ผู้หญิงในรัฐควีนส์แลนด์สามารถทำแท้งได้โดยไม่ต้องเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีทางอาญา เนื่องจากกฎหมายใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการทำแท้งได้รับความเห็นชอบแล้วจากการประชุมสภาของรัฐควีนส์แลนด์ เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา (17 ต.ค.)
จากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายใหม่นี้ การทำแท้งในรัฐควีนส์แลนด์ได้ถูกนำออกจากประมวลกฎหมายอาญา และถูกบัญญัติให้เป็นปัญหาทางสุขภาพ ผู้หญิงจะสามารถทำแท้งได้ภายในช่วง 22 สัปดาห์ของอายุครรภ์ แต่ถ้ามากกว่านั้น จะต้องได้รับความยินยอมจากแพทย์ที่เป็นอิสระ 2 คน นอกจากนี้ ยังมีการกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” รอบบริเวณสถานพยาบาลและคลินิก เพื่อยับยั้งการโจมตีเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านการทำแท้ง
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การทำแท้งในออสเตรเลีย: กฎหมายของแต่ละรัฐเป็นอย่างไร?
การลงมติเห็นชอบกฎหมายดังกล่าวใช้เวลาอภิปรายต่อเนื่องเป็นเวลา 2 วัน ด้วยบรรยากาศสะเทือนอารมณ์ สมาชิกสภาทั้งสองฝ่ายแสดงความเห็นในเรื่องนี้ บางส่วนมีเรื่องราวส่วนตัวที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างเช่น นางเจส พิวจ์ (Jess Puge) และ นางเมลิซซา แม็กมาฮอน (Melissa McMahon) สองสมาชิกสภารัฐควีนส์แลนด์ที่สนับสนุนการทำแท้ง เล่าประสบการณ์ทรมานจากการแท้งลูก พร้อมกับระบุว่า ผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะมีอิสระกับร่างกายของตนเอง
ขณะที่สมาชิกสภาจากพรรค LNP นายเท็ด ซอเร็นสัน (Ted Sorrenson) ถึงกับร้องไห้ในการประชุมสภาเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา (16 ต.ค.) ระหว่างคัดค้านต่อกฎหมายใหม่นี้ พร้อมกับเรื่องราวส่วนตัวของการที่เขาถูกรับเป็นลูกบุญธรรม และระบุว่ากฎหมายใหม่นี้เหมือนเป็นสิ่งที่ฆ่าเขาในทางอ้อม
ท้ายที่สุด การประชุมสภาได้ลงมติเห็นชอบกฎหมายใหม่นี้ด้วยเสียงสนับสนุน 50 ต่อ 41 เสียง โดยได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาฝ่ายค้านอย่าง สตีฟ มินนิคิน (Steve Minnikin) แจน สตูกี (Jann Stucky) และอดีตผู้นำฝ่ายค้าน นายทิม นิโกลส์ (Tim Nicholls) ลงมติเห็นชอบในครั้งนี้ด้วย
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
พบผู้หญิงทำงานที่ไม่ได้ค่าตอบแทนมากกว่าผู้ชาย