'มุมมองที่ขัดแย้ง': ชาวออสเตรเลียรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานและความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ตั้งแต่เรื่องการอพยพย้านถิ่นไปถึงพลังงานนิวเคลียร์และเรื่องโดนัลด์ ทรัมป์ไปถึงประเด็นจีน ทัศนคติของชาวออสเตรเลียต่อปัญหาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศพวกเขาคิดเห็นอย่างไรกัน

A large crowd of people moving through an outdoor shopping centre.

ชาวออสเตรเลียเกือบครึ่งหนึ่งคิดว่าการรับผู้อพยพเข้าประเทศมีอัตราที่สูงเกินไป ตามรายงานฉบับใหม่ของ Lowy Institute Source: AAP / Steven Saphore

ประเด็นสำคัญ
  • ชาวออสเตรเลียเกือบครึ่งหนึ่งคิดว่าการรับผู้อพยพเข้าประเทศมีอัตราที่สูงเกินไป ตามรายงานฉบับใหม่ของ Lowy Institute
  • ในขณะเดียวกัน ชาวออสเตรเลีย 9 ใน 10 คนเชื่อว่าประชากรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศเป็นสิ่งที่ดี
  • ยังมีการสำรวจความเห็นของชาวออสเตรเลียเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น จีน การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้น และพลังงานนิวเคลียร์
เกือบ 1 ใน 2 คนเชื่อว่ามีผู้อพยพย้ายถิ่นฐานมากเกินไป แม้ว่าชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่เชื่อว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นพรสำหรับประเทศก็ตาม

ผลสำรวจใหม่ที่เผยแพร่โดย Lowy Institute เกี่ยวกับทัศนคติของชาวออสเตรเลีย เผยให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 48 ระบุว่าจำนวนผู้อพยพทั้งหมดที่เดินทางมาออสเตรเลียในแต่ละปีนั้นสูงเกินไป

ผลลัพธ์นี้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากครั้งสุดท้ายที่มีการสำรวจประเด็นนี้ในปี 2019 และยังคงต่ำกว่าจุดสูงสุดในปี 2018 ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ ทว่ามันยังคงสะท้อนถึงอัตราที่เพิ่มขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเป็นช่วงเวลาไม่กี่เดือนหลังจากที่รัฐบาลเปิดตัวแคมเปญ Stop the Boats อันโด่งดัง

จำนวนคนที่เชื่อว่าจำนวนผู้อพยพเข้ามา "เหมาะสม" ลดลงจากร้อยละ 47 ในปี 2014 เหลือร้อยละ 40 ในปี 2024

แม้จะเป็นเช่นนี้ แต่ชาวออสเตรเลีย 9 ใน 10 คนยังคงเชื่อว่าประชากรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศส่งผลดีต่อออสเตรเลีย ในขณะที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นผลมาจากการอพยพเข้าประเทศหลายทศวรรษ ไรอัน นีแลม (Ryan Neelam) ผู้เขียนรายงานกล่าว

“เราพบว่าผู้คนอาจมีมุมมองที่ขัดแย้งกันในเวลาเดียวกัน แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นความขัดแย้ง” เขากล่าวกับ Australian Associated Press

“ผู้คนมองว่าอัตลักษณ์ของประเทศคือความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่เมื่อเป็นเรื่องอัตราการอพยพเข้าประเทศ ดูเหมือนว่าพวกเขาจะเปิดใจต่อเรื่องนี้น้อยลง

“มันเป็นปัญหาใหญ่และซับซ้อนมาก ขึ้นอยู่กับว่าคุณถามถึงส่วนใดของปัญหา ผู้คนอาจมีมุมมองที่ดูแตกต่างกันมาก

การดีเบตทางการเมืองนี้กำลังดำเนินไปในขณะที่ประเทศกำลังประสบกับวิกฤตค่าครองชีพ โดยพรรคการเมืองหลักได้เสนอนโยบายที่เชื่อมโยงการอพยพเข้ากับผลกระทบทางเศรษฐกิจและปัญหาที่อยู่อาศัย

ความนิยมของทรัมป์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความนิยมของสหรัฐฯ ลดลง

ชาวออสเตรเลีย 2 ใน 3 ต้องการให้โจ ไบเดนได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง

แต่เกือบ 1 ใน 3 (29 เปอร์เซ็นต์) สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสมัยที่เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งก่อน (23 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020 และ 11 เปอร์เซ็นต์ในปี 2016)

ขณะเดียวกัน ความรู้สึกในเชิงบวกของชาวออสเตรเลียที่มีต่อสหรัฐฯ ก็ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่การสำรวจประจำปีของ Lowy เริ่มต้นขึ้นเมื่อสองทศวรรษก่อน

มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่าพันธมิตรสหรัฐฯ มีความสำคัญต่อความมั่นคงของออสเตรเลีย แต่ 75 เปอร์เซ็นต์ยังเชื่ออีกด้วยว่าความเป็นพันธมิตรนี่เอง ทำให้มีแนวโน้มที่ออสเตรเลียจะเข้าสู่สงครามในเอเชียมากขึ้น

ความเชื่อมั่นในจีนเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ

ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าชาวออสเตรเลียมีทัศนคติต่อจีนที่บดบังความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีเสถียรภาพมากขึ้น

ในปี 2022 ความนิยมของจีนลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีชาวออสเตรเลียเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่ไว้วางใจรัฐบาลปักกิ่ง

แต่การเลือกตั้งของรัฐบาลพรรคแรงงานได้ช่วยลดความตึงเครียดลง และนักการเมืองออสเตรเลียได้กลับมามีปฏิสัมพันธ์กับคู่หูชาวจีนอีกครั้ง ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งค่อยๆ ยกเลิกข้อจำกัดทางการค้า

จากผลสำรวจความคิดเห็นในปี 2024 ความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้นตัวกลับไปสู่จุดสูงสุดอย่างในปี 2018 ซึ่งชาวออสเตรเลียมากกว่าครึ่งหนึ่งระบุว่าพวกเขาไว้วางใจจีน แต่แสดงให้เห็นว่าชาวออสเตรเลียร้อยละ 17 ไว้วางใจจีนในการดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบในโลกนี้

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางทหารที่อาจเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในไต้หวันได้รับการระบุว่าเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดสองประการของออสเตรเลียในทศวรรษหน้า

การสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น

ทัศนคติเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์เปลี่ยนไป สำหรับคนท้องถิ่น

ในปี 2024 ชาวออสเตรเลีย 61 เปอร์เซ็นต์สนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ในขณะที่เมื่อ 13 ปีก่อนคนในสัดส่วนที่เกือบจะเท่ากันคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

นีแลมกล่าวว่าบริบทปัจจัยอาจมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะยังคงติดอยู่ในความคิดของชาวออสเตรเลียในปี 2011 ขณะที่ในปี 2024 ฝ่ายค้านได้ออกมาส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์

"เป็นการผสมผสานระหว่างระยะห่างระหว่างภัยพิบัติครั้งล่าสุด ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทัศนคติของชุมชนที่เปลี่ยนไป และภัยคุกคามต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยังคงดำเนินอยู่" เขากล่าว


Share
Published 12 June 2024 11:30am
Presented by Warich Noochouy
Source: AAP, SBS


Share this with family and friends