นร.ต่างชาติในเมลเบิร์นเผย 3 สัปดาห์นรกจากโควิด

หลังติดเชื้อไวรัโคโรนา คาโรลินา* และอังเดรส* สองนักเรียนต่างชาติ หมดหนทางหารายได้ แม้ว่านักเรียนชาวโคลอมเบียทั้งคู่จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลบ้าง แต่พวกเขาก็เกือบกลายเป็นคนไร้บ้าน

Mwanaume apita mbele ya bango mjini Melbourne.

Mwanaume apita mbele ya bango mjini Melbourne, lenye ujumbe kuhusu COVID-19. Source: AFP

หลังได้ทราบว่าตนติดเชื้อไวรัสโคโรนา คาโรลินา* ไม่รู้ว่าอะไรที่เธอกลัวมากกว่ากัน ระหว่างความเป็นไปได้ที่เธออาจพ่ายแพ้ต่อไวรัสที่คร่าชีวิตผู้คนชนิดนี้ หรือการต้องแจ้งกับนายจ้างว่าติดเชื้อและต้องสูญเสียหนทางเดียวที่จะหารายได้ไป

เธอได้สูญเสียงานแคชชวลอื่นๆ ที่เคยทำไปแล้ว และเหลือเพียงการทำงานไม่กี่ชั่วโมงที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง

แต่ขณะนี้ เธอต้องแยกตัวจากผู้อื่นเพื่อกักโรคอย่างน้อย 14 วัน และต้องยอมสูญเสียรายได้เพียงน้อยนิดที่มี

เนื่องจากการที่เธอเป็นนักเรียนต่างชาติ คาโรลินาจึงไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหพันธรัฐของออสเตรเลีย เช่น เงินจ๊อบคีพเปอร์ (JobKeeper) หรือเงินจ๊อบซีกเกอร์ (JobSeeker)

เมื่อไม่มีรายได้ใดๆ และไม่มีความช่วยเหลือจากรัฐบาล เธอจึงตกอยู่ในสถานการณ์เข้าตาจน


เนื้อหาสำคัญของเรื่อง:

  • ในขณะนั้น คาโรลินาไม่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นเงิน 1,500 ดอลลาร์สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องอยู่บ้าน
  • คู่ครองของเธอ ซึ่งเป็นนักเรียนต่างชาติอีกคนหนึ่ง มีผลการตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวกเช่นกัน
  • นักเรียนชาวโคลอมเบียทั้งสองคน พยายามจนได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐบาล

สามวันแห่งความทรมาน

คาโรลินาจำได้ดีถึงวันที่เธอเริ่มรู้สึกปวดเมื่อยร่างกาย ราวกับว่าเธอกำลังเริ่มป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่

เมื่อเวลาหลายชั่วโมงผ่านไป เธอเริ่มรู้สึกหนาวสั่นและมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส อาการไข้สูงดังกล่าวเกิดขึ้นตลอดทั้งคืน

เช้าวันต่อมา อาการเหล่านั้นยังคงไม่ดีขึ้น เธอจึงเริ่มสงสัยว่า เธออาจติดเชื้อโควิด-19

คาโรลินา คิดทบทวนถึงสถานที่ต่างๆ ที่เธอได้เดินทางไปในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะไม่มีครอบครัวในออสเตรเลียและต้องเรียนหนังสือจากบ้านขณะที่ปฏิบัติข้อจำกัดต่างๆ ในเมลเบิร์น นักเรียนต่างชาติผู้นี้จึงไปแค่ร้านค้าและร้านอาหารที่เธอทำงานอยู่เท่านั้น

เธอโทรศัพท์ไปหาเจ้านายของเธอ เพื่อแจ้งว่าเธอป่วย เขาขอให้เธอปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้ คือให้ไปรับการตรวจเชื้อและให้แยกตัวจากผู้อื่น ขณะรอผลการตรวจ ความไม่แน่ใจดังกล่าวกินเวลา 3 วัน

ในวันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม คาโรลินาได้รับข่าวร้ายที่เธอสังหรณ์ใจ

“มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับฉันในออสเตรเลีย เมื่อฉันได้รับโทรศัพท์แจ้งและพวกเขาก็เริ่มบอกให้ฉันทำตามสั่งต่างๆ แต่ฉันก็ได้แต่พูดว่า ‘ฉันจะต้องตายแน่ๆ’ ฉันเริ่มร้องไห้ ร้องไห้ และร้องไห้ ฉันคิดว่า ‘ฉันต้องไปโรงพยาบาล พวกเขาจะต้องสอดท่อช่วยหายใจให้ฉัน ฉันจะไม่สามารถหายใจเองได้ ฉันจะต้องตายแน่ๆ’” คาโรลินา เล่า

