆ ที่ได้รับความนิยมในออสเตรเลีย รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีของชนพื้นเมืองด้วย
เป็นที่รับรู้กันดีว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมหลายประเภทในออสเตรเลียต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ไม่มากก็น้อย แต่หากวงการศิลปะนั้นกลับคึกคักสวนกระแสอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะการที่ผู้คนต้องจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศส่งผลดีที่ผู้ที่สนใจสะสมงานศิลปะก็หันมาสนใจซื้องานศิลปะจากศิลปินท้องถิ่นมากขึ้น คุณวิภู ศรีวิลาส ศิลปินคนไทยที่ย้ายมาตั้งรกรากที่ออสเตรเลียเกือบ 30 ปี และยังเป็นเจ้าของรางวัลศิลปินเซรามิกดีเด่น ประจำปี 2021 ชี้ว่าเหตุผลที่งานศิลปะเฟื่องฟูในออสเตรเลียก็เพราะว่าคนออสเตรเลียโดยทั่วไปสนใจงานศิลปะและทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงงานศิลปะได้
“ช่วงโควิดนี่คึกคักเพราะนักสะสมงานศิลปะ (Collectors) หันมาซื้องานศิลปะตกแต่งบ้านในประเทศเพราะออกนอกประเทศไม่ได้ คนออสเตรเลียโดยทั่วไปรักงานศิลปะ สะสมศิลปะ ไม่ใช่แต่คนในสังคมชั้นสูงอย่างเดียว”
การทำงานศิลปะหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นทั้ง ภาพพิมพ์ ประติมากรรม เซรามิก หรือ จิตรกรรม มาต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่เมืองไทยจนย้ายมาอยู่ที่ออสเตรเลีย ทำให้งานศิลปะของคุณวิภูมีความเป็นเอกลักษณ์ที่เรียกได้ว่ามีลายเซ็นเป็นของตนเองที่โดดเด่นในวงการศิลปะในออสเตรเลียด้วย เขาเล่าว่าวัฒนธรรมไทยที่อยู่ในความทรงจำของเขามีอิทธิพลและเป็นแรงบันดาลใจต่องานศิลปะที่เขาทำในปัจจุบันและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวัฒนธรรมไทยที่มีมายาวนานก็สามารถนำเอามาประยุกต์ใช้ได้ในงานศิลปะได้หลากหลายจนสร้างความเฉพาะตัวของเขาเองขึ้นมา
“วัฒนธรรมไทยมีอิทธิพลหลักเพราะเป็นงานศิลปะที่มาจากความทรงจำในวัยเด็กเยอะ เร่าอยู่เมืองไทยมีหลายอย่างน่าจดจำ มีรากเหง้าที่ยาวนาน สามารถนำมาดัดแปลงได้หลายแบบ”
คุณวิภูเล่าถึงวิวัฒนการในงานศิลปะของเขาที่ค่อยๆ พัฒนาจากการมีความเป็นไทยมากๆ ในช่วงแรกแต่เมื่อได้อาศัยในออสเตรเลียงานของเขาก็เริ่มมีกลิ่นอายความเป็นออสซีเข้ามาด้วยจนเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมซึ่งทำให้งานมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว"ตอนมาทำงานใหม่ๆ งานจะเป็นไทยมากๆ แต่พออยู่ออสเตรเลียนานๆ ความเป็นออสเตรเลียนก็เข้ามาในสายเลือดด้วย มันมีการปรับเข้ากันระหว่างวัฒนธรรมทั้ง 2 แบบงานก็เลยออกมามีเอกลักษณ์พิเศษ"
ตัวอย่างงานศิลปะเซรามิกที่ได้รับความนิยมในออสเตรเลีย Source: Vipoo Srivilasa
วิถีชีวิตแบบออสเตรเลียที่ขึ้นชื่อว่าเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายๆ สบายๆ ต่างจากวิถีชีวิตแบบไทยที่กระบวนการทางสังคมมีเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีกำกับมากกว่า คุณวิภูชี้ว่าในแง่ของรูปธรรมวัฒนธรรมไทยอาจมีสิ่งที่เอามาใช้ในงาน เช่นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่างๆ มากกว่าอิทธิพลจากวัฒนธรรมออสเตรเลียที่อาจอยู่ในแบบนามธรรมเสียเป็นส่วนมาก
