พายุหมุนไม่ว่าจะเรียกอย่างไรก็ร้ายกาจเหมือนกัน
ไม่ว่าจะเรียกกันว่าเฮอร์ริเคน ไซโคลน หรือไต้ฝุ่น ล้วนแล้วแต่เป็นชื่อเรียกที่ต่างกันของพายุหมุนเขตร้อนขนาดยักษ์ ที่รวมตัวขึ้นในมหาสมุทรต่างๆ ใกล้ทวีปอเมริกาและทวีปเอเชีย
ก่อให้เกิดฝนตกหนัก ลมพัดแรง มีคลื่นพายุซัดฝั่ง และคลื่นยักษ์ในทะเล พายุเหล่านั้นอาจสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเมื่อพายุพัดขึ้นฝั่ง
มวลความกดอากาศต่ำเหล่านี้ สร้างความน่าหวาดหวั่นที่สุดตรงที่พายุนี้มีพลังรุนแรงระดับเดียวกับพลังงานที่ปล่อยออกมาจากระเบิดปรมาณู ที่ถล่มเมืองฮิโรชิมาราบเป็นหน้ากลองในอดีต
พายุหมุนที่เกิดใน มหาสมุทรแอตแลนติกและทางตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น เรียกกันว่า พายุเฮอร์ริเคน ขณะที่หากเกิดในพื้นที่เอเชียแปซิฟิก พายุหมุนเหล่านั้นจะเรียกกันว่าพายุไต้ฝุ่น ส่วนพายุหมุนรูปแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นในทะเลแปซิฟิกใต้ และมหาสมุทรอินเดียจะเรียกกันว่าพายุไซโคลน
ต้นกำเนิดที่ไม่มีพิษสง
พายุไซโคลนเริ่มก่อตัวขึ้นโดยเป็นพายุฝนฟ้าคะนองที่ไม่มีความร้ายกาจอะไรมากนัก แต่ในบางช่วงเวลาของปี เมื่อน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงพอที่จะก่อให้เกิดการระเหย มวลพายุจะเริ่มดูดน้ำปริมาณมหาศาลขึ้นมารวมตัวกัน
ในซีกโลกเหนือ น้ำที่ถูกมวลพายุดูดเข้าไปจะหมุนแบบทวนเข็มนาฬิกา ขณะที่เคลื่อนตัวข้ามมหาสมุทรจากการที่โลกหมุนรอบตัวเอง ส่วนพายุไซโคลนในซีกโลกใต้จะหมุนตามเข็มนาฬิกา
น้ำที่รวมตัวกันเป็นมวลพายุนั้นจะตกลงมาเป็นน้ำฝน ก่อให้เกิดน้ำท่วมหนัก และสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน
ในตัวพายุหมุนเหล่านั้น ที่จุดศูนย์กลางของพายุจะมี “ตาพายุ” ซึ่งเป็นส่วนที่มีสงบไม่มีลมหมุน ซึ่งตาของพายุนี้อาจมีความกว้างถึง 1,000 กิโลเมตร
แต่พายุหมุนเหล่านี้จะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วเมื่อพายุเคลื่อนตัวอยู่เหนือพื้นดิน หรือในมหาสมุทรที่กระแสน้ำมีความเย็น
A police vehicle patrols the beach after an evening curfew went into effect as Hurricane Florence approaches Myrtle Beach, S.C., Thursday, Sept. 13, 2018. Source: AAP
ขนาดเล็กไม่ได้แปลว่าจะไม่ร้ายกาจ
นักวิทยาศาสตร์จัดระดับความรุนแรงของพายุไซโคลนออกเป็นความรุนแรงระดับ 1-5 โดยพายุความรุนแรงระดับ 5 มีลมพัดเร็ว 252 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือสูงกว่านั้น
พายุความรุนแรงระดับ 5 ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ ได้แก่เฮอร์ริเคน เออร์มา ซึ่งพัดถล่มหมูเกาะแคริบเบียน และทางใต้ของสหรัฐอเมริกา ในเดือนกันยายน ค.ศ.2017
เฮอร์ริเคน คาทรินา ซึ่งทำให้ผู้คนเสียชีวิตไปกว่า 1,800 คน ทั่วพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐ ก็เป็นพายุความรุนแรงระดับ 5 เช่นกัน
