ออสเตรเลียมักมีเหตุการณ์ไฟป่าเกิดขึ้น แต่ปี 2019-2020 นั้นไม่เหมือนกับปีใดๆ
ไฟป่าได้สร้างความเสียหายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยทำลายพื้นที่ไปกว่า 14 ล้านเอเคอร์ คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 20 ราย และคาดว่าสัตว์ 1,000 ล้านตัวต้องจบชีวิตลง
ประเด็นสำคัญของบทความ
- ระบบเตือนภัย 3 ระดับของออสเตรเลียได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม
- มีสัญญาณเตือนด้วยสีที่ต่างกันภายในรูปสามเหลี่ยม ซึ่งแต่ละสีนั้นระบุถึงความรุนแรงของเหตุการณ์ คือ สีเหลืองสำหรับ “มีคำแนะนำ” สีส้มสำหรับให้ “เฝ้าระวังและดำเนินการ” และสีแดงสำหรับ “คำเตือนฉุกเฉิน”
- การแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินเป็นระบบเตือนภัยทางโทรศัพท์แห่งชาติ ที่ใช้โดยบริการฉุกเฉินต่างๆ เพื่อส่งข้อความเป็นเสียงไปยังโทรศัพท์บ้าน และส่งข้อความเป็นตัวหนังสือไปยังโทรศัพท์มือถือ เกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินที่มีแนวโน้มและเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้ว
ความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าในฤดูร้อนนี้มีมากพอๆ กับปีที่ผ่านมา แต่มีสิ่งสำคัญที่แตกต่างออกไปในปีนี้ ดร.ริชาร์ด ทอร์นตัน ผู้บริหารระดับสูงของ ศูนย์วิจัยความร่วมมือด้านไฟป่าและภัยธรรมชาติ (Bushfire and Natural Hazards Cooperative Research Centre) กล่าว
“ไฟป่าสามารถเริ่มขึ้นได้จากไฟผ่า หรือความสะเพร่าจากกองไฟที่ก่อขึ้นโดยผู้ตั้งแคมป์ หรือจากรถยนต์ที่จอดอยู่เหนือหญ้าที่ยาว หรือจากสิ่งใดๆ เหล่านั้น ซึ่งนั่นสามารถทำให้ผู้คนไม่ทันได้ตั้งตัว”
หลังเหตุการณ์ไฟป่าที่สร้างความเสียหายอย่างหนักเมื่อปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการไต่สวนหาความจริงสาธารณะเกี่ยวกับเหตุการณ์หายนะ ได้พิจารณาแผนสำหรับออสเตรเลีย ที่จะรับมือกับเหตุการณ์รุนแรงสุดโต่งทางสภาพอากาศทั้งหมด
โดยส่วนหนึ่งของคำแนะนำจากคณะกรรมาธิการดังกล่าว คือการเรียกร้องให้รัฐบาลของรัฐและมณฑลต่างๆ หันมาใช้ระบบแจ้งเตือนสำหรับภัยทุกประเภทในออสเตรเลีย
ผลคือ ได้มีการพัฒนาระบบเตือนภัยแห่งชาติของออสเตรเลียรูปแบบใหม่ โดย ออสเตรเลเชียน ไฟร์ แอนด์ อีเมอร์เจนซี เซอร์วิส ออทอริตีส์ เคาน์ซิล (Australasian Fire and Emergency Service Authorities Council) หรือ เอเอฟเอซี (AFAC) และได้เริ่มนำออกมาใช้งานตั้งแต่เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ระบบแจ้งเตือนภัย 3 ระดับ
การวิจัยโดย เอเอฟเอซี พบว่า ชุมชนอย่างกว้างขวางให้การสนับสนุนระบบแจ้งเตือนภัย 3 ระดับที่เข้าใจง่ายและไม่ซับซ้อนการแจ้งเตือนภัยด้วยการใช้สีเป็นสัญลักษณ์ภายในรูป 3 เหลี่ยมดังกล่าว ได้แก่ สีเหลืองสำหรับ “มีคำแนะนำ” (Advice) สีส้มสำหรับให้ “เฝ้าระวังและดำเนินการ” (Watch and Act) และสีแดง สำหรับ “คำเตือนฉุกเฉิน” (Emergency Warning)
Source: Getty Images
ระดับแรกคือ “มีคำแนะนำ” (Advice) หมายถึง ไฟป่าได้เริ่มขึ้นแล้ว แต่ยังไม่มีอันตรายในทันที
ระดับที่สองคือ “เฝ้าระวังและดำเนินการ” (Watch and Act) หมายถึงสภาพการณ์กำลังเปลี่ยนแปลงและประชาชนควรดำเนินการเพื่อปกป้องตนเอง
ระดับที่สามคือ “คำเตือนฉุกเฉิน” (Emergency Warning) หมายถึง ประชาชนกำลังตกอยู่ในอันตราย และการดำเนินการที่ล่าช้าจะทำให้ชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยง
จากนี้ไป คุณจะได้เห็นสัญลักษณ์เหล่านี้บนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ
หากคุณเห็นสัญลักษณ์นี้ใกล้ตัวคุณ อย่ารอช้า
จะมีข้อมูลให้เกี่ยวกับสิ่งที่คุณต้องทำเพื่อปกป้องตนเอง
คุณอาจเห็นสามเหลี่ยมสีส้ม มาพร้อมกับการแจ้งให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ‘Watch and Act: Prepare to Leave’ หมายถึง ให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมอพยพออกจากพื้นที่
นอกจากไฟป่าแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป ระบบแจ้งเตือนภัยด้วยการใช้สีเป็นสัญลักษณ์นี้จะถูกใช้สำหรับเหตุฉุกเฉินทุกประเภท
