ผู้คนในออสเตรเลียจำนวนมากได้ผ่อนคลายกับสภาพอากาศที่อบอุ่นในที่สุด ขณะที่ฝนเริ่มตกลงมาน้อยลง แต่สำหรับบางคน วันที่อากาศแจ่มใสอาจไม่ใช่วันที่ดีนัก
มีประชาชนในออสเตรเลียประมาณ 1 ใน 5 ที่มีภาวะภูมิแพ้ละอองเกสรและสิ่งแปลกปลอมในอากาศ หรือไข้ละอองฟาง (hay fever) ขณะที่หน่วยงานด้านสุขภาพกำลังเตือนผู้มีภาวะอาการดังกล่าวให้เตรียมรับมือกับระดับละอองเกสรที่รุนแรงในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าจากฤดูหนาวที่ฝนตกชุกกว่าปกติ ซึ่งขับเคลื่อนโดยรูปแบบสภาพภูมิอากาศลานีญา (La Niña climate pattern)
อาการของไข้ละอองฟางเป็นอย่างไร
ชื่ออย่างเป็นทางการของไข้ละอองฟาง คือโรคแพ้อากาศหรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) เว็บไซต์เฮลธ์ไดเร็คท์ (HealthDirect) ของรัฐบาลออสเตรเลียอธิบายถึงภาวะนี้ว่า “เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อจมูกและดวงตาสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ที่ร่างกายของคุณมีความอ่อนไหว” และได้รวบรวมอาการที่เกิดขึ้นทั่วไปไว้ดังนี้
- คันจมูก มีน้ำมูกไหล หรือคัดจมูก
- คันตา หรือมีน้ำตาไหล
- มีอาการจามบ่อย ๆ
- ต้องหายใจทางปาก
- ต้องกระแอมอยู่ตลอดเวลา
- รู้สึกเหมือนเป็นหวัด หนักหัวตลอดเวลา
- มีอาการนอนกรน
ผู้ป่วยโรคไข้ละอองฟางจะพบกับอะไรในหลายสัปดาห์ที่จะถึงนี้
ฤดูกาลแพ้อากาศปีนี้ถือว่าเริ่มช้าผิดไปจากปกติ เนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยในตอนนี้ หน่วยงานสาธารณสุขกำลังเตือนประชาชาชนถึงระดับละอองเกสรที่เพิ่มขึ้นจากหญ้าและต้นไม้ที่ออกดอกรวมถึงจากแหล่งอื่น ๆ ขณะที่แสงแดดเริ่มสาดส่อง
คาดการณ์ละอองเกสรโดย เมลเบิร์น พอลเลน (Melbourne Pollen) ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น คาดว่าจะมีปริมาณละอองเกสรในระดับสูงถึงสูงมากทั่วรัฐวิกตอเรียในสัปดาห์นี้
ขณะที่แพทยสมาคมออสเตรเลียรัฐนิวเซาท์เวลส์ (AMA NSW) ได้เตือนประชาชนในระมัดระวัง ขณะที่มีประกาศเตือนพายุฝนฟ้าคะนองที่ทำให้เกิดอาการหอบหืด (thunderstorm asthma) ทั่วพื้นที่รัฐ
โจนาธาน โฮว์ (Jonathan Howe) นักพยากรณ์จากสำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย กล่าวว่า อากาศอบอุ่นครั้งแรกของฤดูใบไม้ผลิปีนี้ หลังจากฤดูหนาวที่ฝนตกชุกกว่าปกติในหลายพื้นที่ทางตะวันออกของออสเตรเลีย ทำให้ดอกไม้ หญ้า และต้นไม้จำนวนมากเริ่มผลิดอกและออกใบ นอกจากนี้ กระแสลมยังได้พัดพาละอองเกสรบางส่วนเข้าไปยังพื้นที่ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น เช่น ในนครเมลเบิร์น และกรุงแคนเบอร์รา
เราเพิ่งจะได้พบเห็นการระเบิดครั้งใหญ่ของระดับละอองเกสรโจนาธาน โฮว์ (Jonathan Howe) นักพยากรณ์จากสำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย
โดยเฉพาะในรัฐวิกตอเรีย ซึ่งกำลังพบกับปริมาณเกสรในระดับสูงถึงสูงมาก ขณะที่ระดับละอองเกสรกำลังเพิ่มขึ้นในรัฐนิวเซาท์เวลส์และมณฑลนครหลวงออสเตรเลีย
เชื่อว่าออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราผู้ป่วยไข้ละอองฟางสูงที่สุดในโลก และติดอันดับ 7 ในหมวดโรคแพ้อากาศหรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) ในการวิจัยนานาชาติด้านโรคหอบหืดและภูมิแพ้ในเด็ก (The International Study of Asthma and Allergies in Childhood หรือ ISAAC) ในปี 2006
ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2017/18 ประชากรในออสเตรเลียป่วยเป็นไข้ละอองฟางร้อยละ 19 โดยพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดคือมณฑลนครหลวง ออสเตรเลีย (ACT) ซึ่งมีผู้ป่วยที่มีภาวะอากาศนี้ประมาณร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับประชาชนเพียงร้อยละ 14 ในมณฑลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี (NT)
ทำไมปีนี้จึงต่างจากปีอื่น ๆ
ศาสตราจารย์ เจเน็ต เดวีส์ (Prof Janet Davies) ประธานกลุ่มวิจัยโรคภูมิแพ้จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนสแลนด์ กล่าวว่า ระดับละอองเกสรจากหญ้าในนครเมลเบิร์นจะเพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดระหว่างเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนธันวาคม
ฤดูกาลภูมิแพ้จะเริ่มขึ้นช้าออกไปในพื้นที่ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ ดังนั้น ประชาชนในนคร ซิดนีย์และกรุงแคนเบอร์ราก็จะพบกับฤดูกาลนี้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่ก็อาจจะถึงจุดสูงสุดอีกรอบในฤดูร้อน
ต้นศรีตรัง (Jacaranda) ที่นครซิดนีย์ ออกดอกช้ากว่าปกติในปีนี้ เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นของอากาศอบอุ่นที่ล่าช้า Source: AAP / Bianca De Marchi
แต่จากสภาพอากาศที่เปียกชื้นจากฝนตกชุกกว่าปกติในปีนี้ ดร.เอดวิน แลมพูนิอานี (Dr Edwin Lampugnani) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานจาก เมลเบิร์น พอลเลน (Melbourne Pollen) ระบุว่า การเริ่มต้นของฤดูกาลเกสรดอกไม้ในนครเมลเบิร์นนั้นเกิดขึ้นช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009
“มันเป็นการเริ่มต้นที่ล่าช้าของฤดูกาลนี้ เรามีวันแรกที่ถึงจุดสูงสุดในวันที่ 31 ตุลาคม และวันที่สองรองลงมาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (5 พ.ย.) และนี่ไม่ใช่เรื่องปกติ” ดร.แลมพูนิอานี กล่าวกับเครือข่ายโทรทัศน์ช่อง 10
ดร.แลมพูนิอานี กล่าวอีกว่า เป็นไปได้ที่ฤดูกาลภูมิแพ้จะขยายออกไปจนถึงปีหน้า แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอกอะไรในตอนนี้
“เราจำเป็นที่จะต้องดูว่าสภาพอากาศเป็นอย่างไรในช่วงอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า”
ปรากฏการณ์ลานีญามีผลกระทบอย่างไร
ศาสตราจารย์เดวีส์ เผยว่า จากการประมาณได้ชี้ว่า ผู้ที่ป่วยเป็นไข้ละอองฟางระหว่างร้อยละ 45-67 แพ้หญ้า งานวิจัยของเธอที่ได้รับการบันทึกลงใน AusPollen Brisbane พบว่า มีระดับละอองเกสรหญ้ามากกว่าปีที่แล้วเกือบ 4.5 เท่า ซึ่งก็เป็นปีที่มีปรากฏการณ์ลานีญาเช่นกัน และมากกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา
แม้จะมีปัจจัยซับซ้อนจำนวนมากที่มีบทบาทในเรื่องนี้ แต่ศาสตราจารย์เดวีส์ระบุว่า การวิจัยที่จัดทำเป็นระยะเวลา 4 ปีใน 4 ภูมิภาคของออสเตรเลีย พบละอองเกสรมากขึ้นในฤดูกาลเกสรหญ้า เมื่อมีฝนตกลงมาทั้งก่อนหรือในช่วงฤดูกาล ใกล้กับสถานีตรวจวัดปริมาณเกสรต่าง ๆ
ลักษณะภูมิอากาศลานีญา (La Niña climate pattern) ทำให้เกิดสภาพอากาศที่มีฝนตกมากกว่าปกติ และทำให้หญ้าเจริญเติบโตมากขึ้น Source: AAP
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะแพ้ละอองเกสรหญ้า บางคนอาจประสบอาการแพ้ที่แตกต่างกันในสภาพอากาศที่เปียกชื้นนี้ ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งใดจะกระตุ้นพวกเขาให้เกิดอาการแพ้
