รายการวิทยุ เอสบีเอส ไทย ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
พรรคฝ่ายค้านกำลังพยายามให้เปลี่ยนเป้าความสนใจทางการเมืองจาก ‘โบ้ท พีเพิล’ หรือผู้ขอลี้ภัยที่เดินทางมาทางเรือ ให้เปลี่ยนไปเป็น ‘แอร์เพลน พีเพิล’ หรือผู้ขอลี้ภัยที่เดินทางมาทางเครื่องบินแทน
นางคริสตินา เคนีลลี โฆษกด้านมหาดไทย ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่ของพรรคฝ่ายค้าน กล่าวหานายปีเตอร์ ดัทตัน ว่าไม่สามารถควบคุมการเดินทางเข้ามายังออสเตรเลียทางอากาศได้
“นี่มีหลักฐานยืนยันจากจำนวนที่พุ่งสูงขึ้นของผู้ขอลี้ภัยที่เดินทางมายังออสเตรเลียทางเครื่องบิน” วุฒิสมาชิกเคนีลลี กล่าว
จำนวนผู้ที่สมัครขอลี้ภัยที่เดินทางมาทางเครื่องบินได้พุ่งสูงขึ้นเป็นจำนวนเกือบ 28,000 คนในปีการเงินที่แล้ว ขณะที่มีจำนวน 18,290 คนในปีการเงิน 2016-2017 และ 9,554 คนในปี 2015-2016
ผู้สมัครขอลี้ภัยจากจีนและเมเลเซียมีสัดส่วนสูงสุดในหมู่ผู้สมัครขอลี้ภัยที่เพิ่มขึ้น
น้อยกว่า 1 ใน 5 ของผู้สมัครขอลี้ภัยประสบความสำเร็จได้รับสถานะผู้ลี้ภัย แต่ผู้สมัครจำนวนมากยังคงอยู่ในออสเตรเลียต่อไปด้วยบริดจิงวีซ่า ขณะที่พวกเขาดำเนินการอุทธรณ์คำตัดสิน ซึ่งอาจใช้เวลานานเป็นปี
นายจอห์น คอยน์ หัวหน้าด้านนโยบายกลยุทธ์และการบังคับใช้กฎหมาย ของสถาบันนโยบายกลยุทธ์แห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ผู้ขอลี้ภัยที่เดินทางมาทางเครื่องบินเป็นสิ่งที่ทวีปยุโรปและประเทศอังกฤษประสบความยากลำบากในการควบคุมจำนวนผู้คนเหล่านี้มานานแล้ว
“หากเราไม่ระวัง เราอาจเป็นเหมือนพวกเขา สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนเหล่านั้นจำนวนมากที่ไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัย หรือไม่ได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัย สุดท้ายแล้วก็ไม่เดินทางออกจากอังกฤษเลย” ดร.คอยน์ บอกกับ เอสบีเอส นิวส์
“พวกเขาเข้าไปอยู่ในพื้นที่สีเทาที่ก้ำกึ่งกันระหว่างการอพยพย้ายถิ่นกับการเป็นพลเมือง และนั่นส่งผลให้เกิดปัญหามากมายเรื่องการเชื่อมแน่นทางสังคมตามมา”
ดร.คอยน์ กล่าวว่า มีความผิดปกติที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์พรมแดนจะสามารถมองหาเพื่อระบุชี้บุคคลที่มีแนวโน้มจะเดินทางเข้ามายังออสเตรเลียอย่างผิดวัตถุประสงค์ของวีซ่าได้
“เราต้องมองหาคนที่มีการเตรียมการด้านการเดินทางอย่างแปลกๆ พวกเขาจองสิ่งต่างๆ ด้วยเงินสด หรือด้วยวิธีการอื่นๆ”
เขายังยกตัวอย่างของหญิงสาวชาวไทยจำนวนหนึ่ง ที่มาจากพื้นที่ยากจนของประเทศ พวกเธอพูดภาษาอังกฤษได้น้อยมาก หรือพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่มายังออสเตรเลียด้วยวีซ่านักเรียน
“สิ่งที่พวกเขาจะไม่ทำคือสร้างสิ่งที่เป็นเหมือนกำแพงนายทรัมป์ขึ้นมาเพื่อกีดกันผู้คนเป็นวงกว้าง แต่นี่เป็นวิธีการที่พุ่งเป้าอย่างเจาะจง”
ผู้ลักลอบนำคนเข้าเมืองได้อะไร?
