ต่างชาติยังทวงถาม เกาะสวรรค์ของเมืองไทยหรือ ‘เกาะแห่งความตาย’

The New York Times: นักท่องเที่ยวชาวยุโรปอย่างน้อยเก้าคนเสียชีวิตหรือหายตัวไปที่เกาะเต่าตั้งแต่ปี 2014

Koh Tao in Thailand. Source: Getty

เกาะเต่าที่ประเทศไทย Source: Getty Images

By Richard C. Paddock, Muktita Suhartono © 2018 The New York Times

You can read the full version of this story in English on SBS News .

เดอะนิวยอร์คไทม์: เกาะสวรรค์ของเมืองไทยขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เกาะแห่งความตาย’

ผู้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเรียกเกาะเต่าของประเทศไทยว่าเป็นเกาะสวรรค์ รีสอร์ตสำหรับดำน้ำก็อวดน้ำทะเลที่ใสราวกับกระจก และนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกก็แห่กันไปที่บาร์ริมหาดอันแสนรื่นเริง

แต่ทว่าเกาะเต่าก็เริ่มมีชื่อเสียงซึ่งน่าหวาดกลัวท่ามกลางชาวต่างชาติจำนวนหนึ่ง โดยมีนักท่องเที่ยวชาวยุโรปอย่างน้อยเก้าคนเสียชีวิตหรือหายตัวไปที่เกาะเต่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 และหนังสือพิมพ์ซุบซิบของประเทศอังกฤษก็เริ่มใช้คำว่าเกาะแห่งความตาย

ล่าสุด นักท่องเที่ยววัย 19 ปีชาวอังกฤษคนหนึ่งได้อ้างว่าเธอถูกข่มขืนบนเกาะเต่าเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งก็ทำให้มีการพุ่งความสนใจไปยังประวัติอันมีปัญหาของเกาะดังกล่าวอีกครั้ง และมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการรับมือของตำรวจต่ออาชญากรรมซึ่งเกิดกับเหล่านักท่องเที่ยว

ในเบื้องต้น ตำรวจได้ปฏิเสธว่ามีการข่มขืนเกิดขึ้นและจับกุมคนเป็นจำนวนกว่าสิบรายเนื่องจากการโพสต์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวทางเฟซบุ๊ก ตำรวจยังได้ออกหมายจับบรรณาธิการออนไลน์ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในประเทศอังกฤษ และผู้บริหารเพจเฟซบุ๊กอีกรายหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย

หลังจากได้เริ่มทำการสืบสวนและสอบสวนสตรีรายดังกล่าวที่ประเทศอังกฤษ ตำรวจกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า ไม่พบหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของเธอและก็ได้ปิดคดีลง โดยพวกเขากล่าวว่าจะเปิดคดีขึ้นอีกหากมีพยานหลักฐานใหม่เพิ่มขึ้น
Thai workers carry the bodies of two British tourists on Koh Tao.
Thai workers carry the bodies of two British tourists on Koh Tao. Source: Getty
การตัดสินใจดังกล่าว ทำให้มารดาของสตรีคนดังกล่าวนั้นผิดหวังและโกรธขึ้ง โดยเธอยืนยันว่าบุตรสาววัย 19 ปีนั้นพูดความจริง และยังกล่าวหาว่าทางตำรวจนั้นดำเนินการสอบสวนอย่างผิดพลาด และทำการปกปิดอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบนเกาะดังกล่าว

“ทั้งหมดเป็นเรื่องปาหี่ตั้งแต่แรกสุด” เธอกล่าวผ่านโทรศัพท์จากประเทศอังกฤษ “จะมีเหตุผลอะไรในโลกนี้ที่จะทำให้คนแต่งเรื่องนี้ขึ้นมา?”

เมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวน 35 ล้านคน และเป็นหนึ่งในที่หมายซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และยังมีการโปรโมทตัวเองว่าเป็น “เมืองยิ้ม” โดยรัฐบาลซึ่งคณะทหารเข้ามาบริหารตั้งแต่เมื่อปี 2014 ก็อ่อนไหวต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่อาจบ่อนทำลายชื่อเสียงของประเทศ

ในสังคมซึ่งผู้ชายนั้นเป็นใหญ่ ที่ความเคลื่อนไหว #MeToo (‘ฉันก็โดน’) ยังไม่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่บางคนได้ชี้แนะว่า ผู้หญิงล่อให้เกิดการข่มขืนหรือการระรานทางเพศด้วยตัวของพวกเธอเอง จากการสวมใส่เสื้อผ้าซึ่งท้าทายสายตา ซึ่งก็ก่อให้เกิดการประท้วงด้วยแฮชแท็ก #Don’tTellMeHowToDress (‘อย่ามาบอกว่าฉันควรแต่งตัวอย่างไร’)

นายกรัฐมนตรีของไทย ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเสื้อผ้าและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวสตรีต่างชาติ ไม่นานนักหลังจากการสังหารนักท่องเที่ยวแบคแพคเกอร์สองรายคือ นายเดวิด มิลเลอร์ และ นางสาวฮันนาห์ วิเทอริดจ์ ที่เกาะเต่าเมื่อปี 2014 โดยที่นางสาววิเทอริดจ์นั้นถูกข่มขืนก่อนที่จะถูกฆ่า

“เขาเข้าใจว่าบ้านเมืองเราเนี่ยสวยงาม ปลอดภัย ทำยังไงก็ได้ แต่งบิกินีไปไหนก็ได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว “ผมถามแต่งบิกินีประเทศไทยเนี่ยจะรอดไหม เว้นแต่ไม่สวยล่ะนะ”

หลังจากนั้นเขาก็ขออภัย โดยกล่าวว่า เขาหมายความเพียงแค่ว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั้นควรจะระมัดระวังตัว
Buddhist monks reciting prayers during a religious ceremony held in memory of Ms. Witheridge and Mr. Miller in 2014.
Buddhist monks reciting prayers during a religious ceremony held in memory of Ms. Witheridge and Mr. Miller in 2014. Source: Getty
แต่ยังคงมีข้อกังขาเกี่ยวกับการเอาผิดแรงงานผู้ย้ายถิ่นฐานชาวพม่าสองราย อู ซอ ลิน และ อู วิน ซอ ตัน สำหรับการสังหารนางสาววิเทอริดจ์ซึ่งอายุได้ 23 ปี และนายมิลเลอร์ซึ่งอายุ 24 ปีที่ชายหาดทรายรี ซึ่งเป็นสถานที่อันได้รับความนิยม โดยผู้พิพากษาท่านหนึ่งพบว่าคนงานทั้งสองนั้นมีความผิดและได้ลงโทษประหารชีวิต แม้จะมีการตั้งคำถามต่อพยานหลักฐานดีเอ็นเอ และต่อการรับมือของตำรวจต่อคดีดังกล่าว โดยผู้สนับสนุนของพวกเขากล่าวว่าพวกเขาถูกวางตัวให้เป็นแพะ

นักท่องเที่ยวรายอื่นๆ ซึ่งเสียชีวิตลงยังรวมไปถึงชายชาวฝรั่งเศส ดมิทรี พอฟว์ อายุ 29 ปี ซึ่งพบถูกแขวนคอเมื่อปี 2015 โดยมือของเขานั้นถูกมัดไพล่หลังไว้ โดยตำรวจได้สรุปว่าเป็นการฆ่าตัวตาย และเมื่อปีที่แล้ว นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียวัย 23 ปี นางสาววาเลนตินา โนวาชฮาโยโนวา ก็หายตัวไปพร้อมๆ กับอุปกรณดำน้ำของเธอ โดยตำรวจสรุปว่าเป็นการจมน้ำตายในทะเล

ผู้เสียชีวิตซึ่งมีอายุมากที่สุดได้แก่ชายอายุ 33 ปีชาวมอลโดวา นายอะเล็กซานเดอร์ บัคส์ฟูน ซึ่งจมน้ำเมื่อเดือนตุลาคมหลังว่ายน้ำในช่วงดึก โดยตำรวจปฏิเสธว่าไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

