คณะกรรมาธิการด้านผลิตภาพคาดการณ์ว่า ออสเตรเลียจะมีความต้องการลูกจ้างดูแลผู้สูงอายุมากกว่าที่มีอยู่ขณะนี้เกือบ 3 เท่า คือราว 360,000 คน ภายในปี 2050 เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ
การขาดแคลนลูกจ้างก็หมายถึงการต้องพึ่งพาลูกจ้างที่ถือวีซ่าชั่วคราวมากขึ้น ในปี 2011 ลูกจ้างดูแลผู้สูงอายุและดูแลผู้พิการทุกพลภาพในออสเตรเลียร้อยละ 33 เป็นผู้ที่เกิดในต่างประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 37 ในปี 2016
แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการอพยพย้ายถิ่นกล่าวว่า การที่ลูกจ้างมีสถานะเป็นผู้ถือวีซ่าชั่วคราวอาจทำให้พวกเขามีความเสี่ยงมากกว่าที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยมากแล้วพวกเขามักไม่มีสหภาพแรงงานเป็นตัวแทน และยินยอมที่จะรับค่าจ้างที่ต่ำ และยอมทำงานในสภาพการทำงานที่แย่
“สิ่งที่เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงคือสภาวะการมีลูกจ้างผู้อพยพที่ถือวีซ่าชั่วคราวเดินเข้า-ออกในอุตสาหกรรมนี้อยู่ตลอดเวลา” ดร.โจอานนา โฮวี นักวิชาการชั้นนำด้านการอพยพย้ายถิ่นฐานของแรงงานชั่วคราว ของมหาวิทยาลัยแอดิเลด ที่ศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุ กล่าว
“การทำเช่นนี้ ทำให้ไม่มีเครื่องจูงใจสำหรับอุตสาหกรรมที่จะปรับปรุงค่าจ้างและสภาพการทำงาน และเราได้เห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ และเรายังได้เห็นในออสเตรเลียด้วย”ในหมู่ข้อตกลงด้านแรงงานที่มีมากมาย แรงงานที่ถือวีซ่าชั่วคราวในอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุ มาจากข้อตกลงกับประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก ที่อนุญาตให้ลูกจ้างจากประเทศที่เป็นเกาะในทะเลแปซิฟิกมาทำงานในส่วนภูมิภาคของออสเตรเลียได้เป็นเวลาสูงสุด 3 ปี และโครงการ DAMA หรือข้อตกลงด้านการย้ายถิ่นฐานไปสู่พื้นที่ที่กำลัง ซึ่งดึงดูดลูกจ้างส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ
Despina with one of the residents. Source: SBS News
นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนต่างชาติ ที่ทำงานพาร์ทไทม์ ซึ่งขณะนี้เป็นแหล่งแรงงานสำคัญสำหรับงานดูแลส่วนบุคคล (personal care worker) โดยคิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้ทำงานในภาคส่วนนี้
สหภาพบริการด้านสุขภาพ กล่าวว่า ลูกจ้างที่ทำงานเป็นผู้ดูแล (carers) มักเผชิญปัญหาค่าจ้างต่ำ และปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรอย่างรุนแรง แม้ว่าสหภาพจะกล่าวว่า การเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างอย่างสุดขั้วส่วนใหญ่มักพบในงานบางตำแหน่งในอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุ เช่น งานทำความสะอาด
“สำหรับลูกจ้างผู้อพยพย้ายถิ่น ที่ทำงานด้านการดูแลผู้สูงอายุ ควรมีความตระหนักมากกว่านี้ในเรื่องความสามารถของพวกเขาที่จะร้องเรียนเรื่องที่วิตกได้โดยไม่ต้องหวาดกลัว หรือเกรงว่าจะถูกปลดจากงาน หรือถูกส่งกลับประเทศ” นายเจอร์ราร์ด เฮส์ เลขาธิการแห่งชาติของสหภาพ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายริชาร์ด คอลเบก รัฐมนตรีด้านการูแลผู้สูงอายุและชาวออสเตรเลียอาวุโส บอกกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่า “รัฐบาลจะไม่ยอมให้มีการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างเกิดขึ้นในที่ทำงานของออสเตรเลีย และเรายังคงดำเนินการต่อไปเพื่อปกป้องลูกจ้างที่มีความเปราะบาง ซึ่งรวมไปถึงลูกจ้างจากต่างประเทศ”
“ลูกจ้างที่ถือวีซ่าชั่วคราวมีสิทธิได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและการปกป้อง เช่นเดียวกับผู้มีสัญชาติออสเตรเลีย และผู้อยู่อาศัยถาวร ภายใต้กฎหมายในที่ทำงานที่เกี่ยวข้อง” รัฐมนตรี คอลเบก กล่าว