“ถ้าจะถามว่านำอิทธิพลออสเตรเลียมาจากไหนก็คือมาจากการใช้ชีวิตในออสเตรเลีย แต่ถ้าจะให้บอกเป็นรูปธรรมจะยาก ก็มีแบบโคลา จิงโจ้เอามาใส่บ้าง แต่ของไทยจะเห็นเป็นรูปธรรมง่าย เป็นลายกนก สีทอง ยอดชฎา”
การที่ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมส่งผลดีต่อวงการศิลปะออสซีอย่างไร รวมถึงศิลปินที่มีภูมิหลังมาจากประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักนั้นมีความได้เปรียบตรงนี้อย่างไร คุณวิภูได้ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า
“ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทุกคนสนใจมากกับกลุ่มคนหลากวัฒนธรรม รวมทั้งศิลปินที่มีภูมิหลังมาจากประเทศต่างๆ ที่มาอยู่ในออสเตรเลีย แต่งานลูกผสมไม่ใช่เรื่องแปลกของออสเตรเลียเลยเพราะว่าเพราะว่าออสเตรเลียมีคนอพยพเข้ามาอยู่มาก อย่างเช่นชุมชนกรีกในออสเตรเลีย ก็เป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในโลกรองจากในประเทศกรีกเอง และคนออสเตรเลียจะเข้าใจงานลูกผสมง่ายกว่าที่อื่น”
วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ผนึกแน่นและต่างเป็นอิทธิพลต่อกันและกันในงานศิลปะในชนชาตินั้นๆ คุณวิภูได้อธิบายความเป็นออสเตรเลียผ่านการทำงานศิลปะว่าโดยรวมแล้วอาจจะอธิบายผ่านสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของความเป็นออสเตรเลีย 3 อย่างนั่นก็คือ ความสนุก ทราย และอาหาร
“การอธิบายความเป็นออสเตรเลียมันค่อนข้างใหญ่ แต่ถ้าจะให้อธิบานสั้นๆ ก็น่าจะเป็น FUN, SAND FOOD Fun ก็คือคนออสเตรเลียที่มีความสนุกสนาน ขี้เล่น Sand คือวัสดุหลักของออสเตรเลีย มีชายหาด มีทะเลทราย Food คือคนออสเตรเลียชอบอาหาร มีความหลากหลายเป็นวัฒนธรรมด้านอาหาร ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ”
ส่วนศิลปะของชนพื้นเมืองของออสเตรเลียที่มีประวัติความยาวนานที่สุดในโลกและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ทรงคุณค่าจนสร้างภาพจำไปที่วโลกนั้น คุณวิภูมองว่าศิลปะของชนพื้นเมืองเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ซึ่งต้องคำนึงถึงการเอามาประยุกต์ใช้เพราะเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าและไม่ควรที่จะแตะต้องหากไม่เข้าใจและไม่ได้รับอนุญาตเพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเหมาะสมทางวัฒนธรรม
“ศิลปะของชาวอะบอริจินเป็นเรื่องที่อ่อนไหว จะทำอะไรต้องศึกษาให้ดีก่อน เป็นวัฒนธรรมที่มีคุณค่ามากแต่โดนคนเอาไปปู้ยี่ปู้ยำเยอะมา การจะศึกษาให้แน่ใจก่อนที่จะทำอะไรก่อนที่จะทำอะไร ควรจะได้รับอนุญาตจากท่านผู้เฒ่าของกลุ่มวัฒนธรรมก่อนเพราะฉะนั้นอย่าไปแตะต้อง เป็นเรื่องของความเหมาะสมทางวัฒนธรรม”
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลกซึ่งทำให้เป็นจุดเด่นจุดหนึ่งที่ดึงดูดให้คนอยากย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ คุณวิภูกล่าวว่า การทำงานในอาชีพศิลปินในออสเตรเลียนั้นไม่ง่ายเพราะต้องทำงานเพื่อพิสูจน์ตนเองกว่าผลงานจะได้รับการยอมรับและการที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องใช้เวลา เขายังได้แนะนำว่าเครือข่ายและความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นสิ่งสำคัญสิ่งสำคัญสำหรับศิลปินที่อยากมาอยู่และทำงานในประเทศออสเตรเลีย“อย่างแรกเลยคือหาเพื่อน ขยายเครือข่าย (Network) ไปเรื่อยๆ ต้องมาสร้างหลักฐานใหม่ ถ้าจบมาใหม่บางทีที่ออสเตรเลียอาจจะเริ่มต้นยากกว่าเพราะที่ไทยเรายังมี Network ไม่ว่าจะเพื่อนเพื่อนที่เรียนด้วยกันมา หรืออาจารย์ แต่มาที่นี่หัวเดียวกระเทียมลีบ ต้องทำงานหนักกว่าที่อยู่เมืองไทย”
