ภายในปี 2023 อายุเกษียณของประชาชนในออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้นเป็นอายุ 67 ปี การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะหมายความว่าผู้จัดการในที่ทำงานต่างๆ ของออสเตรเลียจะต้องหาวิธีการใหม่ที่จะพยายามทำให้แน่ใจได้ว่า ทุกอย่างในที่ทำงานนั้นเหมาะสมกับลูกจ้างที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่รุ่นเบบี้ บูมเมอร์ (baby boomer) ไปจนถึงคนรุ่นเจเนเรชัน แซด (generation Z)
ลานโบว์ลิ่งและศูนย์บันเทิง วินซิตี้ ในนครเมลเบิร์น เป็นที่ทำงานแห่งหนึ่งที่พยายามรับมือกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงานที่กำลังเกิดขึ้นนี้
ดิออน วาร์น นักเรียนชั้นปีที่ 12 เป็นหนึ่งในหัวหน้างานที่ควบคุมดูแลการทำงานของลูกจ้างที่เป็นเด็กนักเรียนที่อายุน้อยกว่า ซึ่งทำหน้าที่ดูแลลานโบว์ลิ่ง ห้องเล่นเลเซอร์แทก และมินิกอล์ฟเรืองแสงเขากล่าวว่า มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถทำงานในธุรกิจแห่งนี้ได้
Dion Warne says mutual respect keeps him working at Wyncity. Source: SBS
“ความเคารพซึ่งกันและกัน” ดิออน กล่าว “คุณต้องการเข้ากันได้กับคนที่คุณทำงานด้วย”
อีกผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจนี้คือ รูดี้ เทรกัตส์ วัย 65 ปี ซึ่งทำงานไพท์ไทม์ เป็นช่างเทคนิกและช่างซ่อมบำรุงที่นั่น
เขากล่าวว่าเขายังไม่มีแผนที่จะเกษียณจากงาน
“ผมได้ทำงานที่นี่ในวันเกิดของผม มีสิ่งต่างๆ ที่ไม่ทำงาน และผมก็มีความสุขดีกับมัน ผมชอบความตื่นเต้นแบบอะดรีนาลีนหลั่ง ที่ได้ซ่อมสิ่งต่างๆ ในทันทีทันใด”
อายุเกษียณที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงลักษณะบุคลากรในที่ทำงาน
แต่สำหรับชาวออสเตรเลียสูงอายุจำนวนไม่น้อย ที่ไม่มีทางเลือก จึงต้องเกษียณช้าลง
อายุเกษียณที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญขณะนี้ อยู่ที่อายุ 65.5 ปี ซึ่งมีกำหนดจะเพิ่มขึ้น 6 เดือนในทุกๆ 2 ปี และเพิ่มขึ้นเป็นอายุเกษียณ ที่ 67 ปี ภายในปี 2023
นโยบายใหม่นี้หมายความว่า จะเป็นครั้งแรกที่ที่ทำงานในออสเตรเลีย จะมีคน 5 รุ่นทำงานร่วมกันในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง โดยคนรุ่นต่างๆ เหล่านั้นจะมีทักษะ ค่านิยม และทัศนะคติในการทำงานที่แตกต่างกันด้วย
คนรุ่นที่ถูกเรียกกันว่ารุ่นหัวอนุรักษ์นิยม ซึ่งเกิดหลังปี ค.ศ. 1945 มักถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีความมั่นคง จงรักภักดี และทำงานหนัก
คนรุ่นเบบี้ บูมเมอร์ มีคุณลักษณะเด่นคือ ให้ความร่วมมือดี และแม้แต่รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณที่ได้งานทำ
คนรุ่นเจเนอเรชัน เอ็กซ์ ซึ่งเกิดระหว่างปี ค.ศ.1965-1976 ถูกมองว่าเป็นผู้มีความเป็นปัจเจกชน รวมทั้งมีความยืดหยุ่นมากกว่า
คนรุ่นมิลเลนเนียลส์ หรือเจเนอเรชัน วาย เกิดราวปี 1977-1995 มักมีจิตวิญญาณในการเป็นเจ้าของธุรกิจ และเต็มไปด้วยแนวคิดนวัตกรรม
คนรุ่นเจเนอเรชัน แซด เกิดหลังปี 1996 ถูกมองว่ามักแสวงหาความหมาย ความสุขใจ และการสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักผ่านการทำงานของพวกเขา
คุณแคลร์ แมดเดน นักประชากรศาสตร์ กล่าวว่า คนรุ่นที่อายุน้อยที่สุดจะมีทัศนคติและค่านิยมที่แตกต่างออกไป
"พวกเขาเป็นคนพวกที่มีสมาธิสั้นกว่า เนื่องจากการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นตลอดเวลา" คุณแมดเดน กล่าว เธอเป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง เฮลโล เจน เซด: เอ็นเกจจิง เดอะ เจเนเรชัน ออฟ โพสต์-มิลเลนเนียลส์ (Hello Gen Z: Engaging the Generation of Post-Millennials)
“พวกเขาได้รับการเพิ่มขีดความสามารถ พวกเขาตระหนักถึงทางเลือกของตน แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็มักรู้สึกกระวนกระวายใจ เหมือนกับว่าพวกเขาจะต้อง ‘เปิดรับ’ สถานการณ์อยู่ตลอดเวลา”
วินซิตี้ยกความดีความชอบให้โครงการอบรมที่สร้างความสมานฉันท์ในที่ทำงาน
คุณเอดี เดอ เพลเลอกริน ผู้อำนวยการบริหารของวินซิตี้ เป็นคนรุ่นเบบี้ บูมเมอร์ วัย 56 ปี
เธอกล่าวว่า โครงการฝึกอบรมและพัฒนา ส่งผลให้ธุรกิจมีทีมงานที่ยอดเยี่ยม แต่เธอก็ยอมรับว่าลูกจ้างใหม่ที่รับมาทำงานนั้นบางครั้งสร้างความท้าทายเช่นกัน