แต่ขณะเดียวกัน พายุเฮอร์ริเคน ฟลอเรนซ์ ที่อ่อนกำลังลงไปตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (13 กันยายน) กลายเป็นพายุความรุนแรงระดับ 2 แต่ยังคงสามารถก่ออันตรายร้ายแรงแก่ผู้คนได้
เมื่อวันอาทิตย์ (16 กันยายน) พายุลูกนี้ ได้ก่อให้เกิดฝนปริมาณ 100 เซ็นติเมตรเทกระหน่ำลงมาในรัฐนอร์ธ แคโรไลนา ของสหรัฐ และล่าสุดมีผู้เสียชีวิตจากพายุลูกนี้แล้ว 16 ราย
“ดังนั้น พายุหมุนที่แม้จะถูกจัดว่ามีความรุนแรงในระดับต่ำ แต่ก็สามารถสร้างอันตรายและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากได้เช่นกัน” นายเอ็มมานูแอล โบครี นักพยากรณ์อากาศของบริการพยากรณ์อากาศ เมทีโอ ฟรานซ์ กล่าว
Waves slam the Oceana Pier & Pier House Restaurant in Atlantic Beach, N.C., Thursday, Sept. 13, 2018. Source: AAP
ฤดูร้อนแห่งความรุนแรง
เมื่อปีที่แล้ว เราได้เห็นพายุขนาดยักษ์ที่สร้างความเสียหายมากมายหลายลูก ที่พัดกระหน่ำพื้นที่ทางตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เช่นพายุเออร์มา มาเรีย และพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ ซึ่งได้สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 125 พันล้านดอลลาร์ เมื่อพายุฮาร์วีย์ ก่อให้เกิดน้ำท่วมหนักในย่านตัวเมืองของเมืองฮูสตัน
นายโบครี กล่าวว่า ในปี 2017 เป็นปีที่แตกต่างไปจากปกติ สำหรับพายุซูเปอร์สตอร์ม ในมหาสมุทรแอตแลนติก เนื่องจากอุณหภูมิของพื้นผิวน้ำอุ่นกว่าปกติเฉลี่ยราว 2-3 เซลเซียส
สำหรับฤดูกาลพายุเฮอร์ริเคนในปีนี้ NOAA หน่วยงานด้านการพยากรณ์อากาศของสหรัฐ และสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของอังกฤษ พยากรณ์ว่าจะมีพายุความรุนแรงระดับ 3 หรือสูงกว่า เกิดขึ้นราว 5-9 ลูก ในปีนี้
“นี่เป็นฤดูกาลที่ค่อนข้างปกติ แต่ก็ต้องระวัง นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะตัดเรื่องหายนะออกไปได้เลย เพราะอาจเกิดขึ้นได้จากพายุเพียงลูกเดียวเท่านั้น” นายโบครี กล่าว
แล้วจะเลวร้ายกว่านี้หรือไม่ในอนาคต
นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์มานานแล้วว่า สภาพโลกร้อนจะทำให้พายุหมุนต่างๆ มีกำลังรุนแรงขึ้น และบางคนกล่าวว่า หลักฐานสนับสนุนเรื่องนี้นั้นมีให้เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว
มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นจะเพิ่มมวลน้ำที่พายุหมุนจะดูดเข้าไปก่อตัวเป็นพายุที่รุนแรง และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นยังส่งผลให้คลื่นพายุซัดฝั่งอาจมีความสูงเกินปราการปกป้องชายฝั่งที่มนุษย์สร้างไว้
“พายุหมุนต่างๆ จะมีความรุนแรงขึ้น มีพิษสงสร้างความเสียหายมากขึ้น และคาดว่าจะนำฝนมามากขึ้นด้วย” นายโบครี ระบุ
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ฟิลิปปินส์เร่งอพยพประชาชนหนีไต้ฝุ่น “มังคุด”