ต้องสวมหน้ากากช่วงฤดูร้อน? โควิดระลอกใหม่จะส่งผลอย่างไรในออสเตรเลีย

โควิด-19 ระลอกที่ 4 มาถึงออสเตรเลียแล้ว นี่หมายความว่าข้อจำกัดต่างๆ จะกลับมาอีกหรือเปล่า หรือเราจะใช้ชีวิตได้ตามปกติต่อไป?

A man in a cap and a scarf wearing a face mask

Australia is experiencing a new wave of COVID-19 cases, not long after mandatory public health measures were removed. Source: AAP / Joel Carrett

ออสเตรเลียกำลังอยู่ท่ามกลางการระบาดของโควิดระลอกใหม่ โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 ในรัฐวิกตอเรียจาก 10,226 รายเป็น 16,636 ราย ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายสัปดาห์ในรัฐนิวเซาท์เวลส์เพิ่มขึ้นกว่า 7,000 ราย เป็น 19,800 ราย

จำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยจำนวนผู้ที่ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลในรัฐควีนส์แลนด์เพิ่มขึ้นเท่าตัวในเวลาเพียง 7 วัน

แล้วการระบาดระลอกล่าสุดนี้เกิดจากอะไร และจะส่งผลอย่างไรต่อออสเตรเลีย?

อะไรผลักดันให้เกิดการระบาดระลอกใหม่?

แม้โดยทั่วไปแล้วเรามักได้รับคำเตือนว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากในช่วงฤดูหนาว แต่การระบาดระลอกใหม่นี้เกิดขึ้นในออสเตรเลียในช่วงฤดูใบไม้ผลิ

ศาสตราจารย์เอเดรียน เอสเทอร์แมน หัวหน้าฝ่ายชีวสถิติและระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย กล่าวว่า นั่นเป็นเพราะว่ามีสิ่งสำคัญ 3 ประการเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

ประการแรกคือ ผู้คนจำนวนมากในออสเตรเลียมีภูมิคุ้มกันลดลง ทั้งที่มาจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อครั้งก่อน

“ตอนนี้ผ่านไป 7 เดือนแล้วนับตั้งแต่ผมได้รับวัคซีนเข็มล่าสุด นั่นหมายความว่าตอนนี้ผมมีภูมิคุ้มกันที่ลดลงอย่างมากต่อโควิด-19 ซึ่งนั่นรวมถึงการปกป้องไม่ให้เกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรงและการเสียชีวิต” ศ.เอสเทอร์แมน กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

“ดังนั้น แม้ว่าผมจะยังคงมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้แข็งแกร่งเท่าเมื่อ 7 เดือนก่อน และผู้คนจำนวนมากก็อยู่ในสถานการณ์นั้น”
A chart of the number of COVID-19 cases in each Australian state and territory
Credit: SBS
ประการที่สองคือเชื้อสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ๆ ของเชื้อโอมิครอนได้มาถึงออสเตรเลียแล้ว รวมถึงเชื้อเอ็กซ์บีบี (XBB) และบีคิว.1 (BQ.1)

“พวกมันได้กลายเป็นเชื้อหลักที่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ เช่น สิงคโปร์และฝรั่งเศส และกำลังเริ่มเข้ามาเป็นเชื้อหลักที่ระบาดที่นี่ด้วย” ศ.เอสเทอร์แมน กล่าว

"(เชื้อสายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ เหล่านี้) สามารถแพร่กระจายได้ดีกว่าสายพันธุ์บีเอ.5 (BA.5) มาก พวกมันหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของเราได้ดีกว่ามาก และแค่เชื้อใหม่ๆ พวกนี้เพียงอย่างเดียวก็ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องภูมิคุ้มกันที่ลดลง"

ประการสุดท้ายที่มีส่วนนำไปสู่การระบาดระลอกที่ 4 นี้ คือการยกเลิกมาตรการต่างๆ ด้านสาธารณสุข เช่น ยกเลิกกักตัวแบบบังคับ และยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยภายในอาคาร

“เราปลดเบรกซึ่งเป็นมาตรการทั้งหมดในการลดการระบาดออกไปแล้ว เราไม่เหลือมาตรการอะไรแล้ว” ศ.เอสเทอร์แมนกล่าว

"นั่นหมายความว่าถ้ามีเชื้อสายพันธุ์ใหม่เข้ามาโดยที่เราไม่มีภูมคุ้มกัน มันก็จะตรงดิ่งไปสู่ประชากร"
A chart of the number of COVID-19 hospitalisations in each Australian state and territory
Credit: SBS

สถานการณ์ร้ายแรงเพียงใด?

ศาสตราจารย์แคทเธอรีน เบ็นเน็ตต์ ประธานสาขาระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยดีคิน ในรัฐวิกตอเรีย กล่าวว่า เชื้อสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ๆ เหล่านี้คล้ายคลึงกับที่เราเคยเห็นก่อนหน้านี้

“โชคดีที่พวกมันไม่ก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรงมากกว่า” ศ.เบ็นเน็ตต์ บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

"แต่จากประสบการณ์ของเรา เรารู้ว่าอัตราการติดเชื้อที่สูงขึ้นอาจหมายถึงผู้คนจำนวนมากขึ้นลงเอยด้วยการเข้าโรงพยาบาล"

ศ.เอสเทอร์แมน กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าการระบาดระลอกใหม่นี้จะไม่ดำเนินไปเป็นระยะเวลานานหรือจะไม่รุนแรงเท่าครั้งก่อนๆ

“เหตุผลที่ผู้คนกล่าวเช่นนี้เพราะเราเคยเห็นการระบาดที่คล้ายกันนี้เริ่มขึ้นในสิงคโปร์และฝรั่งเศส การระบาดเหล่านั้นค่อนข้างสั้นและจำนวนผู้ติดเชื้อไม่สูงเท่าบีเอ.5” ศ.เอสเทอร์แมน กล่าว

"แต่ไม่มีสิ่งใดรับประกันว่าสถานการณ์แบบเดียวกันจะเกิดขึ้นที่นี่"

ยังคงมีความเป็นไปได้สำหรับทุกคนที่จะเกิดความเจ็บป่วยอย่างรุนแรง การเสียชีวิต และปัญหาสุขภาพที่เรื้อรัง เช่น ลองโควิด (Long COVID) ศ.เอสเทอร์แมน กล่าวเสริม

ทางการทำอะไรบ้าง?

ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (10 พ.ย.) รัฐควีนส์แลนด์ ได้เปลี่ยนแปลงการแจ้งเตือนสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นระบบแบบสัญญาณไฟจราจร จากระดับสีเขียวมาเป็นสีเหลือง โดยแจ้งให้ประชาชนในรัฐตื่นตัวแต่ไม่ต้องตื่นตระหนก

นอกจากการเปลี่ยนระดับสถานการณ์แล้ว ยังมีคำแนะนำให้ชาวรัฐควีนส์แลนด์สวมหน้ากากอนามัยเมื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะและภายในสถานพยาบาล

แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในรัฐและมณฑลทุกแห่งของออสเตรเลีย แต่จนถึงขณะนี้นอกจากควีนส์แลนด์แล้วยังไม่มีรัฐหรือมณฑลอื่นใดที่เปลี่ยนคำแนะนำด้านสาธารณสุข

แต่ละคนสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ปลอดภัยจากโควิดในช่วงฤดูร้อน?

ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 72.2 ของผู้มีสิทธิ์ในออสเตรเลียได้รับวัคซีนต้านโควิดเข็มที่สามแล้ว

ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 42.1 ของผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สี่

ศ.เบ็นเน็ตต์กล่าวว่า การได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างครบถ้วนตามคำแนะนำล่าสุดนั้น "สำคัญมาก" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเชื้อไวรัสมากขึ้นแพร่กระจายในชุมชน

“นั่นจะช่วยให้อย่างน้อยคนวัยหนุ่มสาวผ่านช่วงเวลาที่พวกเขาอาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และนั่นอาจช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้อในการระบาดระลอกนี้ลดลงได้” ศ.เบ็นเน็ตต์ กล่าว

"แต่สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยร้ายแรง เพราะวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถสร้างความแตกต่างได้มาก - มันสามารถช่วยให้คุณไม่ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล"

คนกลุ่มเดียวที่ขณะนี้มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนต้านโควิดเข็มที่ห้า คือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรงที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป แต่ศ.เอสเทอร์แมนกล่าวว่า เขาคิดว่าวัคซีนเข็มที่ห้าจะฉีดให้แก่ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ด้วยในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญสำหรับมาตรการอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงของคุณยังคงเหมือนเดิมคือ ควรสวมหน้ากากภายในอาคาร การเว้นระยะห่างจากผู้อื่นหากทำได้ การล้างมือให้สะอาด และการตรวจเชื้อและอยู่บ้านเมื่อคุณป่วย

“สิ่งเหล่านั้นล้วนมีความสำคัญ และสำคัญมากขึ้นขณะที่ความเสี่ยงในการติดเชื้อในชุมชนของเราเพิ่มสูงขึ้น” ศ.เบ็นเน็ตต์กล่าว

“สิ่งที่เราทำในตอนนี้ อันที่จริงแล้วในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าอาจสร้างความแตกต่างอย่างมากสำหรับสิ่งที่เราจะประสบในช่วงวันหยุดฤดูร้อนของเรา”

"คุณอาจไม่สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้ตลอดเวลา แต่ทุกครั้งที่คุณสวมหน้ากากอนามัย คุณจะลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ และถ้าเป็นสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง การอยู่ภายในอาคารกับผู้คนที่ปกติคุณได้ไม่คลุกคลีด้วย หากเป็นเช่นนั้นก็ถึงเวลาที่ควรสวมหน้ากากอนามัย เพราะนั่นจะช่วยให้คุณไม่ต้องกักตัวในช่วงคริสต์มาส”

ระบบการรักษาพยาบาลจะสามารถรับมือการระบาดระลอกนี้ได้หรือไม่?

โรงพยาบาลและระบบการรักษาพยาบาลในวงกว้างจะสามารถรับมือกับการระบาดระลอกใหม่นี้ได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าการระบาดระลอกนี้กินเวลานานเพียงไรและมีความรุนแรงแค่ไหน ศ.เอสเทอร์แมน กล่าว

“หากการระบาดระลอกนี้ที่เริ่มขึ้นแล้วขณะนี้นั้นสั้นลงและมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่สูงเท่าการระบาดระลอกก่อนๆ โรงพยาบาลและระบบรักษาพยาบาลของเราก็น่าจะรับมือได้” ศ.เอสเทอร์แมน กล่าว

“ถ้ามันแย่กว่าหรือเลวร้ายกว่าบีเอ.5 เราก็คงลำบาก”

ศาสตราจารย์เบ็นเน็ตต์กล่าวว่า หากผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงกินยาต้านไวรัสทันทีที่พวกเขาป่วย ก็ไม่เพียงแต่จะเพิ่มโอกาสที่พวกเขาจะสามารถพักฟื้นที่บ้านได้เท่านั้น แต่ยังช่วยลดแรงกดดันต่อโรงพยาบาลด้วย

"หากเราพยายามทำทุกอย่างที่เราทำได้ในระดับบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงที่จะป่วยหนัก นั่นก็จะช่วยได้"


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 14 November 2022 11:40am
By Amy Hall
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends