โควิด-19: พบผู้มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการบ่อยแค่ไหนและควรวิตกหรือไม่?

การศึกษาวิจัยใหม่ 2 โครงการพบว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ ที่ไม่แสดงอาการของการติดเชื้อเลย ขณะผู้เชี่ยวชาญกำลังพิจารณากันว่า เราทุกคนควรได้รับการตรวจเชื้อหรือไม่ ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีก็ตาม

Victoria records seven new coronavirus cases and two deaths

Source: Getty Images

จนถึงขณะนี้ เราทุกคนได้รับแจ้งเกี่ยวกับอาการของการติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องเฝ้าระวัง ที่มีทั้งอาการไข้สูง ไปจนถึงอาการไอแห้งๆ หายใจลำบาก หรือแม้แต่รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลีย

ได้มีการศึกษาวิจัยมากมายในหลายประเทศ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ของการติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการ จากประเทศไอซ์แลนด์ ญี่ปุ่น จีน และจากในออสเตรเลียเองด้วย

ในรายงานเปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้ของ จามา เน็ตเวิร์ก (JAMA Network) นักวิจัยต่างๆ ในประเทศจีนพบว่า ในจำนวนคนไข้ที่ติดเชื้อ 78 คน ร้อยละ 42.3 ไม่มีอาการใดๆ

การศึกษาวิจัยอีกโครงการหนึ่งของนักวิจัยชาวออสเตรเลีย ที่ตีพิมพ์โดย ทอแรกซ์ (Thorax) พบว่า ผู้โดยสาร 217 คนบนเรือสำราญ เกรก มอร์ติเมอร์ (Greg Mortimer) กว่า 8 ใน 10 ที่มีผลการตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 เป็นผู้ที่ไม่แสดงอาการใดๆ ของการติดเชื้อ

การแพร่เชื้อเป็นอย่างไรสำหรับระยะก่อนแสดงอาการ และการไม่แสดงอาการ?

องค์การอนามัยโลก ได้มีคำอธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง ระยะก่อนแสดงอาการ (pre-symptomatic) และการไม่แสดงอาการ (asymptomatic)

ระยะก่อนแสดงอาการ (pre-symptomatic) คือช่วงเวลาหลังจากได้สัมผัสเชื้อแล้ว แต่ก่อนที่จะแสดงอาการของการติดเชื้อไวรัสออกมา

แม้ว่าจะไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

มีการศึกษาวิจัยที่ถูกบันทึกข้อมูลไว้ของบุคคลที่ถูกตรวจพบว่ามีเชื้อไวรัส 1-3 วันก่อนที่พวกเขาจะแสดงอาการใดๆ ของการติดเชื้อ

การแพร่เชื้อจากผู้ที่ไม่แสดงอาการ (asymptomatic) เกิดขึ้นเมื่อเชื้อไวรัสแพร่กระจายไป จากบุคคลที่ไม่มีอาการใดๆ ของการติดเชื้อโควิด-19 เลย

ผู้เชี่ยวชาญคิดอย่างไรกับการศึกษาวิจัยล่าสุดเหล่านี้?

ศ.ไรนา แมคอินไทร์ หัวหน้าโครงการด้านความมั่นคงทางชีวภาพ ของสถาบันเคอร์บี (Kirby Institute) กล่าวว่า “มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การแพร่เชื้อในระยะก่อนแสดงอาการ และจากผู้ที่ไม่แสดงอาการ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปสำหรับเชื้อโควิด-19”

ศ.แมคอินไทร์ อ้างอิงถึงการวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับการติดเชื้อในสถานดูแลผู้สูงอายุและเหตุการณ์การปะทุขึ้นของเชื้อในที่อื่นๆ ซึ่ง “ได้พบเช่นกันว่า ผู้ติดเชื้อทั้งหมดร้อยละ 50 หรือมากกว่าเป็นผู้ที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ”

ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ที่ แกรนต์ ลอดจ์ (Grant Lodge) บ้านพักผู้สูงอายุในย่าน แบคคัส มาร์ช ของเมลเบิร์น ได้พบลูกจ้างคนหนึ่งที่ไม่แสดงอาการใดๆ แต่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อ

“เราไม่ควรต้องอภิปรายเรื่องนี้กันยืดเยื้อต่อไปแล้ว ผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูงในเหตุการณ์การปะทุขึ้นของเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว หรือการระบาดที่ปะทุขึ้นในสถานที่ปิด ผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านั้นควรได้รับการตรวจเชื้อ ไม่ว่าจะแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการก็ตาม ไม่เช่นนั้น เราอาจพลาดการตรวจพบผู้มีเชื้อได้” ศ.แมคอินไทร์ กล่าว

“ผู้คนจะใช้เวลา 10-14 วันที่ร่างกายจะผลิตสารภูมิต้านทาน (antibody) ขึ้นมา ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่การตรวจเชื้อแบบรวดเร็วที่ใช้การตรวจหาสารภูมิต้านทานจะใช้การได้ไม่มากนักในเหตุการณ์ที่เกิดระบาดปะทุขึ้น”

ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับวิสัยของการไม่แสดงอาการ

ศ.สันจายา เสนานายาคี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของมหาวิทยาลัยออสเตรเลียน เนชันแนล ยูนิเวอร์ซีตี

