เหตุแอบจิ้มเข็มอาจทำให้สตรอเบอร์รีชนะใจคนมากขึ้น

Opinion: ไม่ต้องสงสัยเลยว่า วิกฤตการแอบซ่อนเข็มในสตรอเบอร์รี กำลังทำให้เกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอร์รีเดือดร้อนในระยะสั้น แต่ก็เป็นไปได้ว่าวิกฤตินี้อาจกลับตาลปัตร สร้างผลดีต่ออุตสาหกรรมสตรอเบอร์รีในระยะยาว

ผู้บริโภคกำลังช่วยพยุงเกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอร์รีในออสเตรเลีย (SBS)

ผู้บริโภคกำลังช่วยพยุงเกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอร์รีในออสเตรเลีย Source: SBS

You can read the full article in English

การลอบปนเปื้อนอาหาร เป็นหนึ่งในอาชญากรรมไม่กี่อย่าง ที่ก่อได้ง่าย แต่สร้างอันตรายร้ายแรงให้ประชาชนทั่วไป อีกทั้งสร้างความเสียหายทางการค้าได้ด้วย จุดประสงค์ของผู้ก่อเหตุมักเป็นการสร้างความหวาดกลัว และทำลายบริษัท หรืออุตสาหกรรม แต่จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพบกว่า ผลที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม

วิกฤตสตรอเบอร์รีนั้นเริ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายน เมื่อมีการค้นพบเข็มเย็บผ้าซุกซ่อนอยู่ในสตรอเบอร์รีจำนวนหนึ่ง ที่ซื้อจากร้านซูเปอร์มาร์เกต วูลเวิร์ต แห่งหนึ่งในนครบริสเบน สิ่งที่เริ่มขึ้นจากเหตุการณ์ที่โดดๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อื่น ซึ่งถูกมองว่าเกิดจากลูกจ้างในสวนสตรอเบอร์รีในควีนสแลนด์ที่ไม่พอใจนายจ้าง กลับกลายเป็นวิกฤตของชาติไปอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคได้รับคำแนะนำให้โยนสตรอเบอร์รีที่ซื้อมาทิ้งไป หรือให้นำไปขอคืนเงินจากร้านซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ ในรัฐควีนสแลนด์ นิวเซาท์เวลส์ และวิกตอเรีย จากนั้นก็มีการพบเข็มซ่อนอยู่ในสตรอเบอร์รีอีกในรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย และทัสมาเนียด้วย จากนั้นภายในหนึ่งสัปดาห์ ได้มีการรายงานกรณีพบเข็มในสตรอเบอร์รีอีกหลายสิบกรณีทั่วประเทศ รวมทั้งที่นิวซีแลนด์ด้วย

การลอบปนเปื้อนสินค้ามีประวัติที่ยาวนานและไร้ความหมาย

ในปี ค.ศ.1982 มีประชาชน 7 คนในนครชิคาโก เสียชีวิตจากการรับประทานยา ไทเลนอล (Tylenol) ที่มีสารโปแทสเซียม ไซยาไนด์ เคลือบอยู่ แม้ว่าชายคนหนึ่งคนถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดจากการพยายามขู่กระโชกเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ผู้ผลิตยาไทเลนอล แต่เขาก็ไม่เคยถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการเสียชีวิตของประชาชน 7 รายดังกล่าว

ด้านบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน รับมือกับวิกฤตดังกล่าวอย่างทันท่วงที โดยได้เรียกคืนยาไทเลนอลกว่า 30 ล้านขวดออกจากตลาด และยังได้เตือนผู้บริโภคให้รับรู้กันทั่วไปถึงอันตรายของสินค้าที่ถูกปนเปื้อนนี้ อีกทั้งยังได้เปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ป้องกันการลอบปนเปื้อนได้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทเสียหายกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ความมุ่งมั่นที่จะทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยของบริษัทส่งผลดีต่อชื่อเสียงของบริษัท ยาไทเลนอลสามารถทำตลาดได้ดีดังเดิมภายในเวลาแค่หนึ่งปี

