นักพิทักษ์สิทธิต่างเตือนว่า ผู้อพยพย้ายถิ่นที่อยู่ในออสเตรเลียอย่างผิดกฎหมายหลายหมื่นคน เสี่ยงตกอยู่ในภาวะยากจนข้นแค้นและไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ในช่วงวิกฤตไวรัสโคโรนา ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการคุ้มครองบุคคลที่ไม่ใช่พลเมืองให้มากกว่านี้
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหพันธรัฐคาดการณ์ว่ามีผู้อพยพย้ายถิ่นที่ขณะนี้อาศัยและทำงานอยู่ในออสเตรเลียอย่างผิดกฎหมายกว่า 64,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่เกินเวลาที่กำหนดไว้ในวีซ่าของพวกเขา แต่จำนวนที่แท้จริงของผู้คนเหล่านี้นั้นยังไม่มีใครรู้แน่ชัด
เพราะการอยู่อย่างไม่ปรากฎตัวของคนกลุ่มนี้ ที่ทำให้นักพิทักษ์สิทธิเชื่อว่า คนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตไวรัสโควิด-19
เมื่อไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะอยู่ในออสเตรเลีย ผู้อพยพย้ายถิ่นที่ไม่มีวีซ่าจึงไม่สามารถรับความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมได้ หากพวกเขาตกงาน อีกทั้งยังไม่มีสิทธิ์ถือบัตรเมดิแคร์ด้วย
คนกลุ่มนี้หลายคนยังเกรงว่าพวกเขาจะต้องเปิดเผยสถานะด้านวีซ่าของตน เมื่อไปรับบริการด้านการแพทย์ จึงทำให้มีความเป็นห่วงว่าเชื้อไวรัสโคโรนาอาจแพร่ระบาดไป โดยทางการไม่สามารถตรวจสอบได้
โมฮาเหม็ด* เดินทางจากมาเลเซียมายังออสเตรเลียด้วยวีซ่าท่องเที่ยวในปี 2013 เขาบอกกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่า ก่อนหน้านี้เขามีปัญหาอย่างหนักในการขอรับบริการทางการแพทย์สำหรับโรคหอบหืดของเขา และตอนนี้ เขาวิตกว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเขาติดเชื้อไวรัสโควิด-19
“เมื่อ 2-3 ปีก่อน ผมเกิดอาการหอบหืดอย่างรุนแรงเฉียบพลัน และผมพยายามไปโรงพยาบาล แต่พวกเขาบอกว่า ผมต้องจ่ายเงิน 400 ดอลลาร์เพราะผมไม่มีบัตรเมดิแคร์” โมฮาเหม็ด กล่าว “ผมรู้สึกว่ามันจะยากลำบากสำหรับผมหากผมติดเชื้อโควิด-19 มันจะลำบากมากๆ”
หลังอยู่เกินเวลาที่กำหนดไว้ในวีซ่าแล้ว โมฮาเหม็ด ซึ่งขณะนี้อายุ 20 ปีเศษ ได้ทำงานอย่างผิดกฎหมายในฟาร์มมาหลายปี โดยมักทำงานเก็บผลไม้ ซึ่งเขาได้รับค่าจ้างน้อยนิดเพียง 1.20 ดอลลาร์ต่อผลไม้ที่เก็บได้ 1 กล่อง
“ผมได้อยู่อย่างถูกกฎหมาย ต่อมาก็อยู่แบบผิดกฎหมาย แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นถูกกฎหมายอีกครั้ง” เขากล่าว พร้อมเสริมว่า เขาเดินทางมาออสเตรเลีย เพราะมีคนบอกว่า เขาจะสามารถหาเงินไปช่วยเหลือครอบครัวได้ขณะนี้ โมฮาเหม็ดถือวีซ่าชั่วคราวประเภท บริดจิง วีซ่า อี ขณะที่กำลังรอการพิจารณาวีซ่าลี้ภัย แต่เขายังคงทำงานอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ส่วนภูมิภาคของรัฐวิกตอเรีย ซึ่งเขาได้รับการจ่ายค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย เขามีเงินพอเพียงแค่จ่ายค่าเช่าที่พัก ที่เขาอยู่ร่วมกับคนอื่นอีก 4 คน และมีเงินพอแค่จ่ายค่าของชำที่ซื้อมาทำอาหารเท่านั้น