เธอยอมรับภาพลักษณ์ของคนรุ่น เจน แซด ที่ถูกมองว่าเป็นคนรุ่นที่ “ชอบอ้างสิทธิ์” นั้นดูเหมือนจะตรงดังที่ว่า
“เมื่อฉันเริ่มทำงาน พวกเราไม่เคยถามว่าอัตราค่าจ้างเท่าไร ฉันจะได้เงินค่าจ้างเพิ่มพิเศษเมื่อทำงานนอกเวลาปกติหรือไม่ สภาพการทำงานของฉันจะเป็นอย่างไร”“แต่จะว่าไปแล้ว ก็เป็นสิ่งดีที่เด็กเหล่านี้ถูกสอนให้ถามคำถามเหล่านี้ แต่มันกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าตัวงานในบางครั้ง ตอนนี้ มันเกือบเหมือนกับว่าเด็กพวกนี้กำลังช่วยเหลือเราเสียด้วยซ้ำ ในการทำงานให้เรา”
Edi de Pellegrin says managing the five generations of workers has been a learning curve. Source: SBS
ในทางตรงกันข้าม องค์กรตัวแทนกลุ่มนายจ้างของออสเตรเลีย แย้งว่าผู้ประกอบวิชาชีพที่อายุไม่มากนักซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่นั้นไม่ได้ว่าวิตกเกี่ยวกับเงินเดือนและเงื่อนไขการทำงานเท่าใดนัก
คุณเจมส์ เพียร์สัน ผู้อำนวยการบริหารของหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า วัฒนธรรมองค์กรมักเป็นสิ่งที่คำนึงถึงเป็นหลัก
“ผมได้ไปพูดในหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจที่กำลังจะจบการศึกษา มันค่อนข้างชัดเจนมากกว่าสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญมากที่สุดคือค่านิยมและวัฒนธรรมของบริษัทที่พวกเขาจะไปทำงานให้ มากกว่าเงินค่าจ้างที่พวกเขาจะได้รับ หรือโอกาสในการก้าวหน้าทางการงาน” คุณเพียร์สัน ระบุ
“ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างมากระว่างคนรุ่นนั้น กับคนรุ่นที่อายุมากกว่า”
เสียงเรียกร้องให้มีความยืดหยุ่นในการทำงานมากกว่านี้
คุณเจมส์ เพียร์สัน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเตรียมพร้อมผู้จัดการในออสเตรเลียอย่างเพียงพอ ที่จะบริหารงานบุคคลการที่เป็นคนรุ่นแตกต่างกัน
หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย พยายามที่จะพัฒนาในจุดนี้ด้วยการจัดอบรมทั่วประเทศหลายหลายโครงการ ซึ่งใช้ชื่อว่า “เนกซ์เจน อิน บิซิเนส” (NextGen in Business) หรือ “รุ่นต่อไปในธุรกิจ”
แต่มีเสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในองค์กรนั้นขยายขอบเขตออกไปสำหรับคนทุกรุ่น
บรรดาผู้ส่งเสริมการสูงวัยอย่างสดใส กล่าวว่า บรรดาธุรกิจต่างๆ ควรมีโครงสร้างระบบพี่เลี้ยงหรือการให้คำแนะนำในการทำงาน และพยายามทำให้แน่ใจได้ว่า ลูกจ้างที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเกษียณ ได้รับความยืดหยุ่นในการทำงานมากเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่นเดียวกันกับลูกจ้างที่เป็นนักเรียน และลูกจ้างที่เป็นคุณแม่ ซึ่งต้องเลี้ยงดูบุตร
ระวังความขัดแย้งของคนต่างรุ่น
คุณแคลร์ แมดเดน นักประชากรศาสตร์ กล่าวว่า เหล่าผู้จัดการควรปลูกฝังทัศนคติเรื่อง “การหมั่นศึกษาหาความรู้ไม่ว่าจะอายุเท่าไร” ในหมู่พนักงาน ขณะเดียวกัน ก็ต้องตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่อาจเกิดความขัดแย้งของคนต่างรุ่น“เจน แซด เป็นคนกลุ่มที่เชื่อมั่นใจขีดความสามารถ มีความว่องไวและปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีได้ดี พวกเขามีทักษะที่สำคัญต่อที่ทำงานในปัจจุบัน นั่นหมายความว่าพวกเขาสามารถได้รับการเลื่อนตำแหน่งได้ในอัตราที่เร็วกว่า”
Demographer Claire Madden. Source: SBS
“แน่นอนว่า อาจมีความรู้สึกของความขัดแย้ง และความรู้สึกว่าถูกมองข้ามไปจากคนรุ่นที่อายุมากกว่า”
สำหรับคุณเอดี เดอ เพลเลอกริน ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์บันเทิงวินซิตี้ นี่เป็นสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง
“ฉันต้องเรียนรู้ที่จะสื่อสารและส่งสารของฉันออกไปให้ดีกว่านี้ ฉันต้องระบุถึงสิ่งที่ฉันหมายถึง และต้องไม่พูดกว้างมากนัก”
“การจะทำงานกับคนอายุน้อยเหล่านี้ได้ ฉันต้องพูดจาในภาษาของพวกเขา ซึ่งเป็นภาษาของเทคโนโลยี”
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.
เรื่องราวที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
ศิลปินลาวยุคใหม่แสดงผลงานที่ควีนส์แลนด์