ประเด็นสำคัญ
- ชายหาดหลายแห่งในออสเตรเลียถูกปิดในช่วงฤดูร้อนปีนี้ เนื่องจากการพบเห็นและเผชิญหน้ากับฉลาม
- ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าโอกาสที่จะเผชิญหน้าหรือถูกฉลามจู่โจมนั้นยังคงต่ำ
- มีคำแนะนำให้ประชาชนว่ายน้ำในพื้นที่ที่มีการลาดตระเวน และปฏิบัติตามคำเตือนด้านความปลอดภัย และว่ายน้ำเป็นกลุ่ม
ฤดูร้อนปีนี้ มีการอพยพผู้คนออกจากชายหาดหลายแห่งทั่วออสเตรเลีย เนื่องจากมีการพบเห็นและเผชิญหน้ากับฉลาม
ในซิดนีย์ ไลฟ์การ์ดปิดหาดเชลลีย์ (Shelley) และแมนลี (Manly) หลังจากปลาโลมาตัวหนึ่งถูกฉลามหัวบาตร (bullshark) ตัวรุมขย้ำเมื่อวันที่ 21 มกราคม ปีนี้ ขณะที่ในวันที่ 3 มกราคม ชายหาดปาล์ม บีช (Palm Beach) ถูกปิดหลังมีการพบเห็นฉลามหัวค้อนมากถึง 15 ตัว
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ มีผู้พบเห็นฉลามติดอวนที่แมนลี โคฟ (Manly Cove)
ในเมืองเพิร์ท มีผู้พบเห็นฉลามเสือที่อยู่ห่างจากประชาชนที่ว่ายน้ำอยู่เพียงไม่กี่เมตร ที่หาดมัลลาลู (Mullaloo Beach) เมื่อวันที่ 9 มกราคม และในวันที่ 31 มกราคม ชายหาดสวอนบอร์นก็ถูกปิดหลังจากการพบเห็นฉลามหัวค้อน
เมื่อวันที่ 26 มกราคม ชายสองคนกำลังตกปลาอยู่นอกชายฝั่งรัฐวิกตอเรีย เมื่อฉลามขาวตัวหนึ่งว่ายน้ำเข้ามาขย้ำเครื่องยนต์เรือของพวกเขา
แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างกล่าวว่า แม้ว่าประชาชนควรจะตื่นตัวและระมัดระวังเมื่อมีการพบเห็นฉลามตามชายหาด แต่โอกาสที่จะพบฉลามยังคงต่ำ
นี่คือสิ่งที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับฉลาม วิธีเล่นน้ำอย่างปลอดภัย และสิ่งที่คุณควรทำหากเจอฉลาม
โอกาสเจอฉลามมี 'น้อยมาก'
คุณเชน ดอว์ ผู้จัดการทั่วไปด้านความปลอดภัยบริเวณชายฝั่งของเซิร์ฟ ไลฟ์ เซฟวิง ออสเตรเลีย (Surf Life Saving Australia) กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์ ว่า โอกาสที่จะเจอฉลามนั้นยังน้อยอยู่
“โอกาสที่จะมีคนเจอฉลามและรู้ว่าได้เจอฉลามนั้นน้อยมาก” คุณดอว์ กล่าว
โอกาสที่จะมีคนเจอฉลามและรู้ว่าได้เจอฉลามนั้นน้อยมากคุณเชน ดอว์ ผู้จัดการทั่วไปด้านความปลอดภัยบริเวณชายฝั่งของ Surf Life Saving Australia
“หากเรามองอย่างกว้างๆ ไปที่ชายหาด 12,000 แห่งทั่วออสเตรเลีย เรารู้ว่ามีฉลามอยู่ในน่านน้ำทั้งหมดของเรา แต่ส่วนใหญ่เรามักมองไม่เห็นพวกมัน และจะไม่เป็นภัยคุกคามหรือทำอันตรายใดๆ ต่อผู้คน”
จากรายงานความปลอดภัยแห่งชาติประจำปี 2022 ของ เซิร์ฟ ไลฟ์ เซฟวิง ออสเตรเลีย (Surf Life Saving Australia) ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตตามชายฝั่ง 208 รายทั่วประเทศ โดย 141 รายเสียชีวิตจากการจมน้ำ
ในจำนวนนั้น 8 เปอร์เซ็นต์เกิดจากสัตว์ทะเล ซึ่งรวมถึงสิ่งมีชีวิตอย่างปลากระเบนราหูยักษ์และจระเข้ ตลอดจนปลาฉลาม
'เราไม่ใช่อาหารที่พวกมันอยากกิน'
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าจำนวนเหตุการณ์อพยพผู้คนออกจากชายหาดและจำนวนการพบเห็นฉลามที่ชายหาด ไม่ได้บ่งชี้ว่ามีจำนวนฉลามเพิ่มขึ้นในน่านน้ำของเราเสมอไป