คุณวิภูเล่าประสบการณ์กว่าจะมาเป็นศิลปินที่ในรับการยอมรับในออสเตรเลียต้องทำงานหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเอง Source: Vipoo Srivilasa
เมื่อหลายพันปีมาแล้วที่ชาวอะบอริจินอลและชาวเกาะทอเรส สเตรทในออสเตรเลียได้รังสรรค์ตนดรีของตนเองขึ้นซึ่งมีทั้ง การแต่งเพลง การเต้น และรวมถึงการประดิษฐ์เครื่องดนตรีต่างๆ ด้วย เครื่องดนตรีของชาวพื้นเมืองที่คุณอาจจะรู้จักกันดีนั่นก็คือ ดิดจาริดู ซึ่งคำว่า ดิดจาริดู นั้นเป็นคำที่ตั้งขึ้นมาใหม่ไม่ได้เป็นชื่อที่มีมาแต่ดั้งเดิม มีชื่อเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้แตกต่างกันไปในฝั่งทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ยิดอาคิ คำนี้มาจากภาษายูลนู มาธา ของชนชาวยูลนู ซึ่งอาศัยในเขตพื้นที่ เอิร์นแฮม ในเขตนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี
เครื่องดนตรีชนิดนี้มีลักษณะเป็นปล้องยาว ซึ่งวิธีการเล่นจะเป่าลมไล่เป็นวงกลมจากปลายข้างหนึ่ง ส่วนแคลปสติก หรือ ไม้เคาะจังหวะ เป็นเครื่องตีของชาวพื้นเมืองที่เป็นที่รู้จักกันดี เครื่องดนตรีชนิดนี้ประดิษฐ์ขึ้นและถูกใช้โดยชาวอะบอริจิน บางครั้งก็มีการประดับตกแต่งรอบๆ ไม้เคาะจังหวะชนิดนี้ด้วยคุณ ทิม จอห์น เอดวาร์ด เป็นชายชาวพื้นเมืองชาวกูม เบยาน เวอรราจูรี บิดจีกอล และยังเป็นนักร้องนำวง กรีน แฮนด์ ด้วยเขาได้อธิบายเกี่ยวกับเครื่องดนตรีของชาวพื้นเมืองว่าในฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลียมีกลองที่ทำมาจากหนังพอสซัม เช่นในพื้นที่นครซิดนีย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของชาวแคมเมอเรกอล
ภาพวาดประดับตกแต่งบนเครื่องดนตรี ดิดจาริดู Source: Getty
กลองหนังพอสซัมนี้ใช้โดยผู้หญิงในงานพิธีการต่างๆ และเราก็ยังมีไม้เคาะจังหวะ ซึ่งทำมาจากไม้เนื้อแข็ง ซึ่งในพื้นที่ของนครซิดนีย์คุณจะสามารถประดิษฐ์ไม้เคาะจังหวะจากไม้ของต้นแบงค์เซีย ซึ่งไม้ชนิดนี้ทำให้เกิดเสียงที่ไพเราะ หรือทำมาจากไม้ของต้นแคสชวลรินาและบางครั้งคุณจะพบว่าไม้เคาะจังหวะนี้มีการประดับตกแต่งรอบๆ ด้วย ดนตรีที่แต่งขึ้นค้นโดยเครื่องดนตรีของชาวพื้นเมืองนั้นจะให้เสียงที่สื่อสารกับธรรมชาติ
คุณทิมอธิบายว่าเครื่องดนตรีนั้นสร้างมาจากเกราะ หอก บูมเมอแรง หรืออะไรก็ตามที่สามารถเคาะจังหวะได้ อาจจะพูดได้ว่าเครื่องดนตรีของชาวพื้นเมืองให้เสียงพิเศษสำหรับธรรมชาติเพื่อสื่อสารผ่านเพลง การเต้นรำในพิธีการต่างๆ เพลงที่เราร้องและเต้นกันสืบต่อมาเรียกว่า ซองไลนส์ (Songlines) ซึ่งเราจะบรรยายถึงอะไรบางอย่างในชีวิตประจำวันของเรา อธิบายถึงบางอย่างตั้งแต่การกำเนิดของโลก เราบรรยายถึงต้นกำเนิดของภูเขา เราเล่าถึงจิตวิญญาณของผู้สร้างทั้งหลายของเรา คุณทิมชี้ว่าเหล่าชนพื้นเมืองอนุรักษ์เรื่องราวที่สืบทอดกันมาหลายพันปีเหล่านี้ผ่านเพลงและการเต้น
You can listen to all episodes of in , and .
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai
พอดคาสต์ ซีรีส์ อื่นๆ จากเอสบีเอส ไทย
ถอดรหัสออสซีสแลง