เคยมีความพยายามที่จะบ่อนทำลายบริษัทผลิตยาต่างๆ ในออสเตรเลียเช่นกัน ในปี ค.ศ.2000 ยาพาราเซตตามอล ที่เป็นแคปซูล ผลิตโดยบริษัทเฮอร์รอน ฟาร์มาซูติคอลส์ (Herron Pharmaceuticals) ถูกเคลือบด้วยสารสตริกนิน ดังตัวอย่างของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน บริษัทเฮอร์รอน ถอนสินค้าดังกล่าวออกจากชั้นวางจำหน่ายทันที ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น บริษัทสมิทไคลน์ บีแชม อินเตอร์เนชันแนล (SmithKline Beecham International) ซึ่งปัจจุบันคือบริษัทแกลซโซสมิทไคลน์ (GlaxoSmithKline) ก็ถูกข่มขู่เช่นกัน บริษัทได้เรียกคืนยาพาราเซตตามอล ที่เป็นแคปซูล ซึ่งเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดของบริษัท ออกจากตลาด เพื่อเป็นการป้องกัน ในทั้งสองกรณี ประชาชนมีความไว้เนื้อเชื่อใจบริษัททั้งสองแห่งเพิ่มมากขึ้น

วิกฤตอาหารทำให้คนถวิลหามากขึ้น

ในปี ค.ศ. 1977 บริษัทอาร์นอตต์ส์ (Arnott’s)ผู้ผลิตบิสกิตที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย โยนบิสกิตมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ทิ้งไป เนื่องจากถูกขู่ว่าบิสกิตเหล่านั้นอาจปนเปื้อนยาพิษ ในกรณีนี้ น่าแปลกมาก ที่บุคคลที่ขู่กระโชกต้องการให้อาชญากรผู้หนึ่งที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด ให้ได้รับการปล่อยตัวออกจากห้องขัง

ในปี 2007 มาสเตอร์ฟูดส์ (Masterfoods) ถอนขนมช็อกโกแลตแท่งมาร์ส (Mars) และสนิกเกอร์ (Snickers) ออกจากชั้นวางจำหน่าย เนื่องจากเกรงว่าขนมเหล่านั้นจำนวนหนึ่งอาจปนเปื้อนสารพิษ

ทั้งสองกรณีดังกล่าว จากการดำเนินการอย่างเร่งด่วนและทำตามตำราการบริหารจัดการภาวะวิกฤต ในเรื่องของการเห็นความสำคัญของผู้บริโภคก่อนใคร บริษัทมาที่สอง และผู้ถือหุ้นมาที่สาม ส่งผลให้ทั้งสองบริษัทรอดพ้นการประสบความเสียหายในระยะยาว ชาวออสเตรเลียนับล้านๆ คนยังคงซื้อบิสกิตและช็อกโกแลตแท่งจากสองบริษัทนี้ต่อไป

ในทุกกรณี ประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายของการลอบบ่อนทำลายสินค้าฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตได้ โดยบ่อยครั้งทีเดียวที่ยอดขายสินค้าที่ตกเป็นเป้าหมายนั้นมากกว่าเดิมเสียอีก

ดังนั้น จึงมีเหตุผลที่ดี ที่ทำให้มีความหวังว่า ผลกระทบระยะยาวจากวิกฤตการปนเปื้อนเข็มในสตรอเบอร์รีครั้งนี้จะทำให้ชาวออสเตรเลียมีใจถวิลหาสตรอเบอร์รีกันมากขึ้น

บรรดาผู้บริโภคตอบสนองต่อความชอกช้ำใจหมู่อย่างไร

การศึกษาวิจัยพบว่า มีแบบแผน 4 ขั้นของพฤติกรรมทางสังคม หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจต่างๆ ในสังคม เช่นภัยธรรมชาติ หรือการก่อการร้าย

  • ขั้นแรก เกิดความรู้สึกตกตะลึงภายใน 2-3 วันแรก และแต่ละคนมีปฏิกิริยาเฉพาะตัวต่อเหตุการณ์ที่แตกต่างกันไป
  • ขั้นที่สอง 1 ถึง 2 สัปดาห์ ในการรวมมือกันแสดงความสามัคคีในรูปแบบเดียวกัน
  • ขั้นที่สาม 2-3 เดือนในการแสดงความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันอย่างสูง
  • ขั้นที่ 4 ระยะเสื่อมถอยเกือบเข้าสู่ภาวะปกติในระยะเวลา 6-9 เดือน
การรณรงค์ให้ร่วมกัน ‘หั่นสตรอเบอร์รีเป็นชิ้น แต่อย่างหั่นสตรอเบอร์รีออกไปจากชีวิต’ เข้าข่ายพฤติกรรมขั้นที่สอง สิ่งที่เรากำลังสังเกตเห็นขณะนี้ เป็นความเคลื่อนไหวเข้าสู่ระยะที่ผู้บริโภคทั่วประเทศแสดงความสามัคคีกันอย่างแข็งแกร่ง

ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอร์รีประสบความสูญเสียไม่กี่สัปดาห์ แต่ยอดจำหน่ายสตรอเบอร์รีก็ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว ในบางกรณีนั้น ประชาชนพากันแสดงความสนับสนุนเกษตรกรด้วยการช่วยกันซื้อสตรอเบอร์รีมากกว่าที่เคยซื้อปกติด้วยซ้ำ

การหลั่งไหลมาของกระแสสตรอเบอร์รีสมานฉันท์

ขณะนี้ การค้นหาสูตรทำอาหารที่ใช้สตรอเบอร์รีกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในเว็บไซต์สอนทำอาหาร เช่น ตามโซเชียลมีเดีย แฮชแท็กส์ อย่าง #SmashaStrawb และ #saveourstrawberries ก็กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งบรรดาคนดังและนักการเมืองพากันรับประทานสตรอเบอร์รีอย่างเอร็ดอร่อยตามสื่อต่างๆ ส่วนบรรดาสื่อเองก็มีการจัดงานสร้างความตระหนักรู้เรื่องวิกฤตสตรอเบอร์รีและรี่ไรเงินไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอร์รีด้วย

เทศกาลสตรอเบอร์รีกำลังดึงดูดคนจำนวนมากมาร่วมงาน ตั้งแต่ที่เมืองฟรีแมนเทิล ไปจึงถึงบันดาเบิร์ก ในควีนสแลนด์ เกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอร์รีต่างพากันเปิดประตูไร่ต้อนรับประชาชนและครอบครัวที่ต้องการเก็บสตรอเบอร์รีสดๆ จากต้นด้วยตนเอง นี่เป็นความรู้สึกผูกพันทางจิตใจที่บรรดาผู้ผลิตรายใหญ่คงทำได้แค่ฝันถึง วิกฤตที่เกิดขึ้นช่วยให้ไร่สตรอเบอร์รีต่างๆ มีความใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนนำผลิตผลของตนไปป้อนให้ถึงตัวผู้บริโภค

เนื่องจาก เราเป็นสัตว์ที่ชอบทำอะไรจนติดเป็นนิสัย จึงเป็นไปได้ที่ความกระตือรือร้นที่มีต่อสตรอเบอร์รี หากเกิดขึ้นสม่ำเสมอ 2-3 เดือน อาจส่งผลให้เกิดการบริโภคสตรอเบอร์รีมากขึ้นจนเป็นปกติวิสัยในระยะยาว

ดังนั้น หากความตั้งใจของผู้ก่อเหตุซ่อนเข็มในสตรอเบอร์รีคนแรกนั้น ทำเพื่อบ่อนทำลายธุรกิจของผู้ปลูกสตรอเบอร์รีรายใดรายหนึ่ง กระแสโต้ตอบอาจพิสูจน์ให้เห็นว่าแผนดังกล่าวนั้นโง่เขลาอย่างสิ้นเชิง ในทางกลับกัน หากเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ค่อนข้างวิปลาสแล้วละก็ แผนดังกล่าวก็ถือว่าฉลาดหลักแหลมอย่างร้ายกาจทีเดียว

อนึ่ง ผู้เขียนบทความนี้ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ให้คำปรึกษา ไม่ได้มีหุ้น ไม่ได้รับเงินทุนใดๆ จากบริษัท หรือองค์กร ที่อาจได้ประโยชน์จากบทความนี้ อีกทั้งผู้เขียนยังได้เปิดเผยว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ  ที่นอกเหนือไปจากหน้าที่ทางวิชาการ




Share
Published 1 October 2018 3:08pm
Updated 12 August 2022 3:39pm
By Gary Mortimer, Louise Grimmer
Presented by Parisuth Sodsai
Source: The Conversation


Share this with family and friends