รศ.แดริล แมคฟี ผู้เชี่ยวชาญด้านฉลาม ที่มหาวิทยาลัยบอนด์ ในรัฐควีนส์แลนด์ กล่าวว่า การเฝ้าติดตามและเทคโนโลยีช่วยให้เราพบเห็นฉลามได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้มีการแจ้งการพบเห็นและมีการอพยพผู้คนออกจากชายหาดบ่อยครั้งมากขึ้น
“สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือเราตรวจพบฉลามได้ดีขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการใช้โดรน ดังนั้น นั่นจึงมีส่วนทำให้เกิดการอพยพผู้คนออกจากชายหาดอย่างที่เห็น” รศ.แดริล แมคฟี กล่าว
"ฉลามอาจตื่นตัวในการออกหากินมากขึ้นในช่วงเวลานี้ของปี อาจมีปลาจำนวนค่อนข้างมากอยู่ในน้ำ ดังนั้นฉลามจึงจะอยู่ที่บริเวณชายหาดตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และพื้นที่"
รศ.แมคฟี กล่าวว่า ดูเหมือนว่าฤดูกาลในปีนี้จะไม่ได้อันตรายมากกว่าปีก่อนๆ
"ผมไม่คิดว่ามันแตกต่างจากปีก่อนๆ มันอยู่ในขอบเขตที่ผมคาดว่าจะเห็น"
คุณดอว์กล่าวว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ต้องเข้าใจว่าฉลามมีแนวโน้มที่จะไม่พุ่งเป้าไปยังมนุษย์ และการเผชิญหน้าหรือการจู่โจมหลายครั้งเกิดขึ้นโดยบังเอิญ
“ผลการวิจัยทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า พวกเราไม่ใช่อาหารที่พวกมันอยากกิน” คุณดอว์ กล่าว
"การเผชิญหน้า 2-3 ครั้ง เกิดขึ้นเมื่อผู้คนออกไปตกปลาด้วยฉมวกและไล่ตามฝูงปลา แล้วฉลามก็เข้ามากัดกินปลา ... หรือกรณีอื่นๆ เกิดขึ้นเมื่อนักเล่นกระดานโต้คลื่นนั่งบนกระดาน ซึ่งทำให้ดูเหมือนแมวน้ำหรือปลาตัวใหญ่ แล้วฉลามก็เลยเข้ามาเพื่อที่จะกิน"
เมื่อใดที่เรามีโอกาสมากที่สุดที่จะเห็นฉลาม?
แม้ว่าฉลามจะอยู่ในน่านน้ำของเราตลอดทั้งปี แต่ก็มีบางช่วงของปีที่คุณอาจพบเห็นพวกมันได้มากกว่าช่วงอื่นๆ
คุณดอว์ กล่าวว่า ฉลามจะตื่นตัวในการออกหากินมากขึ้นเนื่องจากการอพยพของฝูงปลา โดยฉลามจะว่ายน้ำตามฝูงปลา เพื่อหาโอกาสกินพวกมัน
"สำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่ของออสเตรเลีย ระหว่างเดือนกันยายนตลอดจนถึงราวเดือนธันวาคม เราจะเห็นการเพิ่มขึ้นของฝูงปลาที่อพยพผ่านน่านน้ำชายฝั่งของเรา และดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบฉลามมากขึ้น เพราะเห็นได้ชัดว่ามีฉลามที่ติดตามฝูงปลาเพื่อจะกินเป็นอาหาร"
เขากล่าวว่าจำนวนนักว่ายน้ำที่มากขึ้นในสภาพอากาศที่อบอุ่นและตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็มีส่วนทำให้มีการพบเห็นฉลามมากขึ้นเช่นกัน
“ในรัฐควีนส์แลนด์ มีอากาศที่ร้อนขึ้น มีประชากรมากขึ้นและมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ดังนั้นโอกาสในการพบเห็นฉลามก็จะมากขึ้น” เขากล่าว
“ไม่ได้หมายความว่ามีฉลามมากขึ้น แต่ถ้ามีคนจำนวนมากออกไปเที่ยวเป็นประจำ โอกาสที่จะพบเห็นหรือเผชิญหน้ากับฉลามก็จะเพิ่มมากขึ้น”
เราควรทำอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงฉลาม?
เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าฉลามโดยไม่ตั้งใจ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ว่ายน้ำในพื้นที่ที่มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน ว่ายน้ำเป็นกลุ่ม และให้ระมัดระวังอย่างมากหากมีฝูงปลาอยู่ใกล้ๆ
“สิ่งแรกคือการว่ายน้ำที่ชายหาดที่มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน คือว่ายน้ำระหว่างธงแดงและธงเหลือง เพราะเจ้าหน้าที่กู้ภัยและไลฟ์การ์ด (เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือคนจมน้ำ) จะมีข้อมูล หากมีการพบเห็นฉลามเมื่อไม่นานมานี้” คุณดอว์ กล่าว
ได้มีการพบเห็นฉลามจนต้องปิดชายหาดเกิดขึ้นหลายครั้งทั่วออสเตรเลียในฤดูร้อนปีนี้ Source: Getty
คุณดอว์กล่าวว่า เป็นการดีที่สุดที่จะไม่ว่ายน้ำคนเดียว เนื่องจากดูเหมือนว่าฉลามมักจะไม่ยุ่งกับคนที่มาเป็นกลุ่ม
"ด้วยการว่ายน้ำกับคนอื่น ก็มีโอกาสมากขึ้นที่คุณจะไม่เจอฉลาม แต่หากมีการเผชิญหน้าเกิดขึ้น ถ้าคุณมีคนอื่นอยู่รอบๆ พวกเขาก็จะสามารถช่วยเหลือคุณได้"
ด้วยการว่ายน้ำกับคนอื่น ก็มีโอกาสมากขึ้นที่คุณจะไม่เจอฉลามเชน ดอว์ จาก Surf Life Saving Australia
จะทำอย่างไรถ้าเราเห็นฉลาม?
หากคุณพบเห็นฉลามในน้ำ โครงการ SharkSmart ของรัฐบาลนิวเซาธ์เวลส์แนะนำให้คุณรีบแจ้งหน่วยกู้ภัยหรือไลฟ์การ์ดที่ปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณนั้นโดยเร็วที่สุด
หากมีเสียงสัญญาณเตือนภัยเกี่ยวกับฉลามดังขึ้นในขณะที่คุณกำลังว่ายน้ำอยู่ คุณควรรีบขึ้นจากน้ำทันที
คุณดอว์กล่าวว่า หากคุณพบเห็นฉลามในน้ำ สิ่งสำคัญคือต้องรีบดำเนินการอย่างรวดเร็วและตั้งสติ
พยายามควบคุมสติอารมณ์ อย่าทำให้น้ำสาดกระจายหรือกระเพื่อมมากนัก เพราะฉลามอาจคิดว่าเป็นปลาเชน ดอว์ จาก Surf Life Saving Australia
“พยายามควบคุมสติอารมณ์ อย่าทำให้น้ำสาดกระจายหรือกระเพื่อมมากนัก เพราะฉลามอาจคิดว่าเป็นปลา” คุณดอว์ กล่าว
"ตั้งสติ เคลื่อนไหวช้าๆ มุ่งหน้ากลับเข้าฝั่ง และแจ้งเตือนคนอื่นๆ ในบริเวณนั้น"
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
วิธีระวังภัยเมื่อไปทะเลในออสเตรเลีย