Source: Getty Images
การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เวสเทิร์นออสเตรเลียและนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีได้ตัดสินใจจะนำระบบแจ้งเตือนรูปแบบใหม่นี้มาใช้ในภายหลัง และการแจ้งเตือนสำหรับภัยอื่นๆ เช่น น้ำท่วม พายุไซโคลน และมวลอากาศร้อนจัด จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในระยะเวลาหลายเดือนข้างหน้า
คุณฟิโอนา ดันสแตน ประธานกลุ่มข้อมูลสาธารณะและการแจ้งเตือนแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมาธิการด้านอัคคีภัยและบริการฉุกเฉินแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า หัวใจของระบบเตือนภัยแห่งชาติดังกล่าว คือระบบแจ้งเตือนภัยที่ใช้สีแตกต่างกัน เพื่อบ่งบอกถึงความรุนแรงของภัยที่เกิดขึ้น
“เราได้พัฒนาระบบแจ้งเตือนที่แบ่งเป็นการแจ้งเตือน 3 ระดับ เรามีระดับ“มีคำแนะนำ” (Advice) ระดับ “เฝ้าระวังและดำเนินการ” (Watch and Act) และระดับ “คำเตือนฉุกเฉิน” (Emergency Warning)”
สำหรับไฟบางสถานการณ์ อาจมีการแจ้งเตือนผ่านทางวิทยุหรือโทรทัศน์ไปพร้อมๆ กับเสียงเตือนภัย เช่น เสียงหวอหรือเสียงไซเรน
แต่สำหรับไฟป่าในบางสถานการณ์อาจเริ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนแทบไม่มีเวลาแจ้งเตือนประชาชนเลย คุณดันสแตน กล่าว
“เมื่อเรารู้ว่าเรามีผู้คนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างทันทีทันใด เราจะส่งข้อความเตือนทางโทรศัพท์บ้านหรือส่งข้อความเตือนทางโทรศัพท์มือถือผ่านระบบที่เรียกว่า ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน (Emergency Alert)”
ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน (Emergency Alert) นี้เป็นระบบแจ้งเตือนภัยทางโทรศัพท์ทั่วประเทศ ที่ใช้โดยบริการฉุกเฉินต่างๆ เพื่อส่งข้อความเป็นเสียงไปยังโทรศัพท์บ้าน และส่งข้อความเป็นตัวหนังสือไปยังโทรศัพท์มือถือเกี่ยวกับเหตุฉุกเฉินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหรือได้เกิดขึ้นแล้ว
คุณไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนหรือแจ้งขอรับการแจ้งเตือนฉุกเฉิน ระบบนี้จะทำงานจากฐานข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ทั่วประเทศการฟังวิทยุในท้องถิ่นเป็นอีกทางหนึ่งที่จะได้รับแจ้งถึงภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากไฟป่าและสภาพอากาศที่รุนแรง เช่นเดียวกับการติดตามข้อมูลทางเว็บไซต์และทางแอปพลิเคชันของหน่วยงานด้านอัคคีภัยในท้องถิ่น คุณฟิโอนา ดันสแตน กล่าว
Firefighter nsw rural service Source: Getty Images
“หน่วยงานด้านอัคคีภัยและบริการฉุกเฉินมีเว็บไซต์ ดังนั้น ข้อมูลต่างๆ จะแสดงไว้บนเว็บไซต์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของตัวหนังสือให้อ่าน หรือเป็นแผนที่ให้สามารถดูได้ว่าพื้นที่ใดที่กำลังมีการแจ้งเตือน”
จากการที่ชาวออสเตรเลียไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ ผู้คนมากมายจะมุ่งหน้าไปพักค้างแรมยังที่ตั้งค่ายพักแรมต่างๆ ทั่วประเทศ
เซอิจิ อิวาโอ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติของเซาท์ออสเตรเลีย กล่าวว่า ฝนที่ตกลงมาเมื่อไม่นานนี้ทำให้พืชพันธุ์ในป่าเติบโตขึ้นมากในพื้นที่พักผ่อนที่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน
“หญ้ากำลังเติบโต ซึ่งนี่ไม่ใช่ปีที่ปกติ ดังนั้น เราจึงวิตกเกี่ยวกับเหตุไฟไหม้หญ้าแห้ง (grass fire)”
เขาขอให้ผู้ตั้งค่ายพักแรมต้องรู้ถึงข้อจำกัดในการจุดไฟตามที่อุทยานต่างๆ ที่มีป้ายแจ้งไว้ และใช้สามัญสำนึกเมื่อก่อกองไฟในที่พื้นที่ป่า
“หากลมพัดแรงเกินไป พวกเขาต้องตัดสินใจเองว่าจะไม่ก่อไฟ หรือต้องรับผิดชอบในความปลอดภัยของการก่อไฟด้วย จะต้องมีคนที่คอยเฝ้าดูกองไฟที่ก่อขึ้นมาตลอดเวลา”
ลิงก์ไปยังแอปพลิเคชันการแจ้งเตือนภัยไฟป่า:
, , ,, , , รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
Source: Getty Images
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
Settlement Guide: ร้อนนี้ระวังคลื่นความร้อนและผิวไหม้แดด