นายอาบูล ริซวี ที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงตรวจคนเข้าเมือง ระหว่างช่วงต้นปีทศวรรษ 1990-2007 เคยเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการปราบปรามกรณีลักลอบนำชาวนา ชาวไร่ และกรรมกรจากประเทศมาเลเซียเข้ามาในออสเตรเลีย
เขากล่าวว่า ผู้ลักลอบนำคนเข้าประเทศหลอกล่อผู้คนด้วยการสัญญาว่าจะมีงานทำในออสเตรเลีย และจะยื่นเรื่องสมัครขอลี้ภัยให้ เพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานได้ในออสเตรเลีย ขณะที่รอผลการสมัครขอลี้ภัย
“จากนั้นผู้คนเหล่านั้นก็ถูกนำตัวไปยังฟาร์มต่างๆ หรือไปยังร้านอาหาร หรือร้านขายเซ็กซ์ชอป เพื่อให้ทำงานที่นั่น” นายริซวี กล่าว
ผู้อยู่เบื้องหลังการหลอกลวงดังกล่าวได้รับค่าคอมมิชชัน หรือค่าหัวคิว สำหรับลูกจ้างเหล่านั้นแต่ละคนที่พวกเขาจัดหามาให้ และโดยมากมักได้รับเงินตอบแทนเป็นจำนวนเปอร์เซนต์ของค่าจ้างสำหรับลูกจ้างเหล่านั้นด้วยนายริซวี กล่าวว่า การประเมินใบสมัครและการปฏิเสธใบสมัครขอลี้ภัยอย่างรวดเร็วเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการลดจำนวนผู้สมัครที่มีจุดประสงค์ไม่ตรงกับวีซ่า
มีการสงสัยว่าผู้ลักลอบนำคนเข้าเมืองหลอกล่อให้ประชาชนเดินทางมาทำงานในออสเตรเลียและบอกว่าจะสมัครขอวีซ่าผู้ลี้ภัยให้ (Wikimedia_commons) Source: Wikimedia Commons
“ด้วยการพิจารณาและประเมินใบสมัครอย่างรวดเร็ว เราจะสามารถกีดกันไม่ให้ผู้ลักลอบนำคนเข้าเมืองได้เงินที่พวกเขาต้องการได้ ไม่ได้กำไรจากกลการหลอกลวงนี้ และผู้ลักลอบนำคนเข้าเมืองก็จะลดลง”
เขากล่าวโทษการพิจารณาวีซ่าที่ล่าช้าว่าเป็นสาเหตุทำให้จำนวนคนเข้าประเทศที่มาอย่างผิดวัตถุประสงค์ของวีซ่ามีจำนวนมากในปัจจุบัน
“ผมคิดว่าแน่นอนทีเดียวที่ผู้ลักลอบนำคนเข้าเมืองกำลังหัวเราะเยาะเราอยู่ พวกเขาหาเงินได้จำนวนมาก อย่างง่ายดาย เรากำลังเป็นตัวตลก”
เอสบีเอส นิวส์ ได้ติดต่อสำนักงานของนายปีเตอร์ ดัทตัน รัฐมนตรีมหาดไทยเพื่อขอความเห็นเรื่องนี้ และได้รับแจ้งให้ใช้ข้อมูลอ้างอิงจากนายเดวิด โคลแมน รัฐมนตรีด้านการตรวจคนเข้าเมือง ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ สกาย นิวส์
นายโคลแมน บอกกับ สกาย นิวส์ ว่า ผู้สมัครขอลี้ภัยที่เดินทางมาทางเครื่องบิน ร้อยละ 95 ถูกปฏิเสธสถานะผู้ลี้ภัย
"การยื่นสมัครขอสถานะผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องหนึ่ง การสมัครจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และหากคุณไม่ประสบความสำเร็จ คุณก็ต้องกลับบ้านไป"
“ประชาชนที่เดินทางมาถึงด้วยวิธีดังกล่าวได้ทำอย่างถูกกฎหมายด้วยวีซ่าที่มีผลตามกฎหมาย พวกเขาไม่ได้เสี่ยงชีวิตของตนเอง และว่าไปแล้ว พวกเขาไม่ได้ทำให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์พรมแดนของออสเตรเลียต้องเสี่ยงชีวิต เหมือนคนที่เดินทางมาทางเรือ”
รายการวิทยุ เอสบีเอส ไทย ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
รู้ทันกลโกงการหลอกลวงเรื่องวีซ่า
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
อะไรทำได้ ทำไม่ได้ จากข้อจำกัดการใช้น้ำในซิดนีย์