วีซ่าใหม่นี้มุ่งดึงดูดผู้ย้ายถิ่นฐานให้มาทำงานในภาคเกษตรกรรมทั่วออสเตรเลีย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการนำแรงงานเข้าออสเตรเลียผ่านวีซ่าประเภทนี้แต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลยังอยู่ระหว่างเจรจาจัดทำรายชื่อประเทศที่เข้าร่วม
ในวาระเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างออสเตรเลียกับสหราชอาณาจักร ข้อตกลงดังกล่าวยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวแบ็กแพ็กเกอร์ชาวอังกฤษต้องทำงานในฟาร์มเพื่อต่อระยะพำนักในออสเตรเลีย
นายเดวิด ลิตเติลพราวด์ รัฐมนตรีด้านเกษตรกรรมของสหพันธรัฐ กล่าวในขณะนั้นว่า วีซ่านี้ “จะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับแรงงานภาคเกษตรกรรมในประวัติศาสตร์ของประเทศเรา” ช่วยให้ภาคการประมง อุตสาหกรรมป่าไม้ และอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรสามารถ “มุ่งเป้าแรงงานตามฤดูกาล แรงงานฝีมือ และแรงงานกึ่งฝีมือ”
นายลิตเติลพราวด์ประกาศโครงการวีซ่านี้โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคเนชันแนลส์ (Nationals) พร้อมทั้งระบุว่าจะดำเนินการให้พร้อมภายในปีนี้ แต่จนถึงขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนเจรจาสานข้อตกลงกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มาเข้าร่วมโครงการนี้
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
วีซ่าเกษตรใหม่เตรียมนำผู้ย้ายถิ่นมากขึ้นมาทำงานในออสเตรเลีย
สัปดาห์นี้ หนังสือพิมพ์ ดิ ออสเตรเลียน (The Australian) รายงานว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเนชันแนลส์กล่าวหาฝ่ายพรรคลิเบอรัล (Liberal) ที่เป็นพรรคร่วมด้วยกันว่าขัดขวางการจัดทำข้อตกลงทวิภาคีเพื่อเริ่มใช้งานวีซ่านี้
วันนี้ นายลิตเติลพราวด์กล่าวกับสกายนิวส์ (Sky News) ว่า นางมารีส เพย์น รัฐมนตรีการต่างประเทศของสหพันธรัฐ ให้คำมั่นกับนายลิตเติลพราวด์และนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ว่า “เธอเชื่อว่าจะประสานกับประเทศหนึ่งให้ตกลงเข้าร่วมโครงการวีซ่าเกษตรได้ในเดือนมกราคมปีหน้า”
นายลิตเติลพราวด์กล่าวว่าไม่ควรโทษความเห็นแตกแยกในพรรคร่วมว่าเป็นต้นเหตุความล่าช้านี้ แต่กล่าวหาสหภาพแรงงานออสเตรเลีย (Australian Workers' Union หรือ AWU) ว่า “วิ่งว่อนพยายามสร้างภาพเกษตรกรและวีซ่าเกษตรนี้ว่าเป็นสิ่งเลวร้าย”
นายลิตเติลพราวด์กล่าวหาว่า AWU ไปเข้าพบเอกอัครราชทูตและเยือนสถานทูตต่าง ๆ เพื่อ “เรียกร้องไม่ให้พวกเขาเข้าร่วมโครงการวีซ่านี้”
สัปดาห์ที่แล้ว AWU เรียกร้องให้นางคาเรน แอนดรูส์ รัฐมนตรีมหาดไทยของสหพันธรัฐ กลับลำการตัดสินใจเกี่ยวกับวีซ่าประเภทนี้ เพราะอาจเปิดช่องให้นายจ้างนำผู้ย้ายถิ่นฐานระยะสั้นเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าขาดแคลนแรงงานจริงหรือยืนยันว่าพยายามจ้างคนท้องถิ่นก่อนแล้ว
นายแดเนียล วอลตัน (Daniel Walton) เลขาธิการระดับชาติของ AWU กล่าวว่า “วีซ่าระยะสั้นมีบทบาทที่สมเหตุสมผลในกรณีเกิดการขาดแคลนแรงงานฝีมือจริง แต่รัฐบาลจะบอกได้อย่างไรว่าขาดแคลนแรงงานฝีมือ ในเมื่อรัฐบาลไม่ได้ต้องการให้นายจ้างแม้แต่จะทดสอบตลาดท้องถิ่น”
ด้านสภาสหภาพแรงงานช่างแห่งออสเตรเลีย (Australian Council of Trade Unions) ออกมาร่วมวิพากษ์วิจารณ์วีซ่าเกษตรด้วย โดยระบุว่าวีซ่านี้ “มอบอำนาจแก่นายจ้างที่จะป้องกันการเอารัดเอาเปรียบซึ่งพวกเขากระทำเองต่อแรงงานผู้ถือวีซ่าชั่วคราว”
ทั้งนี้ นายลิตเติลพราวด์ระบุว่า มี “บริษัทว่าจ้างแรงงานที่ได้รับอนุมัติอย่างถูกต้องพร้อมนำแรงงานเข้ามา” จากประเทศต่าง ๆ เมื่อบรรลุข้อตกลงเป็นผลสำเร็จ เพิ่มเติมจากแรงงานชาติหมู่เกาะแปซิฟิกและติมอร์-เลสเต ที่เข้ามาด้วยวีซ่าอีกประเภทหนึ่ง รัฐบาลตั้งมั่นเพิ่มจำนวนแรงงานกลุ่มนี้ป็นสองเท่าภายในเดือนมีนาคม
“ถึงแม้ว่าเราจัดทำวีซ่าเกษตรแล้วนำมาใช้ ก็ยังขึ้นอยู่กับประเทศเอกราชเหล่านั้นที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับพลเมืองของตน” นายลิตเติลพราวด์กล่าวเสริม
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
บางฝ่ายวิตกเรื่องวีซ่าเกษตรใหม่ที่นำเข้าแรงงานจากเอเชีย
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์
บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย
นักเรียนต่างชาติและแรงงานทักษะเดินทางเข้าออสเตรเลียได้อีกครั้ง