Temporary visa holders face significant financial hardship during the coronavirus crisis. Source: AAP
คุณแชนมาตี เวอร์มา ทนายความด้านการตรวจคนเข้าเมือง และผู้ก่อตั้งกลุ่มพิทักษ์สิทธิผู้อพยพย้ายถิ่นที่ไม่มีเอกสารรับรองสถานะชื่อกลุ่ม อันดอกคูเมนเท็ด ไมแกรนต์ โซลิดาริตี (Undocumented Migrants Solidarity) กล่าวว่า เรื่องราวของโมฮาเหม็ดนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากจะพบเห็น
“เมื่อพูดถึงผู้ที่อยู่อย่างไม่มีเอกสารรับรองสถานะ คนมักคิดถึงประเทศอื่น อย่างสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ซึ่งมีพรมแดนทางบก ที่หมายความว่าผู้คนสามารถเดินทางเข้าไปยังประเทศหนึ่งหรือประเทศอื่นได้โดยไม่ต้องมีเอกสารอนุญาตอย่างเป็นทางการ ระบบการอพยพย้ายถิ่นของออสเตรเลียดำเนินการในรูปแบบที่เป็นการมอบสถานะให้ และจากนั้น ก็มีหลายวิธีที่จะยกเลิกสถานะนั้น” คุณเวอร์มา กล่าว
นั่นหมายความว่า ผู้อพยพย้ายถิ่นที่อยู่อย่างผิดกฎหมายส่วนใหญ่ในออสเตรเลีย เป็นผู้ที่อยู่เกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวีซ่าชั่วคราวของพวกเขา ซึ่งคาดกันว่าจำนวนของคนกลุ่มนี้ ไม่มีใครสามารถระบุจำนวนได้แน่ชัด คุณเวอร์มา กล่าว
ในปี 2017 คณะกรรมาธิการวุฒิสภา ได้รับแจ้งว่า คาดว่าจะมีผู้คนที่อาศัยอยู่เกินเวลาที่กำหนดในวีซ่าของพวกเขาราว 64,000 คนในออสเตรเลีย และในจำนวนนั้นราว 6,600 คนอาศัยอยู่ในออสเตรเลียมานานราว 15-20 ปี
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ออสฯ แนะผู้วีซ่าใกล้หมด-กลับบ้านไม่ได้ติดต่ออิมฯ ด่วน
แต่คุณเวอร์มา และรองศาสตราจารย์ มารี เซเกรฟส์ ของมหาวิทยาลัยโมนาช ผู้ซึ่งตีพิมพ์ผลการศึกษาวิจัยด้านประสบการณ์ของลูกจ้างที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียอย่างผิดกฎหมาย เชื่อว่า จำนวนของคนกลุ่มนี้น่าจะสูงขึ้นอย่างมาก และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“จากวิกฤตด้านสาธารณสุขขณะนี้ การวิเคราะห์และรายงานด้านการอพยพย้ายถิ่นทุกรูปแบบชี้ว่า เนื่องจากการตอบสนองที่เชื่องช้าและมีอคติของรัฐบาล ทำให้จำนวนผู้คนที่อยู่อย่างไม่มีเอกสารรับรองสถานะในออสเตรเลียและถูกปล่อยเกาะอย่างแท้จริงเลยนั้น จำนวนคนเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างยกกำลัง” คุณเวอร์มา กล่าว
“ดังนั้น จำนวนพื้นฐานอยู่ที่ 100,000 คน ซึ่งมีแต่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น”
เนื่องจากลักษณะที่หมิ่นเหม่ของการทำงานอย่างผิดกฎหมาย ที่ลูกจ้างผู้อพยพที่ไม่มีวีซ่ามักได้รับค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด ดร.เซเกรฟส์ กล่าวอีกว่า ลูกจ้างผู้อพยพที่ไม่มีวีซ่ามักอาศัยอยู่ในที่พักที่แออัด จึงหมายความว่า การรักษาระยะห่างทางสังคมจึงเป็นไปไม่ได้เลย