ตามปกติ ฝนจะช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยไข้ละอองฟาง จากการชำระล้างละอองเกสรที่ลอยอยู่ในอากาศ แต่ฝนก็อาจปล่อยเชื้อราบางชนิดไปในอากาศได้ ซึ่งจะสร้างปฏิกิริยาในผู้ที่แพ้เชื้อรา
“อันที่จริงแล้ว มันขึ้นอยู่กับว่าคน ๆ นั้นจะมีความอ่อนไหวต่อสิ่งใด” ศาสตราจารย์เดวีส์ กล่าว
จะทำอะไรได้บ้างเพื่อบรรเทาอาการไข้ละอองฟาง
ศาสตราจารย์เดวีส์ กล่าวว่า ผู้ป่วยไข้ละอองฟางจำนวนมากจะมองหายาเม็ดรับประทานหรือสเปรยพ่นเพื่อบรรเทาอาการ แต่ถ้าหากพวกเขามีอาการที่รุนแรงหรือเรื้อรัง สิ่งเหล่านี้ก็จะใช้ได้ผลเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น
“มันจะดีกว่ามากทีจะควบคุมการอักเสบที่แอบแฝงอยู่” ศาสตราจารย์เดวีส์ กล่าว
ศาสตราจารย์เดวีส์กล่าวอีกว่า สิ่งนี้ทำได้โดยการใช้ยาพ่นชนิดคอร์ติโคสเตียรอยด์ในจมูก หรือที่รู้จักกันในชื่อยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (steroid nasal spray) ที่ซื้อได้ตามร้านขายยา และแนะนำให้พูดคุยกับเภสัชกร
ชาวออสเตรเลียที่ป่วยเป็นเฮย์ ฟีเวอร์ ได้รับการเตือนเกี่ยวกับปริมาณเกสรดอกไม้ระดับสูงมากในปีนี้ Source: Getty / Guido Mieth
การรักษาและควบคุมการอักเสบที่แอบแฝงด้วยตัวป้องกันนั้นดีกว่าการพยายามที่จะบรรเทาอาการเพียงอย่างเดียวศาสตราจารย์ เจเน็ท เดวีส์
ประชาชนยังสามารถอยู่ในอาคารสถานที่เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับละอองเกสรในวันที่อากาศเลวร้าย หรือสวมใส่หน้ากากอนามัยคุณภาพดีเมื่อออกไปข้างนอก
พายุฝนฟ้าคะนองที่ทำให้เกิดอาการหอบหืด (thunderstorm asthma)
ศาสตราจารย์เดวีส์กล่าวว่า หากมีอาการแน่นหน้าอกหรือไอที่เกี่ยวข้องกับไข้ละอองฟางและภูมิแพ้ พวกเขาควรไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงแอบแฝง หรือภาวะอาการที่อาจเป็นหอบหืด หรือคล้ายโรคหอบหืด
“คุณจะต้องทำให้ดีเพื่อทำให้สิ่งนั้นอยู่ในการควบคุม” ศาสตราจารย์เดวีส์กล่าว
การไปพบนักภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก อาจช่วยระบุได้ว่าสิ่งใดที่ทำให้คุณเกิดอาการแพ้ สารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ นั้น รวมถึงไรฝุ่น รังแคแมว รวมถึงสปอร์จากเชื้อรา และมันยังเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจว่าคุณมีโอกาสที่จะเป็นโรคหอบหืดจากฝนฟ้าคะนองละอองเกสรหรือไม่ ซึ่งเป็นภาวะที่อาจเป็นอันตรายที่ได้คร่าชีวิตผู้คนไป 10 รายในนครเมลเบิร์น เมื่อปี 2016
พายุหอบหืดนั้นเกิดขึ้นโดยปริมาณเกสรหญ้าในระดับสูงที่สามารถแตกตัวและปล่อยอนุภาคขนาดเล็กในอากาศ ในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนองบางรูปแบบ และอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในรัฐวิกตอเรีย กรุงแคนเบอร์รา และพื้นที่โดยรอบ รวมถึงผู้ที่อาศัยในพื้นที่ส่วนภูมิภาคทางตอนกลางของรัฐนิวเซาท์เวลส์ เช่น วักกา วักกา (Wagga Wagga) ดับโบ (Dubbo) และอาจส่งผลกระทบไปไกลจนถึงเมืองแทมเวิร์ธ (Tamworth) ทางตอนเหนือของรัฐ
การศึกษาหลังเหตุการณ์พายุหอบหืดเมื่อปี 2016 พบว่า ผู้คนจำนวนมากซึ่งไม่มีการวินิจฉัยโรคหอบหืด แต่มีปฏิกิริยาต่อละอองเกสรหญ้า ประสบภาวะอาการด้านระบบทางเดินหายใจ หลายคนไม่เคยทราบมาก่อนว่าตนมีปฏิกิริยา และร้อยละ 39 ผู้ที่มาโรงพยาบาลและเข้ารับการรักษา คือผู้คนที่มาจากประเทศอินเดีย ศรีลังกา และภูมิหลังจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไข้ละอองฟาง คุณสามารถไปที่เว็บไซต์ของ เช่นเดียวกับ (คลิกหรือแตะทีชื่อหน่วยงานเพื่อเยี่ยมชม)