วูลเวิร์ธส์ทั่วรัฐวิกตอเรียจำกัดซื้อสินค้าจำเป็นไม่เกิน 2 ชิ้น

ซูเปอร์มาร์เก็ต 'วูลเวิร์ธส์' ทั่วรัฐวิกตอเรียประกาศใช้นโยบายจำกัดการซื้อสินค้าที่จำเป็นไม่เกิน 2 ชิ้น หลังพบพฤติกรรมซื้อกักตุนจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา

Supermarkets struggled to keep up with demand for essential items at the height of the Australian Coronavirus pandemic.

Supermarkets struggled to keep up with demand for essential items at the height of the Australian Coronavirus pandemic. Source: AAP

ซูเปอร์มาร์เก็ตวูลเวิร์ธส์ (Woolworths) กลับมาใช้นโยบายจำกัดการซื้อสินค้า ในหมวดสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นทุกสาขาในรัฐวิกตอเรีย เพื่อป้องกันพฤติกรรมการซื้ออย่างตื่นตระหนก (panic buying) ระลอกสอง

ตั้งแต่บ่ายวันนี้เป็นต้นไป (24 มิ.ย.) นโยบายจำกัดจำนวนสินค้าให้ซื้อได้ไม่เกิน 2 ชิ้น จะมีผลกับสินค้าในหมวดกระดาษชำระ เจลล้างมือ กระดาษเช็ดมือ แป้งทำอาหาร น้ำตาล เส้นพาสตา เนื้อบด นมกล่องแบบเก็บได้นาน ไข่ และข้าวสาร

โดยนโยบายดังกล่าว จะมีผลเฉพาะวูลเวิร์ธส์ทุกสาขาในรัฐวิกตอเรีย ซึ่งรวมถึงการซื้อสินค้าทางออนไลน์ในพื้นที่รัฐวิกตอเรียด้วย 

การพบพฤติกรรมการซื้อกักตุนอย่างตื่นตระหนก เกิดขึ้นหลังจากยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้นหลักสิบรายในรัฐวิกตอเรียติดต่อกันมาเป็นวันที่ 8 

จากการแพร่ระบาดดังกล่าว ทำให้รัฐบาลรัฐวิกตอเรียต้องกลับมาประกาศใช้มาตรการจำกัดและการทิ้งระยะห่างทางสังคมบางส่วน และประกาศให้พื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง เป็นพื้นที่เสี่ยงอันตรายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียหลายคน ตั้งข้อสังเกตถึงปริมาณความต้องการสินค้าจำเป็นในห้างสรรพสินค้าที่เพิ่มขึ้น ในพื้นที่ซึ่งได้รับการประกาศว่ามีการแพร่ระบาดภายในชุมชนในระดับสูง
"เราเข้าใจว่า ชาวรัฐวิกตอเรียจำนวนมากรู้สึกวิตกกังวลกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในชุมชนเมื่อไม่นานมานี้ แต่ขอให้มั่นใจว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตของเราจะยังคงเปิดให้บริการ พร้อมกับสินค้าจำนวนมากที่จะนำมาเติมบนชั้นวางจำหน่ายจากโกดังสินค้าของเรา" นางแคลร์ ปีเตอร์ส (Claire Peters) กรรมการผู้จัดการของวูลเวิร์ธส์กล่าว

"ขณะที่ระดับสินค้าในสต๊อกของเรายังอยู่ในระดับที่ดี ในการกระจายไปยังสาขาต่าง ๆ เราได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อช่วยในการป้องกันการซื้อสินค้าเกินความจำเป็น และสนับสนุนการทิ้งระยะห่างทางสังคมของชาวรัฐวิกตอเรีย"

"เรามีปริมาณสินค้าที่มากเกินพอสำหรับลูกค้าทุกคน หากเราซื้อเฉพาะสิ่งที่ต้องการในการจับจ่ายรายสัปดาห์"

"ในช่วง 2-3 วันนี้ เราจะจับตาดูความต้องการในรัฐวิกตอเรียอย่างใกล้ชิด หากเป็นไปได้ เราก็จะผ่อนคลายการจำกัดให้เร็วที่สุด"

เมื่อช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา การซื้อสินค้าอย่างตื่นตระหนก (panic buying) ในหมวดสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นนั้น เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง หลังรัฐบาลได้มีการประกาศบังคับใช้มาตรการจำกัดห้าม เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ABS) พบว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าว ทำให้ผลประกอบการภาคค้าปลีกอาหารเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24 

ภาพของบรรดาผู้มาจับจ่ายใช้สอยที่เบียดเสียดกันหนาแน่น เพื่อซื้อของจนเกลี้ยงชั้นวางจำหน่าย ทำให้ นายสกอตต์ มอร์สิสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ออกมาประณามการกระทำดังกล่าว

“มันไร้สาระ มันไม่ใช่สิ่งที่ชาวออสเตรเลียทำ และมันจะต้องหยุด” นายมอร์ริสันกล่าว 

“มันไม่มีเหตุผล มันไม่ช่วยอะไร และมันเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังที่สุด ตั้งแต่ผมได้เห็นพฤติกรรมชาวออสเตรเลียในช่วงวิกฤตนี้”

โดยความต้องการสินค้าได้ลดลงในเวลาต่อมา ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตโคลส์ และวูลเวิร์ธส์ ได้ยกเลิกการจำกัดจำนวนสินค้าที่ซื้อได้ หลังปริมาณสินค้าในสต๊อกกลับสู่สภาวะปกติ


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 24 June 2020 2:38pm
Updated 24 June 2020 4:09pm
By Naveen Razik
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends