เงิน JobKeeper ถูกลด: นี่คือสิ่งที่คุณต้องรู้

เงินอุดหนุนค่าจ้างจ๊อบคีพเปอร์ (JobKeeper) สำหรับลูกจ้างชาวออสเตรเลียหลายล้านคนกำลังถูกลดจำนวนลง ขณะรัฐบาลสหพันธรัฐปรับมาตรการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา

Critics have warned against reducing the size of the JobKeeper payments.

Critics have warned against reducing the size of the JobKeeper payments. Source: AAP

รัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลียกำลังลดปริมาณการจ่ายเงินอุดหนุนค่าจ้างจ๊อบคีพเปอร์ (JobKeeper) แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้ขยายเงินอุดหนุนค่าจ้างนี้ออกไป ขณะออสเตรเลียกำลังเผชิญสถานการณ์การระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา

โครงการเงินอุดหนุนค่าจ้างด้วยงบประมาณ 86,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มขึ้นเมื่อ 6 เดือนก่อน ซึ่งในขณะนั้น ลูกจ้างเผชิญความไม่แน่นอนเรื่องการจ้างงานและพบความยากลำบากอย่างรุนแรงด้านการเงิน

ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 28 กันยายน เป็นต้นไป เงินอุดหนุนค่าจ้างจ๊อบคีพเปอร์ได้ถูกลดลงจาก 1,500 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์ เหลือ 1,200 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์สำหรับลูกจ้างฟูลไทม์

เงินจ๊อบคีพเปอร์ได้ถูกลดลงเหลือ 750 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์สำหรับลูกจ้างพาร์ตไทม์ ซึ่งทำงานไม่ถึง 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก่อนการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19
ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มเปิดอีกครั้ง รัฐบาลสหพันธรัฐกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการการลดเงินจ๊อบคีพเปอร์ลง เพื่อทำให้แน่ใจได้ว่าโครงการพุ่งเป้าไปยังธุรกิจที่ยังคงเผชิญความเดือดร้อนทางการเงินอยู่

แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะตัดการสนับสนุนด้านรายได้ เนื่องจากนครเมลเบิร์นยังคงอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ และประเทศออสเตรเลียกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกในระยะเวลาเกือบ 30 ปี

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เองที่ เงินช่วยเหลือผู้ว่างงานจ๊อบซีกเกอร์ (JobSeeker) ถูกลดลง 300 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์
อ่านเพิ่มเติม

ลดเงินช่วยเหลือ JobSeeker

ใครยังคงมีสิทธิ์ได้รับเงินจ๊อบคีพเปอร์?

ลูกจ้างเกือบ 3.6 ล้านคนได้รับประโยชน์จากเงินอุดหนุนค่าจ่างนี้ โดยมีบริษัทและธุรกิจต่างๆ กว่า 900,000 แห่งลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนค่าจ้างให้ลูกจ้างของตน

แต่การจะได้รับความช่วยเหลือนี้ต่อไปหลังวันที่ 28 กันยายน ธุรกิจและองค์กรไม่มุ่งหวังผลกำไรต่างๆ จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขายังคงมีรายได้ลดลงตามข้อกำหนดคุณสมบัติธุรกิจที่จะสามารถรับเงินอุดหนุนค่าจ้างได้

โครงการได้ถูกปรับเปลี่ยนเล็กน้อย หลังมีเสียงวิจารณ์ว่า ลูกจ้างพาร์ตไทม์บางคนมีรายได้มากกว่าที่พวกเขามีช่วงก่อนวิกฤตโควิดเสียอีก

การจะมีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนค่าจ้างจ๊อบคีพเปอร์ได้นั้น ธุรกิจส่วนใหญ่จะต้องแสดงให้เห็นต่อไปว่าพวกเขามีรายได้ลดลงอย่างน้อยร้อยละ 30

ธุรกิจที่มีสิทธิ์จะต้องมีมูลค่าการซื้อขายรวมไม่เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่มีมูลค่าการซื้อขายรวมเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ ต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีรายได้ลดลงอย่างน้อยร้อยละ 50

โครงการดังกล่าวยังคงเปิดรับธุรกิจรายใหม่ที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือ หากธุรกิจเหล่านั้นมีคุณสมบัติตามกำหนดและผ่านการทดสอบด้านรายได้

ลูกจ้างพาร์ตไทม์ที่มีรายได้ไม่เกิน 300 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์ ยังมีสิทธิ์ได้รับเงินสวัสดิการผู้ว่างงานจ๊อบซีกเกอร์ (JobSeeker) ได้อีกด้วย ภายใต้การขยายความช่วยเหลือของรัฐบาล

เหตุใดรัฐบาลจึงเปลี่ยนแปลงความช่วยเหลือนี้?

โครงการจ๊อบคีพเปอร์ ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวออสเตรเลียหลายล้านคนต้องร่วมเข้าแถวรอรับเงินสวัสดิการคนว่างงาน ซึ่งก็มีผู้ขอรับความช่วยเหลือพุ่งสูงขึ้นมากอยู่แล้ว

แต่จากการที่บริษัทและธุรกิจต่างๆ นอกพื้นที่เขตมหานครของเมลเบิร์น ไม่อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นแล้ว รัฐบาลจึงโต้แย้งว่า นี่ถึงเวลาที่จะต้องลดการจ่ายเงินอุดหนุนค่าจ้างนี้

“เราได้ทำทุกอย่าง เพื่อพยายามทำให้แน่ใจได้ว่าเราให้สนับสนุนเศรษฐกิจ สนับสนุนลูกจ้างให้ยังคงเป็นลูกจ้างของธุรกิจต่อไป” นายไมเคิล แมกคอร์แมกค์ รองนายกรัฐมนตรี บอกกับ เอบีซี ในวันจันทร์ (28 ก.ย.)

“แต่ถึงเวลาแล้วที่ชาวออสเตรเลียจะต้องกลับไปทำงาน”

อัตราการว่างงานของออสเตรเลียลดลงจากร้อยละ 7.5 ในเดือนกรกฎาคม เหลือร้อยละ 6.8 ในเดือนสิงหาคม

ขณะเดียวกัน สหภาพแรงงานและฝ่ายค้าน กล่าวหารัฐบาลว่า กำลังบีบให้ชาวออสเตรเลียหลายล้านคนต้องทนรับการถูกลดค่าจ้างในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้

นายไมเคิล โอนีล ประธานสหภาพแรงงาน เอซีทียู (ACTU) กล่าวว่า รัฐบาลคิดผิด ที่ลดเงินช่วยเหลือ ในช่วงเวลาที่ครอบครัวและลูกจ้างมากมายยังคงต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนค่าจ้างนี้

เงินอุดหนุนค่าจ้างจะขยายต่อไปถึงเมื่อใด?

โครงการนี้ในเบื้องต้นถูกระบุไว้ในกฎหมายให้ดำเนินการได้ 6 เดือน แต่รัฐบาลมุ่งมั่นจะขยายโครงการเงินจ๊อบคีพเปอร์นี้ออกไป หลังการพิจารณาทบทวนโครงการของกระทรวงการคลังที่เปิดเผยออกมาในเดือนมิถุนายนปีนี้

ผลการพิจารณาทบทวนโครงการพบว่า เงินอุดหนุนค่าจ้างจ๊อบคีพเปอร์ได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการให้การสนับสนุนแก่ธุรกิจและฟื้นฟูการจ้างงาน ช่วยรักษาความสัมพันธ์ด้านการจ้างงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และช่วยให้การสนับสนุนด้านรายได้ที่จำเป็น

รายงานของกระทรวงการคลัง ยังสรุปว่า จำเป็นต้องมีการขยายโครงการโดยกำหนดเป้าหมายอย่างเหมาะสม เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป

รัฐบาลจึงได้ขานรับผลการพิจารณาทบทวนโครงการ ด้วยการประกาศการขยายโครงการอุดหนุนค่าจ้างออกไปอีก 2 ระยะ ซึ่งจะทำให้โครงการนี้ถูกขยายไปจนถึงเดือนมีนาคมปีหน้า
ระยะที่ 3 ของการโครงการจ๊อบคีพเปอร์จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม โดยเงินจ๊อบคีพเปอร์จะลดลงเหลือ 1,000 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์สำหรับลูกจ้างฟูลไทม์ที่มีสิทธิ์ และเหลือ 650 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์สำหรับลูกจ้างพาร์ตไทม์

นายจิม ชาลเมอส์ โฆษกด้านการคลังของพรรคฝ่ายค้านสหพันธรัฐ กล่าวว่า เขาสนับสนุนโครงการสนับสนุนที่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ แต่บอกว่า การลดจำนวนเงินลงในเวลานี้เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นที่ลูกจ้างจะต้องไปเข้าแถวรอรับเงินสวัสดิการคนว่างงาน

“มันไม่มีเหตุผลเลยที่สกอตต์ มอร์ริสัน และจอช ฟรายเดนเบิร์ก จะกระชากความช่วยเหลือที่สำคัญออกไปจากเศรษฐกิจ โดยไม่มีแผนการจ้างงานที่ครอบคลุมรอบด้านมาแทนที่” นายชาลเมอร์ กล่าว

รัฐบาลสหพันธรัฐโต้แย้งว่า การนำชาวออสเตรเลียกลับไปทำงานเป็นสิ่งที่รัฐบาลมุ่งเน้น โดยจะมีการเปิดเผยรายละเอียดแผนกระตุ้นการเพิ่มการจ้างงาน ในการแถลงร่างงบประมาณรัฐบาลสหพันธรัฐในวันอังคารที่ 6 ตุลาคมนี้

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทย

Share
Published 29 September 2020 12:14pm
Updated 29 September 2020 12:16pm
By Tom Stayner
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends