รายการวิทยุ เอสบีเอส ไทย ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ
ชอยส์ (Choice) กำลังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกี่ยวกับระบบการให้ดาวบนฉลากอาหาร เพื่อบ่งบอกคุณค่าทางอาหารของสินค้าอาหารในออสเตรเลีย โดยระบุว่า ผู้บริโภคกำลังถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับภาพรวมทั้งหมดเกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลที่มีการปรุงแต่งลงไปในอาหาร
กลุ่มพิทักษ์ผู้บริโภคชอยส์ กล่าวว่าระบบดาวบนฉลากอาหารที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้มีความบกพร่องที่ร้ายแรง ซึ่งระบบดาวนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้บริโภคได้ข้อมูลอย่างง่ายดายมากขึ้นในการตัดสินใจเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพของตน
ประชาชนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับระบบดาวบ่งบอกคุณค่าทางอาหารของสินค้า ซึ่งระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าอาหารหลากหลายชนิด ตั้งแต่อาหารเช้าซีเรียล ไปจนถึงสแนคบาร์ โยเกิร์ต และอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน
สินค้าจะได้รับการจัดอันดับ และให้ดาวบนฉลากตามคุณค่าทางอาหาร ตั้งแต่ดาว 0.5 ดวงไปจนถึง 5 ดวง ยิ่งได้ดาวมากเท่าไรหมายความว่ายิ่งมีคุณค่าอาหารที่ดีต่อร่างกายมากเท่านั้น และสินค้าที่ได้ดาวน้อยหมายความว่ามีคุณค่าอาหารต่อร่างกายน้อยหรือมีความเสี่ยง
แต่ขณะนี้ชอยส์กำลังตั้งข้อสงสัยถึงความถูกต้องของการใช้ระบบอัลกอริทึมปัจจุบันเพื่อประเมินปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในสินค้า เนื่องจากไม่ได้ระบุแยกระหว่างน้ำตาลตามธรรมชาติ และน้ำตาลที่ปรุงแต่งลงไประหว่างกระบวนการผลิต
“นั่นหมายความว่าผู้บริโภคจะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณค่าอาหารของสินค้านั้น หรือได้ข้อมูลที่ผิดพลาด” นางลินดา เพรซเดตสกี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายอาหารของชอยส์ กล่าว
ชอยส์ได้เปิดตัวระบบประเมินของตนเองที่ให้ดาวคุณค่าอาหารต่ำสำหรับอาหารถูกเติมน้ำตาลในระหว่างกระบวนผลิตเป็นปริมาณสูง และผลที่ออกมาทำให้อาหารเช้าซีเรียลหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่ขายดีมากที่สุดในตลาดถูกจัดอันดับคุณค่าอาหารต่ำลง
ภายใต้อัลกอริทึมของชอยส์ เคลลอกส์ นูทริ-เกรน (Kellogg’s Nutri-Grain) และไมโล (Milo) ซีเรียล ของเนสท์เล่ (Nestle) เสียดาวไป 2.5 ดวง จากเดิมได้ดาว 4 ดวง ส่งผลให้จัดอยู่ในสินค้าอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเท่าไรนัก
ส่วนสินค้าอาหารอื่นๆ ที่ได้ดาวสุขภาพมากเพิ่มขึ้น มาจากการที่น้ำตาลในสินค้ามาจากแหล่งธรรมชาติ ไม่ได้มาจากการเติมน้ำตาลลงไป
ชอยส์นั้นสนับสนุนระบบดาวบนฉลากเพื่อบ่งบอกคุณค่าอาหาร แต่บอกว่าเห็นได้ชัดว่าควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และกลุ่มยังต้องการให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มทุกอย่างถูกกำหนดให้ต้องแสดงดาวสุขภาพบนฉลากผลิตภัณฑ์ของตนด้วย
กลุ่มต้องการให้มีการระบุปริมาณน้ำตาลที่ปรุงแต่งลงไปในอาหารระหว่างกระบวนการผลิตเปรียบเทียบกับสัดส่วนของน้ำตาลทั้งหมดในสินค้าอาหารนั้น ในรูปแบบเดียวกันกับการระบุปริมาณไขมันอิ่มตัวคิดเป็นสัดส่วนเปรียบเทียบกับปริมาณไขมันทั้งหมดในสินค้านั้น
“มันเกี่ยวกับการทำให้แน่ใจว่าประชาชนมีข้อมูลที่โปรงใสและครบถ้วนที่พวกเขาต้องการเพื่อตัดสินใจอย่างชาญฉลาดเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มที่พวกเขาซื้อ” นางเพรซเดตสกี จากชอยส์ กล่าว
จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ปริมาณน้ำตาลที่ปรุงแต่งลงไปในอาหารควรน้อยกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณแคลลอรีที่คนในวัยผู้ใหญ่และเด็กบริโภคในแต่ละวัน เพื่อป้องกันการมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ป้องกันโรคอ้วน และป้องกันฟันผุ
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย
สนธิสัญญาครั้งสำคัญห้ามความรุนแรงในการทำงาน