รับหิ้วของไทย-ออสฯ งานเสริมเล็กๆ แต่เสี่ยงสูง หากแจ็กพอตเจอของต้องห้าม

การโพสต์รับหิ้วของจากออสเตรเลียไปไทย หรือไทยมาออสเตรเลีย เป็นงานเสริมที่พอจะสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ที่นักเรียนไทย และคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศมักเลือกที่จะทำกัน

Parcels arriving from overseas being at an Australian mail screening centre

พัสดุที่มาจากต่างประเทศจะอยู่ที่ศูนย์คัดกรองไปรษณีย์ของออสเตรเลีย Credit: Department of Agriculture, Water and the Environment

ประเด็นสำคัญ
  • การรับฝากหิ้วของ มีค่าจ้างอยู่ระหว่าง 15 – 20 ดอลลาร์ หรือขึ้นอยู่น้ำหนักของพัสดุ
  • ด่านตรวจคนเข้าเมืองออสเตรเลียเข้มงวดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
  • รัฐบาลออสเตรเลียเตรียมเพิ่มค่าปรับ หากพบของต้องห้ามนำเข้าข้ามพรมแดน
จากกรณีเว็บไซต์ได้รายงานข่าวนักเรียนชาวไทยในออสเตรเลีย โพสต์รับหิ้วของไปออสเตรเลีย ต่อมามีคนส่งกล่องพัสดุจ่าหน้าถึงเพื่อที่จะฝากส่ง แต่ทางพ่อของนักเรียนรู้สึกเอะใจจึงตรวจสอบดูพบว่ากล่องมีน้ำหนักมาก เลยโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและขอให้แกะดูพร้อมกัน เมื่อแกะออกพบซองเอกสารจากสำนักงาน ปปช.ยิ่งทำให้สงสัยมากขึ้น จึงได้แกะเบาะนั่งผ้าดูพบว่าด้านในเป็นโคเคนผงน้ำหนัก 7.5 กก.

นายวัด ผู้เป็นพ่อ กล่าวกับว่า เดือนหน้าลูกสาวจะกลับจากออสเตรเลีย และจะเดินทางกลับไปเพื่อศึกษาต่อ ลูกสาวได้โพสต์รับหิ้วของกลับไปออสเตรเลีย ซึ่งพบว่ามีผู้ชายติดต่อมาทางแชทว่าจ้างให้หิ้วกล่องกระดาษกลับไปออสเตเลีย ให้ค่าจ้าง 3,500 บาท จากนั้นก็มีกล่องพัสดุนี้ส่งมา จึงคาดว่าหากตนไม่รู้สึกเอะใจตรวจสอบกล่องดังกล่าวดู แล้วลูกสาวกลับมาแล้วหิ้วกลับไปออสเตรเลียคงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับครอบครัวตนแน่
ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน 2023 ได้จับกุมหญิงไทยรายหนึ่งหลังตรวจพบว่าลักลอบขนเฮโรอีนขนาด 8 กิโลกรัม ซึ่งมีมูลค่าในตลาดมืดสูงถึง 3.4 ล้านเหรียญออสเตรเลีย เข้ามาผ่านสนามบินนานาชาติเมลเบิร์น

หญิงไทยรายนี้ถูกควบคุมตัวทันทีพร้อมข้อหา การนำเข้าและมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้ายา ได้แก่ เฮโรอีน ซึ่งขัดต่อมาตรา 307.1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ค.ศ. 1995 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งสองกรณีที่ยกมาข้างต้นนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง ในประเด็นการรับหิ้วของข้ามประเทศ ทว่าสิ่งที่แสดงให้เห็นคือความเข้มงวดของด่านตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลีย

ด้านเจ้าหน้าที่จากด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือ Australian Border Force (ABF) ระบุว่า เราได้ใช้ทักษะและเครื่องมือตรวจจับที่หลากหลายเพื่อระบุและขัดขวางอาชญากรที่พยายามลักลอบนำเข้ายาเสพติดในกระเป๋าถือหรือกระเป๋าเดินทางประเภทอื่นๆ

“ข้อความของเราถึงผู้ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางอาญาประเภทนี้คือ หากคุณตั้งใจจะลักลอบขนยาเสพติดข้ามชายแดน อย่าทำเพราะเราจะขัดขวางคุณและคุณจะถูกดำเนินคดี” เจ้าหน้าที่ ABF กล่าว

