นักการเมืองในสภาฯ รองซึ่งปกครองตนเองในกรุงเอดินเบอระ ลงคะแนนเสียง 93 ต่อ 30 เพื่อปฏิเสธ “การยินยอมการออกกฎหมาย” ต่อร่างกฎหมายซึ่งเป็นที่โต้แย้งกันอย่างมากเรื่อง (การออกจาก) สหภาพยุโรป ที่กำลังถูกอภิปรายอยู่ในรัฐสภาของอังกฤษ
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นางเทเรซา เมย์ นั้น ไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อผูกมัดที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแผนเบร็กซิต (การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร) ของเธอแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าจะมีการคัดค้านจากทางสก็อตแลนด์ (หรือที่เรียกกันว่า โฮลีรูด)
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญก็กล่าวเตือนว่า การเผชิญหน้ากันระหว่างกรุงลอนดอนและกรุงเอดินเบอระนั้น อาจผลักดันให้สก็อตแลนด์แตกออกเป็นอิสระได้
มุขมนตรีของสก็อตแลนด์ นางนิโคลา สเตอร์เจียน ผู้นำของพรรคการเมืองซึ่งฝักใฝ่การแยกตัว พรรคสก็อตติชแนชันแนล (Scottish National Party) กล่าวว่า ประเทศอังกฤษนั้นกำลังมุ่งหน้าไปสู่ “ดินแดนด้านรัฐธรรมนูญที่ไม่เคยมีใครย่างกรายเข้าไปมาก่อน”
ความขัดแย้งดังกล่าวนั้นพุ่งไปยังประเด็นว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจในด้านต่างๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ในมือของกรุงบรัสเซลส์ เช่น ในการทำฟาร์มและประมง เมื่ออังกฤษออกจากสหภาพยุโรป
รัฐบาลพรรค SNP ของสก็อตแลนด์ต้องการให้อำนาจต่างๆ เหล่านั้นตกอยู่ภายใต้การควบคุมของสก็อตแลนด์ แต่รัฐบาลอนุรักษ์นิยมของอังกฤษโต้แย้งว่าอำนาจเหล่านั้นควรตกอยู่ในมือของกรุงลอนดอน อย่างน้อยก็ในช่วงแรก
นายไมเคิล รัสเซลล์ หัวหน้าผู้ต่อรองเรื่องเบร็กซิตของสภาฯ สก็อตแลนด์กล่าวว่า ความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะใช้เบร็กซิตเพื่อกดขี่อำนาจของสภาฯ สก็อตแลนด์นั้น “จะเป็นที่ทราบกันดีทั้งที่นี่และทั่วทั้งยุโรป”
“รัฐบาลของสหราชอาณาจักรนั้นไม่สามารถที่จะเพิกเฉยต่อความเป็นจริงที่สภาน้อยฯ นี้มีตัวตนอยู่ หรือพยายามที่จะกลบเสียงต่างๆ ที่สภาฯ นี้กล่าวได้” เขากล่าว
“พวกเขาไม่สามารถที่จะเสแสร้งว่าไม่เคยมีการผ่านญัตติ (ในเรื่องนี้)”
“มันก็จะเป็นฝ่ายสหราชอาณาจักรที่ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน และฝ่าฝืนกฎต่างๆ ไม่ใช่ทางเรา”
นายรัสเซลล์ได้เชื้อเชิญให้รัฐมนตรีประจำคณะรัฐบาล นายเดวิด ลิดิงตัน เดินทางมายังสก็อตแลนด์เพื่อให้มีการเจรจาในนาทีสุดท้ายระหว่างทุกๆ พรรค เพื่อฝ่าทางตันนี้
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ออสเตรเลียจะกระทบอย่างไรหลัง "Brexit"