ในบางกรณี สมาชิกครอบครัวก็ท้าทายข้อสรุปของตำรวจ

เกาะเต่าซึ่งสามารถขึ้นเรือเฟอร์รีไปได้จากเกาะสมุย (ซึ่งเป็นที่รู้จักมากกว่า) มีชื่อเสียงมาเป็นเวลานานว่าเป็นแหล่งของอาชญากรรมที่ทำกันแบบเป็นระบบ และเป็นวสถานที่ซึ่งตำรวจนั้นปกป้องผลประโยชน์ของคนท้องถิ่น

พลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ หักพาล ผู้นำการสืบสวนคดีข่มขืนข้างต้น กล่าวในการสัมภาษณ์กับนิตยสารเดอะไทม์ว่า ทางตำรวจได้ออกจับกุมเหล่ากลุ่มอาชญากรบนเก่าเต่า ตั้งแต่การเมื่อมีสังหารนักท่องเที่ยวแบ็คแพ็คเกอร์สองรายที่เกิดขึ้น

“เรายอมรับว่า ในอดีตนั้น มีมาเฟียที่นั่นซึ่งมีผลประโยชน์จากนักท่องเที่ยว” เขากล่าว “ในตอนนี้เราได้กำจัดพวกเขาไปแล้ว”
Myanmar citizens U Zaw Lin, left, and U Win Zaw Htun, leaving the Koh Samui provincial court after being sentenced to death in 2015.
Myanmar citizens U Zaw Lin, left, and U Win Zaw Htun, leaving the Koh Samui provincial court after being sentenced to death in 2015. Source: Getty
เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา มีหญิงสาวชาวอังกฤษคนหนึ่งเดินทางมายังเกาะเต่าในเดือนมิถุนายน กับกลุ่มเพื่อนของเธอซึ่งเป็นผู้ชาย ซึ่งเมื่ออ้างอิงจากคำบอกเล่าของพวกเขา เธอและนายมาร์ติน ฟู ได้ไปยังบาร์ที่ได้รับความนิยมบริเวณริมหาดแห่งหนึ่งแล้วสั่งเครื่องดื่ม หลังจากเวลาเที่ยงคืนในวันที่ 26 มิถุนายน และไม่นานก็เริ่มรู้สึกง่วงงัน จึงออกจากบาร์และหลับไปบริเวณริมชายหาด

มารดาของเธอกล่าวว่า เมื่อหญิงสาวคนดังกล่าวตื่นขึ้นหลังจากนั้นเป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมง ก็พบว่านายฟูไม่ได้อยู่ที่นั่น แต่มีชายซึ่งเธอไม่เคยพบเห็นมาก่อนกำลังจ้องมองเธออยู่ โดยหญิงสาวได้เล่าว่าเขาก็รีบรุดออกไปเดี๋ยวนั้น และได้พบว่าชุดชั้นในของเธอนั้นถูกถอดออก ซึ่งเธอก็ตระหนักในทันทีว่าเธอได้ถูกข่มขืน

เธอเดินทางกลับไปยังโฮสเทลที่พัก และนายฟูก็เดินทางกลับมาหลังจากนั้นไม่นาน โดยเห็นได้ชัดว่าเธอนั้นถูกกระทบกระเทือนทางจิตใจและก็ได้บอกกล่าวกับคนอื่นๆ ว่าเธอนั้นถูกข่มขืน เพื่อนอีกคนและนายฟูได้เก็บเสื้อของเธอซึ่งมีรอยเปื้อนเอาไว้ โดยพวกเขาคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่จะมีพยานหลักฐานทางดีเอ็นเอ

ในการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวชาวไทยคนหนึ่งผ่านทางเฟซบุ๊กเมื่อเดือนกันยายน นายฟูกล่าวว่าเขามั่นใจว่าเธอพูดความจริง และปฏิเสธคำกล่าวอ้างซึ่งมีขึ้นจากภายในประเทศไทย ว่าเธอนั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อที่จะปกปิดการมีสัมพันธ์สวาทระหว่างเธอกับแฟนหนุ่ม

“ผมคิดว่านั่นมันบ้าบอ” นายฟูกล่าว “หากคุณต้องการที่จะกลบเกลื่อนปัญหา คุณก็จะไม่สร้างปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิมขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง”

นางสาวภัทร แจ่มตระกูล ผู้จัดการของโฮสเทลดังกล่าว ได้แจ้งให้เธอนั้นไปรายงานการข่มขืนกับตำรวจ แต่หญิงสาวคนดังกล่าวกลับต้องการที่จะออกจากเกาะเต่าโดยเรือเฟอร์รีเที่ยวถัดไป โดยที่ทางกลุ่มนั้นมีตั๋วไว้แล้ว

“ฉันอยู่ในสภาพที่ฉันไม่สามารถที่จะพูดจากกับใครได้ ฉันรู้สึกหวาดกลัวเป็นอย่างมาก” หญิงสาวคนดังกล่าวเล่าในการให้สัมภาษณ์กับเดอะไทม์ออฟลอนดอน ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์เพียงครั้งเดียวของเธอ “ฉันต้องการเพียงที่จะออกให้พ้นจากเกาะไปซะ”
A beach on Koh Tao, Thailand.
A beach on Koh Tao, Thailand. Source: Getty
จากคำบอกเล่าของพวกเขา นายฟูได้ไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแจ้งความการข่มขืนและปล้นทรัพย์ที่เกาะพะงันในวันรุ่งขึ้น โดยตำรวจได้ยอมรับการแจ้งความการปล้นทรัพย์แต่ไม่ยอมรับการแจ้งความการข่มขืนหรือการที่พวกเขานั้นอาจเก็บพยานหลักฐานทางดีเอ็นเอเอาไว้ได้ และกล่าวกับพวกเขาว่าจะต้องทำการแจ้งความเรื่องการข่มขืนที่เกาะเต่า

แม่ของเธอเล่าว่า “เธอไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์หรือการตรวจร่างกายใดๆ”

พลตำรวจตรีสุเชษฐ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้นำการสอบสวนในเรื่องดังกล่าว ได้โต้แย้งเรื่องราวที่กลุ่มของพวกเขาได้เล่าว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


“เธอไม่ได้แจ้งความเกี่ยวกับการข่มขืนใดๆ ทั้งสิ้น” เขากล่าว “ผมได้โทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าหน้าที่เวรด้วยตัวเองด้วยตัวของผมเอง”

หลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ หญิงสาวคนดังกล่าวก็เดินทางกลับประเทศอังกฤษและนายฟูก็เดินทางกลับไปยังเกาะเต่า และพยายามจะแจ้งความการข่มขืนกับตำรวจโดยมีผู้จัดการโฮสเทลนางสาวภัทราเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ

เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับแจ้งความหรือรับเสื้อเชิ้ตตัวดังกล่าวซึ่งอาจมีหลักฐานทางดีเอ็นเอ เนื่องจากผู้ตกเป็นเหยื่อเท่านั้นที่สามารถจะเป็นผู้แจ้งความได้

ที่ประเทศอังกฤษ หญิงสาวคนดังกล่าวได้บอกกับแม่ของเธอว่าเธอถูกข่มขืน เธอได้รับการตรวจร่างกายและไปขอรับคำปรึกษาจากศูนย์ให้ความช่วยเหลือเมื่อถูกข่มขืน ซึ่งส่งผลให้เธอนั้นได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศอังกฤษเกี่ยวกับการข่มขืนดังกล่าว ในท้ายที่สุด เธอและมารดาก็บอกเล่าเรื่องราวของเธอกับสื่อมวลชนประเทศอังกฤษ ซึ่งก็ได้ลงข่าวเรื่องเหตุการณ์การเสียชีวิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเกาะเต่าอย่างละเอียด

เพื่อเป็นการตอบโต้กับรายงานข่าวต่างๆ ตำรวจไทยได้กล่าวว่า การข่มขืนนั้นไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากระดับน้ำทะเลบริเวณชายหาดในคืนนั้นสูงมากเป็นพิเศษ และบริเวณที่มีนักท่องเที่ยวดังกล่าวก็เต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมาก

โดยตำรวจได้ส่งเจ้าหน้าที่สืบสวนไปยังประเทศอังกฤษเพื่อทำการสอบสวนสตรีผู้นั้นและเก็บเสื้อเชิ้ตตัวดังกล่าว พลตำรวจตรีสุเชษฐ์กล่าวว่า การวิเคราะห์ได้พบดีเอ็นเอของเพศชายบนเสื้อแต่ไม่พบน้ำอสุจิ โดยตำรวจกล่าวว่าได้เปรียบเทียบแล้วกับดีเอ็นเอกับของชายเป็นจำนวน 20 คนซึ่งมักจะเป็นผู้ต้องสงสัยในกรณีอาชญากรรมต่างๆ บนเกาะเต่าเป็นประจำ แต่ไม่พบผลที่ตรงกัน

โดยเขาว่าทางตำรวจได้สอบสวนคนเป็นจำนวนประมาณ 200 คน และไม่พบว่ามีพยานหลักฐานที่สอดคล้องกับเรื่องราวของเธอแต่อย่างใด

“ไม่มีพยานหลักฐานใหม่ที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการข่มขืนนั้นเกิดขึ้น” พลตำรวจตรีสุเชษฐ์กล่าว โดยเมื่อเร็วๆ นี้เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

เขาปกป้องการจับกุมตัวผู้ใช้เฟซบุ๊กเป็นจำนวน 12 ราย โดยกล่าวว่า โพสต์ที่พวกเขาแชร์นั้น เป็นการระบุตัวผู้ต้องสงสัยอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งทำให้เขาตกงาน

โดยผู้ที่ถูกจับกุมอาจเผชิญกับการจำคุกได้ถึงห้าปี

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรตส์วอตช์ (Human Rights Watch) ได้กล่าวหาว่าตำรวจใช้พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์เพื่อหยุดยั้งการตั้งข้อสงสัยของผู้คนต่อ “การสืบสวนที่ด้อยคุณภาพ” ในคดีข่มขืนดังกล่าว

ยังมีบุคคลอีกหนึ่งรายซึ่งถูกต้องการตัวโดยตำรวจ คือซูซาน บูคานาน บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์สมุยไทม์ แหล่งข่าวออนไลน์ซึ่งรายงานเกี่ยวกับการเสียชีวิตต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเหตุการณ์ข่มขืนดังกล่าว

เธอกล่าวว่า หมายจับนั้นไม่มีผลกระทบกับเธอ เพราะว่าเธออาศัยอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

“พวกเขากล่าวหาดิฉันว่าแพร่กระจายข่าวปลอม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ปลอม” เธอกล่าว “และพวกเขาก็กล่าวหาฉันว่าก่ออาชญากรรมที่ประเทศไทย ทั้งๆ ที่ฉันนั้นไม่ได้ไปที่นั่นเลยเป็นเวลาสองปีครึ่ง”

หากคุณสงสัยว่าคนที่คุณรู้จักได้รับผลกระทบจากการข่มขืนหรือการข่มเหงทางเพศ โทร 1800RESPECT ที่หมายเลข 1800 737 732 หรือไปที่เว็บไซต์  1800RESPECT.org.au ส่วนในสถานการณ์ฉุกเฉิน โทร 000

ติดตามฟังรายการ  ได้ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ 

Share
Published 7 November 2018 2:53pm
Updated 12 August 2022 3:40pm
By Richard C. Paddock, Muktita Suhartono © The New York Times
Presented by Tanu Attajarusit
Source: Getty Images, The New York Times


Share this with family and friends