“ลูกจ้างส่วนใหญ่ที่ฉันได้ติดต่อไป ที่ทำงานอยู่ในสภาพนี้ กำลังอาศัยอยู่กับคนอื่นๆ หลายคน แต่มีแนวโน้มที่จะย้ายไปที่นั่นที่นี่หลายแห่ง เพราะพวกเขากำลังมองหาโอกาสในการทำงาน” ดร.เซเกรฟส์ กล่าว
“ดังนั้น ทั้งสองประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าวิตกอย่างมากจากมุมมองด้านสาธารณสุข”
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ผีแฉแต่งสามีเพื่อวีซ่าแต่เสียท่าถูกเนรเทศ
สถานการณ์นี้นั้นซับซ้อนยิ่งขึ้นจากการที่อุตสาหกรรมหลายประเภท ที่ต้องสงสัยว่าจ้างงานลูกจ้างไม่มีวีซ่าเป็นจำนวนมากนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่จำเป็น
รายงานฉบับหนึ่งของมหาวิทยาลัยแอดิเลด ที่ตีพิมพ์ในปี 2019 พบว่าเกษตรกรชาวออสเตรเลียจำนวนมากกำลังต้องเลือกระหว่างการจ้างลูกจ้างที่ไม่มีวีซ่า หรือต้องปล่อยให้ผลผลิตของพวกเขาเสียหาย “มาตรฐานแรงงานที่ต่ำและการเอาเปรียบลูกจ้างกลายเป็นบรรทัดฐานตามปกติในกระจุกหนึ่งของตลาดการผลิตพืชผลทางการเกษตร" รายงานดังกล่าวระบุ
“ฟาร์มต่างๆ กลายเป็นความลับที่เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้เอง” คุณเวอร์มา กล่าว และเสริมว่า อุตสาหกรรมการทำความสะอาดพื้นที่การค้า อุตสาหกรรมการจัดส่งสินค้า และอุตสาหกรรมการฆ่าสัตว์ ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีลูกจ้างไม่มีวีซ่าทำงานอยู่มากมายด้วย
“สาขาทั้งหมดเหล่านี้ของเศรษฐกิจจำเป็นต้องดำเนินต่อไปในช่วงการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนไปอย่างมีนัยสำคัญโดยผู้คนที่ไม่มีวีซ่า หรือผู้ที่มีวีซ่าแต่วีซ่ากำลังจะหมดอายุ และไม่มีการจัดการใดๆ ต่อจากนั้น”
นอกจากนี้ ยังมีความวิตกด้วยว่า ขณะที่อุตสาหกรรมต่างๆ กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา อุตสาหกรรมต่างๆ อาจหันไปพึ่งพาลูกจ้างที่ไม่มีวีซ่ามากขึ้น ซึ่งลูกจ้างเหล่านี้จะถูกบีบให้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าและมีสภาพการทำงานที่เลวร้าย
“ฉันคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่การเอารัดเอาเปรียบเหล่านั้นจะดำเนินต่อไป และมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นด้วย” ดร.เซเกรฟส์ ระบุ “และลูกจ้างเหล่านั้นจะมีแรงจูงใจน้อยลงไปอีกในการไปขอรับความช่วยเหลือ เพราะการขาดแคลนงานอื่นๆรองรับ”
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
เปลี่ยนเป้า ‘คนเรือ’ เป็น ‘คนเครื่องบิน’ คนไทยส่วนหนึ่งถูกจับตา
จนถึงขณะนี้ กลุ่มของคุณเวอร์มา เรี่ยไรเงินได้กว่า 41,000 ดอลลาร์จากการระดมเงินบริจาคออนไลน์ สำหรับเป็นกองทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพย้ายถิ่นที่ไม่มีวีซ่า ที่เดือดร้อนทางการเงินในช่วงการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา
กลุ่มดังกล่าว กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยรับประกันว่าผู้อพยพเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงบริการของเมดิแคร์ได้ โดยไม่เกี่ยงว่าพวกเขาจะมีสถานะวีซ่าอย่างไร
รัฐวิกตอเรีย นิวเซาท์เวลส์ และเวสเทิร์นออสเตรเลีย ได้งดเว้นการเก็บค่ารักษาพยาบาลเป็นการชั่วคราวสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พลเมืองที่ไม่มีประกันการเดินทาง และติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ผู้พิทักษ์สิทธิกล่าวว่า มาตรการนี้นั้นไม่กว้างขวางเพียงพอที่จะช่วยลดความหวาดกลัวของผู้ไม่มีวีซ่าที่จะกล้าออกมาขอรับบริการทางการแพทย์
“แม้แต่ภายในรัฐวิกตอเรีย ซึ่งตรวจเชื้อจะเริ่มเปิดกว้างขึ้น ก็จำเป็นต้องมีการหารือกันกับชุมชนและกลุ่มผู้พิทักษ์สิทธิต่างๆ อย่างระมัดระวัง เพื่อแจ้งให้ผู้คนรู้ว่า เมื่อมีการตรวจเชื้อประชาชนในวงกว้าง จะไม่มีใครถามถึงสถานะวีซ่าของพวกเขา เพราะเราต้องการให้ผู้คนกล้าออกมารับการตรวจเชื้อ” ดร.เซเกรฟส์ กล่าว
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ถึงเป็นผีไม่มีวีซ่าแต่ไม่ต้องทนให้ใครข่มเหง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายอลัน ทัดจ์ รัฐมนตรีด้านการตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลีย กล่าวว่า ผู้อพยพย้ายถิ่นที่ถือวีซ่าชั่วคราว ที่วีซ่าของพวกเขากำลังจะหมดอายุ และไม่มีหนทางเดินทางกลับประเทศ ให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง
“หากไม่มีเที่ยวบินจริงๆ และพวกเขาวิตกว่าวีซ่าของพวกเขาจะหมดอายุลง พวกเขาก็ควรโทรศัพท์ติดต่อกรมตรวจคนเข้าเมืองอย่างเร่งด่วน”
โฆษกของกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “ทุกคนในออสเตรเลีย ไม่ว่าจะมีสถานะวีซ่าอย่างใด ควรปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติด้านสุขภาพที่มีขณะนี้ และไปขอรับการรักษาและไปรับการตรวจเชื้อหากไม่สบาย”
กระทรวงมหาดไทยยังขอให้ทุกคนที่อยู่ในออสเตรเลียอย่างผิดกฎหมาย ให้ออกมาขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ของตนอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
*มีการเปลี่ยนชื่อให้เป็นชื่อสมมุติ
ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร และห้ามรวมกลุ่มกันเกิน 2 คน นอกจากว่าจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันกับคุณหรืออยู่ในครัวเรือนเดียวกัน
หากคุณเชื่อว่าคุณอาจติดเชื้อไวรัสโคโรนา ให้โทรศัพท์ปรึกษาแพทย์ (อย่าเดินทางไปที่คลินิก) หรือให้ติดต่อโทรศัพท์สายด่วนด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา ที่หมายเลข 1800 020 080
หากคุณเริ่มมีปัญหาหายใจติดขัด หรือกำลังประสบสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ ให้โทรศัพท์ไปที่หมายเลข 000 เพื่อเรียกรถพยาบาล
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
ออสฯ แนะผู้วีซ่าใกล้หมด-กลับบ้านไม่ได้ติดต่ออิมฯ ด่วน