ด้วยความสิ้นหวัง เธอจึงโทรศัพท์ไปหาครอบครัวที่โคลอมเบีย ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืนที่นั่น แต่แม่ของเธอได้ปลอบใจเธอ

“ฉันบอกกับแม่ว่า ฉันติดเชื้อ ฉันกำลังจะตาย”

“สามวันแรกนั้นยากลำบากมาก มีความวิตกกังวล ความกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณขณะที่คุณต้องอยู่ห่างจากครอบครัว เป็นความกลัวอย่างที่สุด ตอนนั้นฉันคิดว่า ฉันคงไม่ได้พบหน้าพวกเขาอีก”

สองวันที่ช้าไปทำให้อดได้เงิน 1,500 ดอลลาร์

โชคดีที่เธอยังสามารถใช้สิทธิ์ลาป่วยจากที่ทำงานได้

แม้ว่ามันจะไม่มากนัก แต่เงินจำนวนนี้ได้ช่วยให้คาโรลินารับมือกับการแยกตัวเพื่อกักโรคในช่วงวันแรกๆ ได้

สองวันหลังจากคาโรลินาได้รับแจ้งว่าติดเชื้อโควิด-19 รัฐบาลสหพันธรัฐได้ประกาศให้เงินช่วยเหลือ 1,500 ดอลลาร์สำหรับลูกจ้างในรัฐวิกตอเรียทุกคนที่ไม่มีสิทธิลาป่วย

การประกาศดังกล่าวสร้างความโล่งใจให้แก่ผู้คนจำนวนมากที่ถือวีซ่าชั่วคราวที่อาศัยอยู่ในรัฐวิกตอเรีย ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีสิทธิ์รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาลสหพันธรัฐ

อย่างไรก็ตาม สำหรับคาโรลินา การประกาศดังกล่าวมีขึ้นช้าไปสองวัน

“พวกเขาบอกฉันว่าฉันไม่มีสิทธิ์ เพราะความช่วยเหลือดังกล่าวถูกประกาศในวันที่ 2 สิงหาคม และผลการตรวจที่บอกว่าติดเชื้อออกมาวันที่ 30 กรกฎาคม”

อย่างไรก็ตาม คาโรลินาได้รับเงินช่วยเหลือ 450 ดอลลาร์แทนจากรัฐบาลรัฐวิกตอเรีย ที่ให้แก่ผู้ใดก็ตามที่ต้องแยกตัวจากผู้อื่นขณะรอผลการตรวจเชื้อโควิด-19
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เปิดใจคนไทยใกล้คนติดโควิด

ติดเชื้อกันทั้งคู่

หลายวันต่อมา อังเดรส* คู่ครองของคาโรลินา ล้มป่วยลงจากเชื้อโควิด-19 เขาเป็นพนักงานขับรถส่งอาหารตามบ้าน แต่ไม่สามารถไปทำงานได้อีกต่อไป ทำให้ทั้งสองคนต้องพากันอยู่บ้าน โดยไม่มีรายได้ใดๆ

“ทุกอย่างเข้ามาพร้อมกัน เราต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียน วีซ่าของเราหมดอายุ เราต้องจ่ายค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ ... และแค่เงินช่วยเหลือที่ฉันได้จากที่ทำงาน มันก็ไม่พอ”

โชคดีที่อังเดรสได้รับเงินช่วยเหลือ 1,500 ดอลลาร์ เนื่องจากเขาเข้าข่ายมีสิทธิ์รับความช่วยเหลือในฐานะผู้ทำงานอิสระ ซึ่งไม่มีสวัสดิการจากที่ทำงาน หรือไม่มีสิทธิ์ลาป่วย

เงินช่วยเหลือดังกล่าวจึงช่วยให้ทั้งสองสามารถจ่ายค่าเช่าบ้านที่ค้างอยู่ได้

“เงินจำนวนนั้นช่วยเราได้มากจริงๆ เพราะลำพังแค่งานของฉัน เราคงไม่มีเงินพอจะจ่ายค่าเช่าเต็มจำนวนสำหรับห้องอะพาร์ตเมนต์ได้ เราจึงคุยกับเจ้าของห้องและต่อรองขอเลื่อนการชำระหนี้ ดังนั้น เมื่อมีความช่วยเหลือจากรัฐบาลเข้ามา เราจึงสามารถจัดการจ่ายค่าเช่าบ้านได้”

ความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ระหว่างสามสัปดาห์ที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับทั้งสองคน

แม้ว่าพวกเขาจะสามารถหาทางจ่ายค่าเช่าบ้านที่ติดค้างอยู่ได้แล้ว และได้รับอาหารจากสวัสดิการลูกจ้างของคาโรลินา แต่ทั้งคู่ต้องการใครสักคนที่จะช่วยไปซื้อของและจับตาดูพวกเขาหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

