ขณะที่ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับสถานการณ์ไฟป่าที่เลวร้ายอย่างไม่ลดละ ย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยฉบับหนึ่งที่ได้เตือนถึงเหตุไฟป่าที่จะเลวร้ายขึ้น ซึ่งกลับมาเป็นที่สนใจในสังคมอีกครั้ง
นายรอส การ์โนต์ (Ross Garnaut) นักเศรษฐศาสตร์ ได้เตือนว่า จะเกิดเหตุไฟป่าที่รุนแรงในช่วงราวปี 2020 ที่ทั้งยาวนานและรุนแรงขึ้น ในงานวิจัยวิเคราะห์ตัวเลขทางเศรษฐกิจในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำจากรัฐบาลสหพันธรัฐ ภายใต้การนำโดย นายเควิน รัดด์ อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เมื่อปี 2008
“(ในเวลานั้น) ผมเพียงสะท้อนข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และผมได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ฤดูกาลไฟป่าจะเริ่มต้นเร็วกว่าเวลาปกติและรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันที่สถานการณ์รุนแรงนั้นจะยาวนาน และสถานการณ์ไฟป่าที่เลวร้ายก็จะทวีความรุนแรง และมีความอันตรายมากขึ้น” นายการ์โนต์กล่าวงานวิจัยฉบับดังกล่าว ได้คาดการณ์ว่าออสเตรเลียจะเกิดฤดูกาลไฟป่าที่รุนแรงขึ้นภายในปี 2020 นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ออสเตรเลียตกอยู่ในความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
NSW Rural Fire Service crews fight the Gospers Mountain fire. Source: AAP
นายการ์โรต์กล่าวว่า เขารู้สึกเสียใจที่โอกาสของออสเตรเลียนั้นหมดไป และไม่สามารถโน้มน้าวให้ออสเตรเลียมีบทบาทหลักในความพยายามที่จะลดการปล่อยมลพิษ เพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้
“มันเป็นเรื่องของประโยชน์ของมนุษย์ชาติทั้งมวล หากเราก้าวไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้โดยเร็ว ออสเตรเลียจะได้รับประโยชน์มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ เนื่องจากตกอยู่ในความเสี่ยงมากกว่าใคร” นายการ์โนต์กล่าว
เขากล่าวอีกว่า สถานการณ์ไฟป่าในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลง หากความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศยังคงเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังได้คาดการณ์ไว้อีกว่า จำนวนวันที่จะเกิดสภาพอากาศรุนแรงจนเกิดไฟป่าจะเพิ่มขึ้น 300% ภายในปี 2067
แต่หากออสเตรเลียสามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนได้ ก็จะเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับออสเตรเลีย
“ออสเตรเลียยังจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากสุดในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากเทียบกับระดับโลก เนื่องจากเรามีทรัพยากรสำหรับพลังงานทดแทนที่ดีที่สุด” นายการ์โนต์กล่าว
Sarsfield resident Wayne Johnston inspects damage to his property on 3 January. Source: Getty
รัฐบาลออสเตรเลียทำอะไรบ้าง
เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในออสเตรเลียจำนวนมากได้เริ่มแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการคาดการณ์ไฟป่าจากรายงานฉบับนี้ที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อปี 2008 ท่ามกลางสถานการณ์ไฟป่าที่ลุกไหม้ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ
ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2007 โดย นายเควิน รัดด์ อดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย พร้อมมุขมนตรีจาก 6 รัฐทั่วออสเตรเลีย และผู้ว่าการจากอีก 2 เขต โดยในเวลานั้น นายรอส การ์โนต์ได้รับมอบหมายให้วิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของออสเตรเลีย รวมถึงให้คำแนะนำด้านนโยบายในระยะกลางและระยะยาว รวมถึงให้ข้อเสนอแนะต่อโครงสร้างเชิงนโยบาย ในการพัฒนาศักยภาพความสำเร็จด้านความยั่งยืน
หลังนายเควิน รัดด์ ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย รัฐบาลสหพันธรัฐได้เข้าร่วมพิจารณางานวิจัยดังกล่าวเมื่อปี 2008 รัฐบาลของนายรัดด์เห็นชอบกับข้อมูลสำคัญหลายประการในงานวิจัยฉบับนี้ รวมถึงเห็นชอบว่า “ข้อตกลงที่เป็นธรรมและได้ผลในการลดการปล่อยมลพิษ รักษาระดับ และควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ที่ประมาณ 450 ส่วนในล้านส่วน (ppm) หรือต่ำกว่านั้น จะเป็นประโยชน์ต่อออสเตรเลีย”แต่ในไม่กี่ปีหลังจากนั้น นโยบายด้านการรับมือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนและสร้างความแตกแยกในการเมืองออสเตรเลีย แม้นายรัดด์ได้พยายามแล้ว แต่ก็ผิดพลาดในแง่การซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme) อย่างไรก็ตาม นโยบายภาษีคาร์บอนได้ผ่านการพิจารณาในสมัยรัฐบาลภายใต้การนำโดย นางจูเลีย กิลลาร์ด แต่ต่อมาได้ถูกยกเลิกในสมัยรัฐบาล นายโทนี แอบบอตต์
Ross Garnaut speaks to Kevin Rudd in 2009. Source: AAP
ทั้งนี้ ออสเตรเลียได้ให้คำปฏิญาณในสนธิสัญญาปารีส ในสมัยรัฐบาลนายแอบบอตต์ แต่พรรคร่วมรัฐบาลได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องว่า ยังทำงานไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาที่ตามมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ระวังมิจฉาชีพอ้างระดมเงินช่วย จนท.-ผู้ประสบเหตุไฟป่า