รับหิ้ว รับฝากของ งานเสริมเล็กๆ ที่เสี่ยงไม่น้อย

การโพสต์รับหิ้วของจากออสเตรเลียไปไทย หรือไทยมาออสเตรเลีย (หรือประเทศอื่นๆ) ดูเหมือนจะเป็นช่องทางทำเงินให้คนไทยหลายคนที่เดินทางระหว่างสองประเทศบ่อยๆ มีการประกาศตามหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวและกลุ่มเฟซบุ๊กต่างๆ มากมายหลายโพสต์ โดยมีค่าจ้างหิ้วอยู่ที่ 15 – 20 ดอลลาร์ ในขนาดไม่เกิน 1 กิโลกรัม และหากมากกว่านั้นก็จะมีการคิดราคาตามน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น
goods delivering FB post
ภาพจำลองตัวอย่างโพสต์ประกาศรับหิ้วของในเฟซบุ๊ก

โดยที่โพสต์ส่วนใหญ่มักระบุว่าในเงื่อนไขการฝากหิ้วว่า “ของทุกชิ้นที่ฝากส่งจะถูกเปิดกล่องเพื่อเช็กสิ่งผิดกฎหมายก่อน”

แต่อย่างไรก็ดีนี่อาจกลายเป็นช่องโหว่ให้อาชญกรในการหาทางส่งของผิดกฎหมายในรูปการซุกซ่อนในจุดที่อาจต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบ
goods delivering FB post 2.jpg
ภาพจำลองโพสต์ประกาศรับหิ้วของ

คนไทยในเมลเบิร์นคนหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์ในการหิ้วของไปกลับไทยออสเตรเลียอยู่บ่อยครั้ง ให้สัมภาษณ์กับ ผู้สื่อข่าวเอสบีเอสไทยว่า เหตุผลที่เลือกรับงานเสริม หิ้วของกลับไทย หรือหิ้วจากไทยกลับมาออสเตรเลีย เพราะอยากหารายได้เล็กๆ น้อยๆ มาช่วยจ่ายค่าเดินเครื่องบินหรือค่าเดินทางไปมาระหว่างสนามบิน โดยมองว่าสาเหตุที่คนไทยนิยมหิ้วของกันก็เป็นเพราะน้ำหนักในกระเป็าที่ยังเหลือและไม่อยากเสียค่าน้ำหนักเปล่าๆ หรืออาจจะรวมไปถึงคนที่มาใช้บริการที่มองว่าคนปลายทางจำเป็นต้องใช้ของแบบทันทีทันใด เลยเกิดเป็นงานเสริมเล็กๆ ที่ว่านี้
โดยปกติแล้วจะแจ้งลูกค้าก่อนเสมอว่า ขออนุญาตเปิดเช็กของทุกชิ้น เช่น ถ้าสั่งเสื้อผ้าจากเว็บออนไลน์ก็แจะแกะออกมาดูว่ามีเสื้อผ้าอย่างเดียว ไม่มีอะไรแอบแฝง หรือพวกของเครื่องสำอางหรือของเล่นที่มาเป็นกล่องๆ ก็จะขออนุญาตลูกค้าเปิดเพื่อเช็กของว่ามีแค่สินค้าที่ลูกค้าแจ้งหิ้วมาเท่านั้น ไม่มีแปลกปลอม
คนไทยรายนี้กล่าวกับผู้สื่อข่าวเอสบีเอสไทย
ในส่วนของรายได้ต่อครั้งในการรับหิ้วนั้น เขาระบุว่าไม่ได้คุ้มในแง่รายได้ขนาดที่จะคืนค่าตั๋วได้ทั้งหมด อาจจะครอบคลุมค่าตั๋ว 1 ขา หรือมาช่วยลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการเดินทางไป-กลับสนามบินเสียมากกว่า