“เพื่อนของฉันช่วยไปซื้อของชำมาให้ พวกเขานำมันมาวางไว้หน้าห้องอะพาร์ตเมนต์ และเมื่อฉันรู้ว่าพวกเขากลับไปแล้ว ฉันจึงจะเปิดประตูห้องเพื่อนำของเหล่านั้นเข้ามา”

เพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้ทั้งสองสมัครขอรับความช่วยเหลือเป็นเงินสูงสุด 3,000 ดอลลาร์ ที่รัฐบาลวิกตอเรียมีให้แก่นักเรียนต่างชาติในรัฐ ที่มีรายได้ลดลงเนื่องมาจากการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19

เงินช่วยเหลือ เรนต์ รีลีฟ แกรนต์ (Rent Relief Grant) เป็นเงินช่วยเหลือสำหรับจ่ายค่าเช่าที่พัก ซึ่งจ่ายให้แก่ชาวรัฐวิกตอเรีย รวมทั้งนักเรียนต่างชาติ ที่กำลังประสบปัญหาในการจ่ายค่าเช่าที่พัก เพราะการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา

“พวกเราสมัครขอรับความช่วยเหลือนี้ด้วย และพวกเรากำลังรอคำตอบอยู่ เราเชื่อว่าพวกเขาจะให้ช่วยเหลือนี้แก่เรา เพราะตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ดูแลห้องเช่า โทรศัพท์มาบอกเราว่า รัฐบาลได้ติดต่อพวกเขาเพื่อต่อรองสัญญาการจ่ายค่าเช่า”

หลังจากสามสัปดาห์แห่งความเครียด ความทุกข์ทรมาน และการกักตัวทำให้ไปไหนมาไหนไม่ได้ คาโรลินาและอังเดรส ผ่านการทดสอบที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต ซึ่งพวกเขาสามารถเอาชนะเชื้อโควิด-19 ได้

ขณะนี้ อังเดรสพร้อมที่จะกลับไปขี่รถจักรยานยนต์และเริ่มทำงานอีกครั้ง

คาโรลินา ได้กลับไปทำงานที่ร้านอาหารอีกครั้งพร้อมรอยยิ้ม และความรู้สึกขอบคุณที่ยังคงมีงานทำอยู่ หลังจากผ่านพ้นความยากลำบากแสนสาหัส ที่ทำให้เธอต้องทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ

* ชื่อถูกเปลี่ยน เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว

เงินช่วยเหลือ เรนต์ รีลีฟ แกรนต์ (Rent Relief Grant) เป็นเงินช่วยเหลือสำหรับจ่ายค่าเช่าที่พัก จำนวนไม่เกิน 3,000 ดอลลาร์ ซึ่งจ่ายให้แก่ชาวรัฐวิกตอเรีย รวมทั้งนักเรียนต่างชาติ ผู้ถือวีซ่าเวิร์กกิง ฮอลิเดย์ ผู้ถือวีซ่าทักษะชั่วคราว ที่กำลังประสบปัญหาในการจ่ายค่าเช่าที่พัก เพราะการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา

อ่านรายละเอียดและสมัครขอรับความช่วยเหลือได้ที่เว็บไซต์ของการเคหะรัฐวิกตอเรีย
LISTEN TO
Thai mum in Australia's nightmare of COVID-19 image

คนไทยในออสฯ เล่าพิษสงเชื้อมัจจุราชโควิด-19

SBS Thai

23/04/202033:04

ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตมหานครของเมลเบิร์น (Metropolitan Melbourne) อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ระดับ 4 และจะต้องปฏิบัติตามการห้ามออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 20.00 น.-5.00 น.

ในระหว่างช่วงเวลาที่ห้ามออกจากเคหสถาน ประชาชนในเมลเบิร์นจะสามารถออกจากบ้านได้ เพื่อไปทำงาน หรือไปรับบริการด้านสุขภาพหรือไปรับการดูแลที่จำเป็น หรือเพราะเหตุผลด้านความปลอดภัยเท่านั้น

ระหว่างเวลา 5.00 น. เป็นต้นไปจนถึงเวลา 20.00 น. ประชาชนในเมลเบิร์นจะสามารถออกจากบ้านได้ เพื่อออกกำลังกาย เพื่อไปซื้อของจำเป็นและไปรับบริการที่จำเป็น ไปทำงาน ไปรับบริการด้านสุขภาพ หรือไปให้การดูแลญาติที่ป่วยหรือผู้สูงอายุเท่านั้น

รายละเอียดข้อจำกัดทั้งหมดสามารถดูได้  ชาวรัฐวิกตอเรียทุกคนจะต้องสวมหน้ากากหรือผ้าปกคลุมจมูกและปากเมื่อออกจากเคหสถาน ไม่ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ใด

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 8 September 2020 1:41pm
Updated 8 September 2020 1:52pm
By Silvia Rosas
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS Spanish


Share this with family and friends