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
สุขใจกับงานดูแลผู้สูงอายุ
ประเด็นการรักษาพนักงานไว้ให้อยู่กับองค์กรต่อไป
ดร.โฮวี กล่าวว่า ผู้อพยพย้ายถิ่นที่ถือวีซ่าชั่วคราว ต้องการลงทุนในอาชีพของตนในออสเตรเลีย แต่ระบบการอพยพย้ายถิ่นของประเทศขณะนี้ขัดขวางพวกเขา
เธอกล่าวว่า ผลอย่างหนึ่งที่ตามมาคือ มีปัญหาพนักงานลาออกสูง ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้พิการทุกพลภาพที่รับบริการอยู่ และที่สำคัญคือสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพของบริการได้
“รัฐบาลต้องพยายามทำให้แน่ใจว่าท่อลำเลียงแรงงานสำหรับงานดูแลผู้สูงอายุมาจากคนหนุ่มสาวชาวออสเตรเลีย ผู้ซึ่งต้องการทำงานในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งอุตสาหกรรมที่พวกเขาทำงานอยู่พยายามรักษาพวกเขาไว้ให้ทำงานในองค์กรต่อไป และเมื่อเวลาผ่านไป ก็ให้การอบรมแก่พวกเขาเพื่อเพิ่มทักษะ นั่นจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแล และดีที่สุดสำหรับลูกจ้างในอุตสาหกรรมด้วย” ดร.โฮวี กล่าว
“คำถามสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ จะอุดช่องว่างแรงงาน ด้วยลูกจ้างผู้อพยพ หรือจะยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม และเพิ่มอัตราการรักษาพนักงานไว้ให้ทำงานอยู่ต่อไป เพื่อจะได้มีแรงงานถาวร”
คุณแพท สแปร์โรว์ ผู้บริหารของบริการผู้สูงอายุและชุมชนแห่งออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุแบบไม่มุ่งหวังผลกำไร กล่าวว่า ควรมีการใช้กลยุทธ์ทั้งสองอย่างที่ว่ามา
“เราจะเป็นต้องแก้ปัญหาแหล่งแรงงานในประเทศ และจำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างลูกจ้างให้ดีขึ้น ลูกจ้างในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ดังนั้น ประเด็นเรื่องความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างหญิงชาย และประเด็นเรื่องคุณค่าของงาน จึงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”
“แต่ขณะเดียวกัน การมีลูกจ้างผู้อพยพก็สะท้อนชุมชนของออสเตรเลีย และเป็นการทำให้แน่ใจว่าผู้คนยังคงสามารถพูดภาษาของตนได้ ซึ่งสำคัญมากเมื่อประชาชนแก่ตัวลง”
เธอยังต้องการให้มีการเพิ่มงานผู้ดูแลส่วนบุคคลเข้าไปในรายชื่องานที่เป็นที่ต้องการสำหรับวีซ่าแรงงานทักษะด้วย และยังต้องการเห็นอาชีพนี้มีหนทางที่ง่ายขึ้นในการเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรของออสเตรเลีย
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
เจ้าหน้าที่คนไทยไขปัญหาผู้สูงอายุถูกข่มเหง
ขณะนี้ ไม่มีการกำหนดให้ผู้ทำงานเป็นผู้ดูแลส่วนบุคคลต้องมีวุฒิการศึกษาใดโดยเฉพาะ แม้ว่านายจ้างจำนวนมากจะต้องการให้ลูกจ้างของพวกเขามีประกาศนียบัตรระดับ 3 เป็นอย่างน้อย
ขณะที่ผู้ดูแลที่เกิดในต่างประเทศ โดยทั่วไปแล้วมีวุฒิการศึกษาอย่างเป็นทางการสูงกว่าลูกจ้างที่เกิดในออสเตรเลีย แต่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมบางกลุ่มเรียกร้องให้ลูกจ้างจากต่างประเทศต้องได้รับการอบรมให้มีทักษะภาษาที่สูงขึ้น รู้จักบรรทัดฐานทางสังคม และรู้จักระบบการทำงานในออสเตรเลีย
สหภาพบริการด้านสุขภาพเห็นด้วยกับประเด็นนี้
“ผู้รับบริการดูแลผู้สูงอายุนั้นมีหลากหลาย” นายเฮส์ กล่าว
“การอบรมเพิ่มเติมใดๆ ให้แก่ผู้อพยพ เพื่อให้พวกเขาสามารถให้บริการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพได้ จะเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก”
รัฐมนตรีคอลเบก ระบุผ่านกลยุทธ์กำลังแรงงานดูแลผู้สูงอายุว่า “ขณะนี้กำลังมีตรวจสอบทบทวนเกี่ยวกับประกาศนียบัตรระดับ 3 ซึ่งเป็นคุณวุฒิด้านการดูแลสนับสนุนผู้สูงอายุ และจะพิจารณาเพิ่มพูนโอกาสทางอาชีพ ให้รวมไปถึงด้านพยาบาลศาสตร์ด้วย”
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
อัจฉริยะสร้างได้:คนไทยในออสเตรเลียที่จบป.เอกด้วยอายุ 22 ปี