เขาอ้างถึงการศึกษาวิจัยจากจีน ที่ผู้เขียนสรุปว่า กรณีของผู้ที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการนั้น ผู้คนเหล่านั้นอาจไม่ได้แยกตัวเพื่อกักโรค เพราะพวกเขาไม่มีอาการป่วย

“นักวิจัยไม่ได้ดูต่อว่ามีผู้ติดเชื้อรุ่นที่ 2 ที่ติดเชื้อมาจากผู้ป่วยรุ่นแรกเหล่านั้น ที่ไม่ได้แยกตัวเพื่อกักโรคหรือไม่” ศ.เสนานายาคี กล่าว

ในเดือนกุมภาพันธ์ รายงานร่วมจากองค์การอนามัยโลกและจีน พบว่า ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการส่วนใหญ่ ในช่วงตรวจหาเชื้อได้แสดงอาการออกมาในที่สุด แต่ ศ.เสนานายาคี ไม่แน่ใจว่าคนไข้เหล่านี้ในการวิจัยนี้นั้น ต่อมาล้มป่วยลงหรือไม่

ข้อจำกัดอีกอย่างในที่นี้ ซึ่งผู้เขียนรายงานยอมรับคือ การประเมินว่าไม่แสดงอาการนั้นถูกต้องเพียงไร เป็นไปได้หรือไม่ที่ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ป่วยอย่างโจ่งแจ้ง แต่พวกเขายังคงไม่ได้รู้สึกสบายดีร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นว่า พวกเขารู้สึกสบายดีเมื่อพักผ่อน แต่ไม่รู้สึกเช่นนั้นเมื่อออกกำลังกาย

เขาอ้างถึง “สัดส่วนที่แตกต่างกันไปในกรณีการมีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการในการศึกษาวิจัยต่างๆ” จึงทำให้มีความจำกัดในการที่จะเข้าใจวิสัยตามธรรมชาติของการติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการ

ในประเทศไอซ์แลนด์นั้น ร้อยละ 50 ของผู้ที่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อไม่แสดงอาการใดๆ ส่วนในญี่ปุ่นมีร้อยละ 30.8 ขณะที่การศึกษาวิจัยในโครงการอื่นระบุว่ามีถึงร้อยละ 80 ในประเทศจีน

“มันยากที่จะรู้ว่าอันไหนถูก และแม้ว้าเรากำลังใกล้เข้าไปทุกทีที่จะเข้าใจสัดส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการนั้น แต่เรายังคงไม่รู้แน่ชัดถึงความรุนแรงสำหรับผลกระทบที่พวกเขามีในการแพร่เชื้อต่อไป เช่นว่า พวกเขาก่อให้เกิดการติดเชื้อรุ่นที่สองจำนวนมากหรือไม่ หรือเพียงไม่มากนัก?”

“พูดอีกอย่างคือ มีพาหะของเชื้อที่เป็นผู้ไม่แสดงอาการ 4 คนสำหรับผู้โดยสารที่ล้มป่วยทุกคน”

ศ.อิโว มุลเลอร์ นักระบาดวิทยา ของสถาบันวิจัยทางการแพทย์ วอลเตอร์ แอนด์ อีไลซา ฮอลล์ กล่าวว่า การทำความเข้าใจว่า การติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการนั้นพบได้มากน้อยเพียงใดในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่เพียงแต่มีความสำคัญอย่างมากในการเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของผู้ที่สัมผัสเชื้อไวรัสนี้เท่านั้น “แต่ยังมีความสำคัญด้วยเช่นกัน ต่อการคาดการณ์ของเราว่าการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 จะเป็นไปในทิศทางใดในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้”

“และการแทรกแซงอะไรที่จะสำคัญที่สุดในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในระลอกสอง และป้องกันการเสียชีวิต” ศ.มุลเลอร์ กล่าว

การศึกษาวิจัยกรณีของเรือสำราญ เกรก มอร์ติเมอร์ ซึ่งมีผู้โดยสารชาวออสเตรเลีย 96 คน จากผู้โดยสารทั้งหมดบนเรือ 217 คน พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 128 คน ในบรรดาผู้ติดเชื้อเหล่านั้น 104 คนไม่แสดงอาการ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 81 ของผู้ที่ถูกตรวจพบว่ามีเชื้อ

“พูดอีกอย่างคือ มีพาหะของเชื้อที่เป็นผู้ไม่แสดงอาการ 4 คนสำหรับผู้โดยสารที่ล้มป่วยทุกคน หากรูปแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำในที่อื่นๆ นั่นหมายความว่า ในประเทศที่มีการตรวจเชื้อเฉพาะผู้ที่แสดงอาการ สถานการณ์ของการติดเชื้อที่แท้จริงที่นั่น อาจมีจำนวนมากกว่าที่รายงานขณะนี้ถึง 5 เท่า” ศ.มุลเลอร์ กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า การค้นหาถึง ความสามารถที่แท้จริงในการแพร่เชื้อของพาหะที่ไม่แสดงอาการในคนทุกช่วงอายุ ควรเป็นวาระสำคัญอันเร่งด่วนที่ต้องทำ

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

จองโต๊ะแล้วไม่มา: ภัยของร้านอาหารหลังคลายล็อกดาวน์


Share
Published 1 June 2020 11:18am
By Ahmed Yussuf
Presented by Parisuth Sodsai
Source: The Feed


Share this with family and friends