ขณะที่การเปิดรับหิ้วของก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบไม่น้อย นอกเหนือจากการรับผิดชอบสิ่งของที่นำผ่านด่านศุลกากรในแต่ละประเทศแล้ว ยังจำเป็นต้องส่งสิ่งของจนถึงมือผู้รับอีกด้วย ซึ่งเขาบอกว่า ขั้นตอนการรับของก็จะมีตั้งแต่นัดรับตัวต่อตัวตามห้างสรรพสินค้า หรืออาจต้องมีไปส่งไปรษณีย์ในบางกรณี
สิ่งที่ควรรู้เลยคือเรื่องกฎหมายของออสเตรเลียและไทยว่าของประเภทไหนที่สามารถนำเข้าได้และของประเภทไหนเป็นของต้องห้ามนำเข้า ปริมาณบรรจุของสินค้าแต่ละอย่างที่สามารถหิ้วเข้าประเทศได้
เขากล่าวถึงสิ่งที่นักหิ้วควรทราบ
Australian Border Force
Credit: ABF
ด่านคนเข้าเมืองออสเตรเลียเข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

จริงอยู่ว่า หลายคนที่รับหิ้วของมักจะรับรู้ว่าไม่รับของผิดกฎหมาย แต่ทราบหรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว ของที่ดูธรรมดาๆ ในสายตาเรา อาจเป็นของต้องห้ามนำเข้าประเทศออสเตรเลียก็เป็นได้

ประเทศออสเตรเลียมีกฎหมายและขั้นตอนตรวจตราเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพที่เข้มงวด เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่ข้ามพรมแดนประเทศเข้ามานั้นไม่มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมเกษตร

เมื่อเดินทางมาถึง ผู้โดยสารทุกคนต้องกรอกบัตรผู้โดยสารขาเข้า (Incoming Passenger Card) สำแดงสินค้าที่อาจมีความเสี่ยงต่อระบบความปลอดภัยด้านชีวภาพ เช่น อาหาร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และวัสดุจากพีช รวมถึง สิ่งของที่ทำจากไม้

สินค้ายอดนิยมต่างๆ ของคนไทยที่มักนำเข้ามา และบางอย่างต้องสำแดง หลายอย่างต้องห้ามมีอะไรบ้าง

กลุ่มที่ 1 อาหารทะเลต่างๆ: ปลาและผลิตภัณฑ์จากปลา รวมถึงเนื้อปลา ปลาหมึก กุ้ง ไม่ว่าจะสด หรือแห้ง (มักจะบรรจุพลาสติก)ผลิตภัณฑ์จากการหมักเช่นปลาร้า น้ำปลาหรือกะปิ ต้องสำแดงในทุกกรณี

กลุ่มที่ 2 เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์:รวมถึงเนื้อสัตว์แห้ง หรือฝอย ต้องสำแดงในทุกกรณี

กลุ่มที่ 3 พืช:เมล็ดพันธุ์พืช หน่อ ต้นอ่อน กิ่งก้าน ใบ หรือราก รวมถึงเมล็ดข้าวหรือธัญพืช ต้องสำแดงทุกกรณี
กลุ่มที่ 4 ผลไม้: ผลไม้สด แห้ง มะขาม น้ำมะขาม มะขามสกัด ผลไม้ดอง ผลไม้กระป๋อง ผลไม้เชื่อม ผลไม้อัดแผ่น อัดแท่งหรือผลไม้กวน ต้องสำแดงทุกกรณี

กลุ่ม 5 แมลง:แมลงทอด หนอนทอด ไข่มดแดงหรือตัวอ่อนของมดแดงไม่ว่าจะสดหรือบรรจุกระป๋อง ต้องสำแดง แต่หากผ่านกระบวนการปรุงที่เหมาะสมแล้วก็อาจสามารถนำเข้าได้ โดยเฉพาะเมื่อผ่านกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมมาแล้ว

กลุ่ม 6 เครื่องปรุงต่างๆ: พริกป่น น้ำพริก ส่วนผสมจากสมุนไพร น้ำมันต่างๆ ส่วนผสมจากสัตว์ (เช่น หมู ปลา หรือกุ้ง) ผงปรุงรสต่างๆ ต้องสำแดง

กลุ่ม 7 เครื่องครัว: ครกและสาก เครื่องจักสานต่างๆ กระติ๊บ หวดนึ่งข้าวเหนียว ต้องสำแดง เนื่องจากอาจมีสัตว์ไม่พึงประสงค์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
ABF
หญิงชาวโปรตุเกสถูกตั้งข้อหานำเข้าโคเคน - 29 ธันวาคม 2019 Credit: Australian Border Force
ค่าปรับหากไม่สำแดงสิ่งของที่นำเข้ามา

ในแต่ละปีนั้นประเทศออสเตรเลียรองรับผู้โดยสารทางอากาศจำนวนกว่า 100,000 คนและ

และการฝ่าฝืนกฎการกักกันทางชีวภาพนั้นอาจทำให้ท่านมีโทษปรับเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ $420 ดอลลาร์ไปจนถึงหลายแสนดอลลาร์ หรือโทษจำคุกได้สูงสุดถึงสิบปี

คุณมาย คนไทยจากนครซิดนีย์ให้สัมภาษณ์กับเอสบีเอสไทย ถึงกรณีที่

โดยเธอบอกว่าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองหลังจากเธอแจ้งว่านำเนื้อหมูแปรรูปเข้ามา เจ้าหน้าที่ก็ให้เธอจ่ายค่าปรับทันทีโดยไม่ได้ฟังคำอธิบายว่าเธอไม่ได้หลบเลี่ยงแต่เกิดจากความเข้าใจผิดพร้อมกับบอกว่าหากเธอไม่จ่าย เขาสามารถจะเพิกถอนวีซ่าและส่งตัวกลับประเทศไทยทันที
จากข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักงานตรวงคนเข้าเมืองออสเตรเลีย หากคุณนำผลิตภัณฑ์ต้องห้ามเข้ามาแล้วไม่สำแดงหรือจงใจให้ข้อมูลผิดในบัตรโดยสารขาเข้า หรือไม่สามารถตอบคำถามกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับสิ่งของต้องสำแดงที่คุณนำมาได้ คุณอาจต้องโทษที่รุนแรง เช่น ถูกปรับ ถูกจับในข้อหาทางแพ่งหรือคดีอาญา ถูกเพิกถอนวีซ่าหรือถูกส่งกลับมาตุภูมิ

นายอลัน เซลฟ์ (Alan Self) ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการที่สนามบินบริสเบน (Brisbane Airport) กล่าวว่า ค่าปรับนั้น เริ่มต้นที่ $444 ดอลลาร์สำหรับการละเมิดแบบเล็กน้อย การไม่สำแดงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ ตะกร้าหวายที่อาจมีแมลง ไข่ ไข่สด อันดับต่อไปคือ $1332 ดอลล่าร์ สำหรับเรื่องอย่างเช่น ไม่สำแดงผลไม้สด ค่าปรับราคาสูงที่สุดที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางชีวภาพสามารถออกได้คือ $2600 ดอลล่าร์ และนั่นอาจเป็นการไม่สำแดงผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์

“ดังนั้น วีซ่าบางประเภทอาจเสี่ยงกับการเจอโทษนี้ในการเข้าประเทศออสเตรเลีย และนั่นอาจเป็นวีซ่านักเรียน วีซ่าประเภท 457 วีซ่าเปลี่ยนเครื่อง หรือวีซ่าท่องเที่ยว เราเคยมีเหตุการณ์ที่วีซ่าถูกยกเลิกเมื่อมาถึง ถ้าเราพบว่าผู้ที่ไม่ใช่พลเมืองออสเตรเลียไม่สำแดงสินค้าและอาจนำความเสี่ยงต่อโรคที่ร้ายแรงมาได้”

รัฐบาลออสเตรเลียภายใต้การนำของนายอัลบานีซีได้ประกาศในเดือนตุลาคม ว่าจะเพิ่มค่าปรับการทำผิดกฎหมายสำหรับผู้ที่ถูกตรวจพบว่านำสิ่งต้องห้ามติดตัวเข้ามาด้วย ทั้งนี้เพื่อหยุดยั้งโรคและแมลงศัตรูพืชไม่ให้เข้ามาในออสเตรเลีย

ตรวจสอบการนำสิ่งต่างๆ เข้าประเทศออสเตรเลียที่เว็บไซต์ หรือโทร 1800 900 090

หากท่านต้องการใช้บริการล่ามแปลภาษา ให้โทรไปที่หมายเลข 13 14 50 แล้วค่อยให้ล่ามต่อสายของท่านไปยังหมายเลขของหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (1800 900 090)




Share
Published 6 January 2024 11:20pm
Updated 8 January 2024 10:33am
By Warich Noochouy
Source: SBS

Share this with family and friends