“สวัสดีทุกคนค่ะ คุณอยู่กับฟาโรสและนี่คือรายการไกลบ้าน” ประโยคเปิดรายการซิกเนเจอร์ของฟาโรส – ณัฏฐ์ กลิ่นมาลี เจ้าของช่อง FAROSE ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 7 แสนคน และรายการ vlog ท่องเที่ยวที่มีชาวช่องติดตามเหนียวแน่นอย่าง “ไกลบ้าน” รายการที่พาคุณผู้ชมไปเดินทางในเมืองต่างๆ ผ่านเรื่องเล่าของเพื่อนของเขาที่อาศัยอยู่ที่นั่น
ความสนุก ความตลก ความเป็นกันเอง เสมือนฟังเพื่อนเมาท์มอย ที่ทุกครั้งฟาโรสต้องย้ำว่า เรื่องราวที่ฟังนี้ก็มีข้อมูลที่พลาด ในตอนที่ 102 เป็นครั้งแรกที่รายการไกลบ้าน เดินทางมาที่เมืองใหม่ ทวีปใหม่ นั่นคือ “นครเมลเบิร์น” ของออสเตรเลีย
หนึ่งในไฮไลต์ที่ เมื่อแขกรับเชิญ จงเจตน์ ดาราหน้าใหม่ของช่อง (ชาวช่องเรียกแขกรับเชิญว่า ดาราช่อง ส่วนคุณแดงคือฟาโรส เป็นการเปรียบเปรยเหมือนยุคที่ทีวีรุ่งเรือง อาทิละครช่อง 7 ของคุณแดง) พาฟาโรสไปที่รูปปั้นของควีนวิกตอเรีย พร้อมเล่าว่า เขามักมาบนบาน ขอพรที่นี่ เพื่อขอให้ได้ในสิ่งที่ปราณนา
เมื่อVlog ตอนนี้ได้ออกเผยแพร่ไป มันได้กลายเป็นกระแสในหมู่ช่อง คนไทยไกลบ้านโดยเฉพาะในเมลเบิร์น นั่นคือ การไปไหว้รูปปั้นควีนวิกตอเรีย (ตอนนี้ได้กลายเป็น ‘เจ้าแม่วิกตอเรีย’ ของชาวช่อง) รูปปั้นนี้ตั้งอยู่ที่สวนควีนวิกตอเรีย หลายคนกลับมาคอมเมนต์ในรายการตอนนี้ว่า หลังจากไปขอ ก็ได้ในสิ่งที่ขอไว้ หรือหลายคนโพสต์วีดีโอใน Tiktok รีวิวการมาไหว้ควีนวิกตอเรีย
อาจจะพอพูดได้ว่า นอกจากการมูตามที่ต่างๆ แล้ว รูปปั้นควีนวิกตอเรีย กำลังกลายเป็นหนึ่งในสถานที่มูของชาวช่องในเมลเบิร์นแห่งใหม่ ตามที่จงเจตน์ (แขกรับเชิญในตอนนี้) ตอบกลับฟาโรสเมื่เขาถามว่าทำไมถึงไหว้เจ้าแม่วิกตอเรีย ก่อนที่จงเจตน์จะตอบว่า “ชาวพุทธแปลว่านับถือผี นับถือทุกอย่างที่ขอพรได้” กลายเป็นวรรคทองของตอนนี้ไป
ควีนวิกตอเรียคือใคร?
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย หรือชื่อเดิมก่อนขึ้นครองราชย์คือ อเล็กซานดรีนา วิกตอเรีย เป็นประมุขสูงสุดเเห่งคริสตจักรแห่งอังกฤษ ตั้งเเต่วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1838 จนสวรรคตในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1901
ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อมีพระชนมพรรษาเพียง 18 พรรษา โดยมีท่านลอร์ด เมลเบิร์น ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในรัชสมัยของพระองค์ ขณะนั้นลอร์ด เมลเบิร์นจึงรับหน้าที่ในการสอนเกี่ยวกับเรื่องการบ้าน การเมืองให้ควีนวิกตอเรีย
อนุสรณ์สถานแห่งนี้ได้รับการเปิดตัว ในปี 1907 โดยตั้งอยู่บนเนินยกสูงใกล้กับถนน Linlithgow Avenue ในสวน Queen Victoria - SBS Thai / Warich Noochouy
จุดเริ่มต้นของรูปปั้นควีนวิกตอเรีย
ข่าวการสิ้นพระชนม์ของราชินีในปี 1901 ทำให้เกิดความโศกเศร้าของผู้คนทั่วออสเตรเลีย และช่วงนั้นเองที่เมลเบิร์น มีการเสนอข้อเสนอสำหรับการสร้างอนุสรณ์สถานด้วยอย่างเร่งด่วน
ว่ากันขณะนั้น เมลเบิร์นเป็นเมืองใหญ่เพียงเมืองเดียวในจักรวรรดิที่ไม่มีรูปปั้นเชิดชูพระมหากษัตริย์ ต่อมาเลยเริ่มมีการระดมทุนจากสาธารณะมากกว่า 7,000 ปอนด์ (ในขณะนั้น) โดยได้ เจมส์ ไวท์ (James White) รับผิดชอบในการก่อสร้าง
ตอนนั้นก็มีการโต้เถียงเรื่องความประพฤติของคณะกรรมการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน เพราะตอนนั้นเขายืนกรานว่าใช้การแกะสลักหินอ่อนจากอิตาลี มากกว่าในออสเตรเลีย
เวลาล่วงมาจนถึงวันจักรวรรดิ (Empire Day ) ในปี 1907 อนุสรณ์สถานแห่งนี้ได้รับการเปิดตัว โดยตั้งอยู่บนเนินยกสูงใกล้กับถนน Linlithgow Avenue ในสวน Queen Victoria โดยมีรองผู้ว่าการรัฐวิกตอเรีย จอห์น แมดเดน เป็นประธานในพิธี
ใต้ลูกโลกมีรูปปั้นสี่ชิ้นซึ่งเป็นตัวแทนของภูมิปัญญา ความก้าวหน้า ประวัติศาสตร์ และความยุติธรรม - SBS Thai / Warich Noochouy Credit: SBS Thai / Warich Noochouy
สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียทรงประทับยืน สวมมงกุฎ ทรงสวมเสื้อคลุมแห่งรัฐและถือตราสัญลักษณ์แห่งอำนาจอธิปไตย
หมุดหมายแห่งการแสดงออก
รูปปั้นแห่งนี้นอกจากจะกำลังเป็นที่มูสำคัญของชาวช่องแล้ว มันมักจะเป็นที่ที่ถูกนำมาใช้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อการต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษอีกด้วย อย่างเหตุการณ์ครั้งล่าสุด เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา (ก่อนวัน Australia Day) อนุสรณ์สถานแห่งนี้ได้โดนสาดสีแดง (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการล้มรูปปั้นกัปตันเจมส์ คุก ในสวนที่ St Kildaอีกด้วย พร้อมข้อความที่ว่า หมายถึง อาณานิคมจะล่มสลาย ) โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ
เจ้าหน้าที่สภาทำความสะอาดอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียในเมลเบิร์นที่ถูกสาดสี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2024 (AAP Image/Diego Fedele) Credit: AAPIMAGE
ช่อดอกกุหลาบที่มีคนมาวางรำลึก
"เพราะพุทธแปลว่า..." ตามที่จงเจตน์กล่าวไว้ในรายการ
“สึสดีค่าาาาาาาา”
(ไปมูกันแล้ว อย่าลืมรักษาความสะอาด เพราะอาจโดนทางการตามปรับได้)